ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาล คสช. เตรียมนำมาตรการ 'ชอปช่วยชาติ' ปีที่ 4 โดยปรับให้ซื้อสินค้าได้ 3 ประเภท 'ยางรถยนต์-อีบุ๊ก-สินค้าโอท็อป' จ่อเข้าที่ประชุม ครม. 4 ธ.ค. ขณะที่ 3 ปีที่ผ่านมา สูญเสียรายได้ภาษีรวม 5,000 ล้านบาท ปลุกเศรษฐกิจโตเฉลี่ยร้อยละ 0.01-0.02 ต่อปี

ว่ากันตามจริง เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ได้ขี้เหร่นัก โดยช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวได้แล้วร้อยละ 4.3 ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.2 นั่นหมายความว่า ไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ราวร้อยละ 3.9

ทั้งนี้ ถ้าดู "ไส้ใน" การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปีนี้ สศช. คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 4.7 เพิ่มจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.7 จากปีก่อนขยายตัวร้อยละ 1.7 ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.6 จากปีก่อนขยายตัวร้อยละ 0.9 ขณะที่การบริโภคภาครัฐบาลจะโตร้อยละ 1.5 จากปีก่อนโตร้อยละ 0.5 ส่วนมูลค่าการนำเข้าคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 16.2 จากร้อยละ 13.2 ในปีก่อนหน้า

มีเพียงมูลค่าการส่งออกเท่านั้นที่ชะลอตัว โดย สศช. คาดว่าปีนี้จะโตร้อยละ 7.2 จากปีก่อนเติบโตได้ร้อยละ 9.8

ส่วนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อปีนี้ก็น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังคงเกินดุลร้อยละ 6.4 ต่อจีดีพี

ภาพเหล่านี้ แปลความได้ว่า เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตได้ดี และ มีเสถียรภาพ ซึ่งในช่วงที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แถมเริ่มส่งผลกระทบวงกว้างมากขึ้น การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับกว่าร้อยละ 4 ก็ไม่ถือว่าเลวร้ายอะไรนัก ทว่ารัฐบาลก็ยังอัดสารพัดมาตรการในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปี

ล่าสุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นแพ็คเกจสำหรับคนรากหญ้า คือผู้มีรายได้น้อย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีทั้งการเติมเงิน "ให้เปล่า" เพิ่ม การแจกสวัสดิการเพิ่มทั้งค่าน้ำ-ค่าไฟ และค่าเดินทางสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางพารา ที่ก่อนหน้านี้ ต้อง "กล้ำกลืน" กับราคายางพาราที่ตกต่ำมานานรวม ๆ กันแล้วใช้งบประมาณเฉียด ๆ แสนล้านบาท

และในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอ ครม. ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ก็คือ "มาตรการช้อปช่วยชาติ" ที่จะถูกงัดมาใช้เป็นครั้งที่ 4  

โดย "ช้อปช่วยชาติ" ถูกนำมาใช้ครั้งแรกปลายปี 2558 หลังจาก "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" และ ทีมงานเข้ามากุมสภาพการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเต็มตัว ซึ่งมาตรการมีผลระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. 2558 เป็นเวลา 7 วัน โดยกำหนดให้นำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในช่วงเวลาที่กำหนดมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2558 ได้ ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

ครั้งที่ 2 ปลายปี 2559 ระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค. 2559 เป็นเวลา 18 วัน โดยเป็นมาตรการที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนเดิม แตกต่างกันเรื่องระยะเวลาเท่านั้น

ครั้งที่ 3 ปลายปี 2560 ระหว่างวันที่ 11 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2560 รวมระยะเวลา 23 วัน ซึ่งก็ยังคงเป็นมาตรการที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนเดิม แต่แตกต่างกันเรื่องระยะเวลา

