ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงานไทย และเมียนมา ร่วมเปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง จ.ระนอง เป็นศูนย์นำเข้าแรงงานประมงทะเลตามเอ็มโอยู ดำเนินการรูปแบบวันสต็อปเซอร์วิส แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิด“ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง จ.ระนอง” ตั้งอยู่เลขที่ 89/227 หมู่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยมี นายเต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ตรวจคนเข้าเมือง, และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน, นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน, และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ 

โดยพล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะให้แรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย มีสิทธิสวัสดิการรายได้ที่เหมาะสมเป็นธรรม ซึ่งในปีนี้ (61) รัฐบาลได้ดำเนินการหลายเรื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานต่างด้าว เช่น สแกนอัตลักษณ์ม่านตาแรงงานภาคประมงทะเล ต่อเนื่องกิจการประมงทะเล 171,128  คน พัฒนาระบบการทำงานของศูนย์ PIPO เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย และคุ้มครองแรงงานในภาคประมงทะเล และต่อเนื่องกิจการประมงทะเล 30 ศูนย์ ใน 22 จังหวัดชายทะเล 

รวมถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อการคุ้มครองแรงงาน การรับรายงานตัวจัดทำประวัติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ  (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ให้สามารถอยู่ และทำงานได้อย่างถูกต้อง ดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ. – มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา มีแรงงานเข้ามาจัดทำประวัติ บัตรประจำตัวแรงงาน และได้รับอนุญาตทำงาน ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับความร่วมมือจากประเทศต้นทางของแรงงานในการพิสูจน์สัญชาติที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ “ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง”จ.ระนอง จะเป็นศูนย์ฯ รับแรงงานเมียนมาเข้าทำงานในภาคประมงทะเลเป็นการเฉพาะ สอดรับกับการหารือร่วมกันของไทยและเมียนมา ซึ่งจะส่งแรงงานเข้าทำงานทางเกาะสอง ของเมียนมา โดยจะเป็นประโยชน์ช่วยลดขั้นตอน เกิดประสิทธิภาพในการจัดส่ง และรับแรงงาน สะดวกในการติดต่อสื่อสารของนายจ้าง ผู้ประกอบการ กับแรงงาน ในขั้นตอนต่างๆ  

โดยศูนย์ฯ จะทำงานในรูปแบบ ONE STOP SERVICE แรงงานเดินทางเข้ามาจะได้รับการตรวจลงตรา Visa ลงทะเบียนประวัติแรงงาน เข้ารับการอบรมตามแนวทางการทำงานในภาคประมงทะเลสิทธิสวัสดิการ และได้รับการอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งทำให้มีความพร้อมที่จะไปขอรับใบอนุญาตทำงานในภาคประมงทะเล (Sea Book) จากกรมประมง ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบ IT เข้ามาช่วยในการติดตามนัดหมาย การยืนยันจำนวนแรงงาน เที่ยวเรือในแต่ละวัน เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่มีแรงงานตกค้าง นายจ้างสามารถมารับแรงงานได้ตรงตามเวลานัดหมาย

ความร่วมมือของไทยและเมียนมาในเรื่องการจัดหาแรงงานในภาคประมงทะเลในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของแรงงานประมง ผู้ประกอบการไทย สิทธิสวัสดิการของแรงงานเมียนมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของทั้ง 2 ประเทศและเป็นการกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น