ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นเรื่องถกเถียงเมื่อรัฐบาล คสช. ประกาศให้การแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ จะทำได้จริงหรือ?

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560 เห็นชอบและประกาศใช้วาระแห่งชาติ ให้ใช้สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป็นการเสนอจากกระทรวงยุติธรรมให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนำวาระแห่งชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น  

เกิดคำถามในวงกว้่างว่าตั้งแต่การทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยคสช. การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง ที่ปราบปรามผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง หรือแท้จริงวาระสิทธิมนุษยชนจะกลายเป็นแค่วาทกกรรมสวยหรูเพื่อฟอกขาวเพียงเท่านั้น

วาระสิทธิมนุษยชนไทยเป็นแค่คำสวยหรูเท่านั้น

ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ น.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟอรั่มเอเชีย (Forum Asia) หน่วยงานที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มองว่าการที่กระทรวงยุติธรรมเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะหลายครั้งมีความตั้งใจที่ดีเช่นการเสนอร่างกฎหมายการซ้อมทรมานที่สอดคล้องกับหลักสากล แต่กลับถูกปรับแก้โดยสนช.

พิมพ์สิริ ชี้ว่าหากจะพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยอย่างแพร่หลาย ต้องย้อนกัลไปเมื่อการรัฐประหารปี 2557 ประเทศไทยตกเป็นเป้าโจมตีของนานาชาติในเรื่องดังกล่าว ทั้งมาตรการทางการค้าและการทูต แต่ท่าทีเริ่มเปลี่ยนไปโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง สหรัฐฯมีท่าทีผ่อนปรนต่อไทยมากขึ้น แต่สหภาพยุโรปยังคงดูท่าที

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ.jpg

การเยือนสหรัฐฯของพลเอกประยุทธ์ก็มีผลต่อการปรับท่าทีด้านสิทธิมนุษยชน พิมพ์สิริมองว่าเมื่อนายกฯไปให้คำมั่นสัญญาเรื่องการจัดเลือกตั้ง พฤศจิกายน 2561 ทำให้ต้องมีการผ่อนคลายและสร้างบรรยากาศที่ดี การเจรจาในระดับนานาชาติก็จะมีการหยิบเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นตัวต่อรองด้วยเสมอโดยเฉพาะกับชาติในยุโรป

ปัญหาที่ยังชัดเจนก็คือเรื่องของศาลทหารที่รัฐบาลไทยถูกวิจารณ์มาโดยตลอดพิมพ์สิริมองว่าถึงแม้รัฐไทยจะไม่ดำเนินคดีใหม่ในศาลทหารแล้ว แต่คดีเก่าที่ยังค้างก็จะถูกดำเนินในศาลทหารต่อไป ไม่มีประเทศที่ไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือน ต่อให้รัฐบาลประกาศวาระแห่งชาติ หากยังมีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารก็ไม่ได้ก่อผลดีขึ้นมา

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ การพยายามเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชน พิมพ์สิริชี้ว่า ก่อนหน้านี้กรรมการสิทธิมนุษยชนถูกลดระดับจากระดับ A เป็นระดับ B เมื่อหลังรัฐประหาร แต่รัฐบาลไทยพยายามออกกฎหมายเพื่อไปแก้กลไกสรรหาโดยเชื่อว่าอันดับของไทยอาจจะดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับไปเขียนหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนให้มีลักษณะในการ ช่วยรัฐบาลชี้แจง"ประเด็นที่อาจะถูกเข้าใจผิด"ในเวทีนานาชาติ ซึ่งย้อนแย้งกับหลักการการดำเนินงานอิสระของกรรมการสิทธิมนุษยชน