ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ชาติเปิดทางคนไทยมีเงิน 50-100 ล้านบาท ลงทุนหุ้น-บอนด์เมืองนอกวงเงินไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี ไม่ต้องพึ่งโบรกเกอร์ แต่ต้องส่งรายงานการลงทุนทุกไตรมาส มีผลตั้งแต่ 31 ม.ค. 2561 ส่วนปีที่ผ่านมาพบคนไทยหอบเงินซื้อหุ้น-บอนด์นอกทะลุ 4 แสนล้าน เพิ่มจากปีก่อนหน้าเกือบ 2 เท่าตัว

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ภายใต้โครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินมาตั้งแต่กลางปี 2560 เพื่ออำนวยความสะดวกทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของภาคเอกชน (Ease of doing business) นั้นขณะนี้ ธปท. ได้ดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติมภายใต้โครงการดังกล่าว โดยได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 

ประกอบด้วย 1) การผ่อนคลายเพิ่มเติมให้บุคคลรายย่อยที่มีสินทรัพย์ทางการเงิน ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท (Qualified investor) สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยไม่ผ่านตัวกลางการลงทุนในประเทศ ภายใต้วงเงินลงทุน (flow) ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยการอนุญาตครั้งนี้เป็นการขยายเพิ่มเติมจากเดิมที่อนุญาตให้เฉพาะบุคคลรายย่อยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เมื่อปี 2559 

แบ่งเป็นการลงทุนประเภทหลักทรัพย์ ให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศในประเทศสมาชิกอาเซียน หรือประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นสมาชิกของ IOSCO MMOU signatory A โดยสามารถดูรายชื่อประเทศหรือการฝากเงินในประเทศต่างๆ ในเวบไซต์ IOSCO โดยต้องแจ้งความประสงค์การลงทุนต่อ ธปท. ทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเวบไซต์ ธปท. และจัดทำแบบรายงานการลงทุนเพื่อส่งให้ ธปท. เป็นรายไตรมาส

ส่วนนักลงทุนประเภท Qualified investor (มีสินทรัพย์ทางการเงิน 50-100 ล้าบาท) ที่ประสงค์จะลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือธนาคารพาณิชย์ สามารถลงทุนเพิ่มเติมได้ตามเกณฑ์และภายในวงเงินที่สำนักงานคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด

2) อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประเภทต่าง ๆ ทุกประเภท จาก ก.ล.ต. เช่น บริษัทที่เป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน หรือตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท ทำหน้าที่เป็นตัวกลางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้แก่ผู้ลงทุนไทย จากเดิมที่อนุญาตเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ หรือผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล

ทั้งนี้ การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะทำให้ผู้ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีช่องทางลงทุนมากขึ้น คือ จะลงทุนผ่านตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือธนาคารพาณิชย์ หรือจะลงทุนเองโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางก็ได้ 

ส่วนกรณีที่ลงทุนมีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนเองโดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางได้ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 - 100 ล้านบาท ลงทุนเองโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางได้ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และผู้ลงทุนทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวยังลงทุนผ่านตัวกลางได้อีกตามวงเงินเพิ่มเติมที่ได้รับจัดสรรจาก ก.ล.ต. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ผู้ลงทุน รวมทั้งส่งเสริมให้มีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายและสามารถกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีมูลค่า 12,648 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 404,736 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในหุ้น 8,757 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนในตราสารหนี้หรือบอนด์ 3,891 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 4,279 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า