ส่วนปี 2561 นี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รมว.คลัง เคยยืนยันหลายครั้งว่าจะไม่ทำช้อปช่วยชาติอีกแล้วในปีนี้ แต่ล่าสุด ก็บอกว่า จะเสนอ ครม. พิจารณามาตรการช้อปช่วยชาติในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ โดยปีนี้ จะเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ไม่เหมือนกับที่ผ่านมา เพราะไม่ต้องการให้เกิดการชะลอใช้จ่าย เนื่องจากรอมาตรการนี้ทุกปี

ดังนั้น ปีนี้จึงจำกัดสินค้าที่จะร่วมรายการใช้สิทธิ์ได้เพียงแค่ 3 รายการ คือ ยางรถยนต์ เพื่อเป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง หนังสือรวมถึงอีบุ๊ก เพื่อส่งเสริมการอ่าน และ สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (โอท็อป) โดยทั้งหมดนี้ลดหย่อนภาษีได้รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ในช่วงระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2561 ไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค. 2562

เท่ากับว่า เป็นมาตรการที่ทำควบ 2 ปีเลยทีเดียว โดยหากเป็นการซื้อสินค้าในช่วงไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2561 ก็จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ในการยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2562 และ หากเป็นการซื้อสินค้า ในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 ม.ค.2562 ก็จะเป็นรอบการยื่นแบบฯ ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2563 แต่ทั้งหมดนี้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 15,000 บาท

ช้อปช่วยชาติ 3 ปี กระตุ้นเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยร้อยละ 0.01-0.02 ต่อปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อทบทวนผลของมาตรการที่ผ่านมา สำหรับมาตรการครั้งแรก กระทรวงการคลังประเมินว่า จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 9,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้ภาษีราว 1,200 ล้านบาท และ บทสรุปออกมา คือ เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 (ภายหลังปรับตัวเลขเป็นร้อยละ 3) ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้าที่โตแค่ร้อยละ 0.8

ส่วนการทำมาตรการในปีที่ 2 กระทรวงการคลังประเมินว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มได้ร้อยละ 0.014 โดยกรมสรรพากรได้เปิดเผยข้อมูลหลังจากมาตรการเสร็จสิ้นแล้ว พบว่า มีผู้ใช้สิทธิลดหย่อนเป็นมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท สูญเสียรายได้ภาษีไปราว 1,800 ล้านบาท

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่ามาตรการจะกระตุ้นให้มีเม็ดเงินกระจายไปสู่ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการอื่น ๆ ประมาณ 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค้าปลีกสินค้าและบริการทั่วไปรวม 12,000 ล้านบาท และร้านอาหาร 1,000 ล้านบาท ซึ่งเศรษฐกิจไทยปี 2559 จบลงด้วยการขยายตัวร้อยละ 3.2 (ภายหลังปรับตัวเลขเป็นร้อยละ 3.3)

ส่วนมาตรการครั้งที่ 3 ในช่วงปลายปี 2560 กระทรวงการคลังประเมินว่า รัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีไป 2,000 ล้านบาท ตามที่กรมสรรพากรคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้คิดเป็นมูลค่าราว 22,500 ล้านบาท

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ประเมินว่าแรงส่งของมาตรการช้อปช่วยชาติปีดังกล่าว จะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายแล้วเศรษฐกิจปี 2560 ออกมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.9

จะเห็นได้ว่า ในมุมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตัวมาตรการนี้มีผลต่อเศรษฐกิจจริง ๆ ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยประเมินไว้ คือแค่ราวร้อยละ 0.01-0.02 เท่านั้น แต่รัฐบาลหวังผลในแง่บรรยากาศ (มู้ด) ในการจับจ่ายใช้สอยที่จะเพิ่มขึ้นกว่าปกติมากกว่า

โดยเฉพาะการปลุกบรรยากาศเศรษฐกิจไทยให้คึกคัก ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า ก็คงเป็นอีกช่องทางในการเรียกคะแนนประชานิยมของรัฐบาล คสช.