ไม่พบผลการค้นหา
โรงพยาบาลตำรวจเปิดตัวเพจเฟสบุ๊ก depress We Care ซึมเศร้าเราใส่ใจ ให้คำปรึกษาปัญหาโรคซึมเศร้ากับตำรวจและครอบครัวหลังพบตำรวจป่วยด้วยโรคซึมเศร้าในรอบปี 60 กว่า 170 รายและฆ่าตัวตาย 40 รายต่อปี

พล.ต.ท.นพ.วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และ พล.ต.ต.พญ.พรเพ็ญ บุนนาค นพ.สบ.6 รพ.ตร. กำกับดูแลกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.ตร.ร่วมกันเปิดกิจกรรมเปิดตัวเฟสบุ๊กแฟนเพจ”Depress We Care ซึมเศร้าเราใส่ใจ” เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับข้าราชการตำรวจและครอบครัวเพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาปัญหาโรคซึมเศร้า พร้อมเปิดตัวทีมแพทย์จิตเวชและสายด่วนที่พร้อมจะให้คำปรึกษารวมถึงวิธีการสังเกตตัวเองและคนรอบข้างที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้า 

ว่าที่ พ.ต.ต.ปองขวัญ ยิ้มสอาด นายแพทย์ สบ.2 กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามีตำรวจมาปรึกษาขอคำแนะนำหลังพบว่าเริ่มมีปัญหาการป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 170 คน ซึ่งสาเหตุมีหลายปัจจัยเช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการงานการเงิน โดยมีอาการ เช่น อารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เป็นต้น ซึ่งระดับความรุนแรงของโรคนี้มี 3 ระดับ คือระดับขั้นต้นอาจมีอาการไม่มากเช่นจะมีอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ ระดับส่วนระดับรุนแรงอาจมีอาการเบื่อชีวิตจนอาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งแนวทางการรักษาแนะนำให้มาพบจิตแพทย์ซึ่งจะมีกระบวนการักษาทั้งการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาด กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

พล.ต.ท.นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ดูแลข้าราชการและครอบครัวเป็นช่องทางให้สามารถเข้าถึงการให้คำแนะนำและการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตให้เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน จึงเปิดตัวเพจนี้ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้สามารถปรึกษาขอคำแนะนำ รวมถึงการป้องกันและรักษาในเบื้องต้น โดยมีทีมจิตแพทย์และนักสหวิชาชีพชุดใหม่เป็นผู้ให้คำปรึกษารวมถึงมีสายด่วน 081-9320000 ที่พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 มีข้าราชการตำรวจ ครอบครัวและประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับบริการกลุ่มโรคซึมเศร้า จำนวนกว่า 1,980 คน โดยในปี 2558 มี 479 คน ในปี 2559 มี 640 คน และในปี 2560 มีจำนวน 861 คน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมตำรวจที่มาปรึกษากับจิตแพทย์เป็นการส่วนตัว เนื่องจากยังมีความคิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในด้านลบ และหวั่นกระทบหน้าที่การงานอีกด้วย