ไม่พบผลการค้นหา
การค้าออนไลน์จะมีบทบาทสำคัญในปี 2562 เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน 'Priceza' เครื่องมือค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลและราคาสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ ชี้ถึง 4 ปัจจัยสำคัญในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 2562 ในงาน “Priceza E-Commerce Trends : The Infinity E-Commerce Wars 2019”

PriceZa E-Commerce Trend2019

ทุกฝ่ายเล็ง 'อีคอมเมิร์ซ'

ตามผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2561 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สพธอ. หรือ ETDA พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาที ต่อวัน โดยกลุ่มเจนวาย ที่มีอายุระหว่าง 18 - 37 ปี ครองแชมป์ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แม้แต่กลุ่มคนเจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์สก็ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 8 ชั่วโมงทั้งในวันธรรมดาและวันหยุด ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่มีสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก

เมื่อมองในเชิงลึกพบว่า โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางออนไลน์อันดับหนึ่งที่ประชาชนใช้เวลามากที่สุด ตามมาด้วยเครื่องมือเสิร์ชหาข้อมูลต่างๆ อีเมลล์ การดูหนังและฟังเพลงออนไลน์ และปิดท้ายด้วยการซื้อของออนไลน์ จากพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆ แสวงหาโอกาสที่จะเข้ามาทำการค้าในช่องทางเหล่านี้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากเทรนด์นี้ คือ กูเกิล ที่เปิดตัว ‘กูเกิล ช็อปปิง’ (Google Shopping) หรือ เฟซบุ๊ก ที่มี ‘เฟซบุ๊ก มาร์เก็ตเพลส’ (Facebook Marketplace) ขึ้นมาจับลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าผ่านช่องทางเหล่านี้ นอกจากนี้ ในฝั่งการชำระเงิน ผู้ให้บริการอย่างธนาคารต่างๆ ก็เปิดตัวกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมารองรับการใช้บริการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ‘เค วอลเล็ท’ หรือ ‘เอสซีบี อีซี่’

การปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญครั้งนี้เป็นการบ่งชี้ว่าในปี 2562 นั้น เทรนด์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโตอย่างมาก เพราะทุกฝ่ายล้วนอยากเข้ามามีส่วนร่วมในโอกาสนี้


โอกาสที่มาพร้อมความท้าทาย

เมื่อรวบรวมสินค้าทั้งหมดที่มีขายอยู่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักของไทย เช่น ลาซาด้า ช็อปปี และ เจดี เซ็นทรัล พบว่าปัจจุบันมีสินค้ารวมถึง 75 ล้านผลิตภัณฑ์ โดยในจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นสินค้าที่มาจากต่างประเทศถึงร้อยละ 80 มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มาจากไทย

จากข้อมูลตรงนี้ ทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในธุรกิจอีคอมเมิร์ซนี้ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดกีฬา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และครื่องประดับต่างๆ ที่มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 84, 83 และ 82 ตามลำดับ

WT_แจ๊ค หม่า.jpg

อีกหนึ่งความท้าทายหลักที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการรับมือ คือ การมาเยือนของ เจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก อย่างแจ็ค หม่า แห่งเครืออาลีบาบา ซึ่งจะมาไทยด้วยจุดประสงค์หลักเรื่องการผลักดันระบบขนส่งในภาคส่วนอีอีซี อย่างไรก็ตาม การมาลงทุนกว่าหมื่นล้านบาทครั้งนี้ แจ็ค หม่า คงไม่มองข้ามโอกาสในการขยายตลาดลูกค้าอาลีบาบา ในไทย

ในประเด็นนี้ นายธนาวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมาเยือนของอาลีบาบา แต่เป็นการตระหนักของผู้ประกอบการไทยว่าไม่สามารถทำธุรกิจที่นำสินค้าจากจีนมาขายเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป แต่จะต้องเน้นไปที่ความแตกต่างของสินค้ามากยิ่งขึ้น


“คำแนะนำที่สำคัญอันดับแรกคือมีสินค้าที่แตกต่าง ไม่ใช่แค่เอาสินค้าแล้วทำตัวเป็นคนกลางในการขาย” นายธนาวัฒน์ กล่าว


ปีทองของ E-payment

การชำระเงินในการซื้อของออนไลน์ปัจจุบันนี้ แบ่งเป็นการจ่ายเงินก่อนได้รับสินค้าและการจ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้าหรือที่เรียกว่า COD (Cash on Delivery) อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ว่า ในปีหน้า ผู้บริโภคจะหันไปใช้การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ อย่างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสดมากขึ้น

เศรษฐกิจ-ค่าเงิน-การเงิน-ธนาคาร-การคลัง-ธนบัตร-แบงก์พัน

สาเหตุหลักที่มีการคาดการณ์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคมาจาก ภาระต้นทุนของสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการวิจัยค้นพบว่า การชำระเงินด้วยเงินสดทำให้ผู้ให้บริการต้องแบกต้นทุนอยู่ที่ 1.26 บาทต่อรายการ (ต้นทุนเฉลี่ยต่อธนบัตรXจำนวนธนบัตรที่ใช้ต่อรายการ) ในขณะที่ผู้ให้บริการจะแบกต้นทุนเพียง 0.1 - 0.4 บาทต่อรายการ

สัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดนี้ทำให้ผู้ให้บริการหันมากระตุ้นให้ผู้บริโภคชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย เช่น การแจกคะแนนหรือของรางวัล ส่วนลด หรือยอดเงินคืนต่างๆ ปัจจุบันลาซาด้ามี ‘ลาซาด้า วอลเล็ต’ ช็อปปีมี ‘แอร์เพย์’ ไลน์มี ‘ไลน์เพย์’ กสิกรมี ‘เคพลัส’ และไทยพาณิชย์มี ‘เอสซีบีอีซี่’


ต้องอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าอยู่

การค้าหลากหลายช่องทาง หรือ Omni Channel จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาในปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคมีพฤติกรรมการเลือกซื้อของในหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรือหน้าร้าน การที่ผู้ประกอบการสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้นั้นจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขาย

จากผลสำรวจพบว่าการขายสินค้าออนไลน์เพียงช่องทางเดียว มียอดรายรับเพียงร้อยละ 77 เทียบกับการขายในหลากหลายช่องทางที่มียอดขายสูงถึงร้อยละ 107 ตัวเลขที่ชัดเจนนี้เป็นการยืนยันว่า ผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มช่องทางในการขายสินค้าเพื่อให้ได้ยอดการขายที่สูงขึ้น

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นเพียงการเปลี่ยนถ่ายช่องทาง จาก ‘ออฟไลน์’ เป็น ‘ออนไลน์’ สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดในการค้าขายยังคงเป็นคุณภาพของสินค้า การบริการ รวมถึงราคาที่สมเหตุสมผล แม้ผู็ประกอบการจะต้องผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ายังคงไว้ซึ่งหลักสำคัญในการค้า 3 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น การประสบความสำเร็จคงไม่ยากเกินไป