ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ แย้มอาจใช้ ม.44 ผ่าทางตันปมปัญหาไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง ยืนยันอยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นใน ก.พ. 62 ขอสื่อมวลชนจับตาประณามการใช้โซเซียลฯปลุก 2 ขั้วขัดแย้งทำชาติไม่สงบ ขณะที่รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย จ่อชง คสช.แก้ปัญหาไพรมารีโหวต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยด้านการข่าวหรือการเมืองอะไร เพราะหน้าที่ของรัฐบาลคือสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับประเทศเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งและขึ้นอยู่กับคนหลายส่วน คนหนึ่งอยากให้สงบและอีกคนไม่อยากให้สงบแต่ไม่รู้ว่าเป็นใครจึงต้องติดตามทุกกลุ่มและอย่าทำให้บ้านเมืองสับสนอลหม่าน จึงขออย่ากังวลในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันยืนยันว่าจะจ้องจับตาดูความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียที่มีการขยายความขัดแย้ง เพราะโซเชียลมีเดียเป็นบทบาทสำคัญในการสร้างการรับรู้มากกว่าสร้างคนออกมาสอง 2 ฝ่ายเพื่อตีกัน จึงขอให้สื่อมวลชนช่วยติดตามและประณามการกระทำของบุคคลเหล่านั้นด้วย ไม่ใช่สร้างความแตกแยกเพิ่ม

ดังนั้นการไปสู่ประชาธิปไตยในวันข้างหน้าจะต้องแก้ไขกันใหม่ว่าจะสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและให้เกิดความสงบอย่างไร แม้ว่าจะไม่ชอบก็ตามแต่ต้องยอมรับในกติกาการเลือกตั้ง ซึ่งการได้รัฐบาลมาจะต้องได้รับการยอมรับทั้งจากเสียงส่วนมากและส่วนน้อย โดยรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่เพื่อเสียงส่วนมากและส่วนน้อยไม่ว่าจะเป็นของพรรคใดก็ตาม ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาลจะต้องดำเนินการในลักษณะนี้ 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ในต่างจังหวัด ไม่ได้มองว่าใครอยู่ตรงไหนแต่มองว่าประชาชนต้องการอะไร ไม่ว่าจะพื้นที่ใดก็ตามเพราะส่วนใหญ่พรรคการเมืองมักจะมองเป็นพื้นที่และเกิดความขัดแย้ง สิ่งสำคัญที่สุดไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจะต้องทำหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งประเทศ

ย้ำอยากเลือกตั้ง ก.พ. 62 แย้มอาจใช้ ม.44 แก้ปัญหาไพรมารีโหวต

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า เป็นการหารือตามแนวทางที่ได้ทำงานมาโดยตลอดแต่สิ่งสำคัญต้องสอดคล้องกับการทำงานของรัฐบาลและ คสช. เกี่ยวกับการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมและการปฏิบัติตามกฏหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพราะกำหนดเวลาได้ระบุไว้แล้ว หากเต็มเวลาตามกรอบที่กำหนดไว้อาจจะเลยกำหนดตามโรดแมปแต่ถึงอย่างไรหากเป็นไปได้อยากให้การเลือกตั้งอยู่ในช่วงเดือน ก.พ.

ส่วนการแก้ไขระบบไพรมารีโหวตนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะต้องดำเนินการให้ได้ เพราะได้เขียนไว้ในกฏหมาย แต่ในปีแรกจะมีปัญหาในเรื่องนี้หรือไม่ และจะแก้ไขอย่างไรให้สามารถทำได้ในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับกฏหมาย แต่ในอนาคตคาดว่าจะสามารถใช้ระบบไพรมารีโหวตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากตนเองเข้าไปดำเนินการอะไรมากก็จะไม่สามารถเลือกตั้งได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ และปัญหาก็จะกลับมาที่ตนเองอีก เพราะส่วนตัวต้องการให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมปและเดือน ก.พ. 2562 ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด แต่สามารถยืดเวลาไปได้อีก แต่ส่วนตัวจะพยายามลดเวลาให้น้อยที่สุด 

ส่วนจะใช้คำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่นั้น ยืนยันว่าอะไรมีปัญหาส่วนตัวจะแก้ไขทั้งหมด เพราะเป็นอำนาจที่ตนเองต้องแก้ไขเพื่อให้สามารถทำงานได้ แม้อาจจะแก้ไขไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม แต่ทำให้เกิดการเลือกตั้งตามที่ทุกคนต้องการและเพื่อให้เกิดความสงบสุข จึงขอย้ำอีกครั้งว่า ส่วนตัวไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใครจึงของอย่านำรัฐบาลและ คสช.เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะตอนนี้การเมืองยังไม่เริ่ม แต่ปี่กลองเริ่มประโคมกันแล้ว ยังไม่ถึงยก 3 เลย

ประยุทธ์ ไทยนิยมยั่งยืน 821063652.jpg

'วิษณุ' จ่อชง คสช.ปลดล็อกไพรมารีโหวต

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า เตรียมเสนอทางออกเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขไพรมารีโหวตให้ คสช.พิจารณา ซึ่งต้องรอให้ คสช.เป็นผู้กำหนดวันนัดประชุมอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการคลายล็อกทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. นี้

โดยการแก้ไขไพรมารีโหวตนี้จะนำไปสู่การแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนุญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งแนวทางที่จะเสนอให้ คสช.พิจารณา มีทั้งข้อเสนอเดิมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก่อนที่สนช.จะเปลี่ยนมาเป็นไพรมารีโหวต รวมถึงการทำไพรมารีระดับภาค ไพรมารีระดับจังหวัด ไพรมารีระดับเขต และไม่ทำไพรมารีโหวต ซึ่งการไม่ทำไพรมารีโหวต คงไม่เกิดขึ้นเพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45

นายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่ว่าคสช.จะเลือกแนวทางใด จะใช้เวลาไม่นาน อาจใช้เวลาเพียง 1-2 วัน ในการดำเนินการแก้ไข เพราะได้เตรียมการทุกอย่างไว้หมดแล้ว

ยันคลายล็อกพรรคการเมือง ก.ย.-ธ.ค. ให้ประชุมพรรค หาสมาชิกได้

นายวิษณุ กล่าวว่า การคลายล็อกทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง 90 วันหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ หรือในระหว่างเดือน ก.ย. - ธ.ค.นี้ จะเป็นการคลายล็อกบางประการ เช่น การให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่ได้ สามารถหาสมาชิกพรรคได้ สามารถออกความเห็นเรื่องแย่งเขตเลือกตั้งได้ และสามารถไปทำไพรมารีโหวตได้ แต่ส่วนอื่นๆ ยังคงล็อกไว้ รอปลดล็อกโดยสิ้นเชิง ซึ่งตัองรอเวลาอีกระยะหนึ่ง

นายวิษณุ ยังระบุว่า คำพูดของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ที่จะไม่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 24 ก.พ. 2562 มีความชัดเจนแล้ว ไม่ต้องตีความใดๆ ซึ่งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าสุดคือวันที่ 5 พ.ค.2562