ไม่พบผลการค้นหา
แถลงการณ์ 'We Walk เดินมิตรภาพ' ยืนยัน การชุมนุมทางการเมือง เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคน ซัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ยังเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ตามที่อัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 ไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ที่จัดกิจกรรม We walk เดินมิตรภาพ โดยให้เหตุผลว่า การชุมนุมของผู้ต้องหาทั้ง 8 เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ มิได้กระทบความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

อีกทั้งผู้ต้องหาได้แจ้งการชุมนุมและวัตถุประสงค์ของการชุมนุมต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว โดยการชุมนุมไม่ได้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงยังไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา

ผลของคำสั่งดังกล่าว ประกอบกับตำรวจภูธรภาค 1 ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกัน จึงทำให้คดีดังกล่าวยุติหรือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

ผู้จัดกิจกรรม We walk เดินมิตรภาพ มีความเห็นว่า คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนครั้งนี้ เป็นคำสั่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ภายใต้ภายใต้บรรยากาศปิดกั้นและกดดันของรัฐบาล คสช. การใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีที่เริ่มต้นจากการแจ้งความโดยทหาร โดยอ้างว่า ประชาชนกระทำผิดฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ถือเป็นความกล้าหาญของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นนิมิตหมายอันดีต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่การให้เหตุผลของการสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ ยังมีปัญหาที่ควรพิจารณาถึงการตีความความหมายของ 'การชุมนุมทางการเมือง' เพราะในปัจจุบันยังมีผู้ต้องหาในคดีอื่นที่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอีกกว่า 400 คน เช่น คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอย่างน้อย 10 คดี, คดีการถือป้าย 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' ที่จ.เชียงใหม่, คดีการทำกิจกรรมรณรงค์ก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ หากยึดแนวทางการให้เหตุผลของคดี We Walk ดูเหมือนว่า การสั่งไม่ฟ้องคดีจะเกิดขึ้นเฉพาะกรณีการชุมนุมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น


976177.jpg


ผู้จัดกิจกรรม We walk เดินมิตรภาพ เห็นว่า การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนมีติดตัวอยู่แล้ว และประชาชนสามารถใช้เสรีภาพนี้ได้ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นจนเกินสมควร ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีข้อเรียกร้องทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม ธรรมชาติของการชุมนุมสาธารณะล้วนเป็นไปเพื่อต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้ถูกต้อง ซึ่งอำนาจทางการเมืองย่อมมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจหรือสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น จึงเป็นการยากที่จะแยกการใช้เสรีภาพในการชุมนุมกับเรื่อง 'การเมือง' ออกจากกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้

ผู้จัดกิจกรรม We Walk เห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม เพราะเป็นคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ, ซ้ำซ้อน กับพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558, ให้ฝ่ายทหารมีอำนาจดุลพินิจตามอำเภอใจที่จะตีความว่า การชุมนุมครั้งใดประเด็นใดสามารถทำได้หรือไม่ ส่งผลให้เกิดการสั่งห้ามการชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง และเกิดเป็นบรรยากาศเงียบงันขึ้นในสังคมไทยภายใต้คำสั่งดังกล่าวนี้

แถลงการณ์ฉบับนี้จึงหวังว่า การต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรมและการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจะมีความกล้าหาญยิ่งๆ ขึ้นไปได้อีก และมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธในกรณีอื่นๆ ซึ่งถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า เป็น "การชุมนุมทางการเมือง" หรือไม่ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้ สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศได้ และเพื่อนำสังคมกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง