ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อออกกฎหมายเอื้อไม้มีค่า ประชาชนจะสนใจและมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้าน คสช. เดินหน้าทวงคืนผืนป่า เอาผิดนายทุน-ผู้มีอิทธิพลรุกป่า

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้แจงผลการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ผ่านงาน Meet the Press ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาได้อนุมัติในหลักการ

โดย พล.อ.สุรศักดิ์ ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวถือเป็นการปลดล็อกปัญหาที่เกิดขึ้นมาในอดีต โดยให้ไม้ทุกชนิดอยู่ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง ไม่เป็นไม้หวงห้าม การทำไม้ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่อีกต่อไป ซึ่งจะทำให้เจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินที่มีโฉนด และที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถดำเนินการกับต้นไม้บนที่ดินของตัวเองได้

ซึ่งเชื่อว่าการที่กฎหมายสร้างแรงจูงใจ จะทำให้คนไทยหันมาปลูกป่ามากขึ้น ส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น เพราะสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้มีค่าสามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เช่นเดียวกับธนาคารต่างๆที่เตรีรยมออกกฎระเบียบขึ้นมารองรับ

ขณะเดียวกัน พล.อ.สุรศักดิ์ ยังยืนยันด้วยว่า คสช.ยังคงเดินหน้านโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้นเช่นเดิม แต่จะเน้นจัดการกับนายทุน ผู้มีอิทธิพลที่บุกรุกพื้นที่ป่าเป็นหลัก

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 มาตรา 7 ได้กำหนดชนิดไม้หวงห้ามไว้ดังนี้ คือ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยูง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย

โดยกำหนดให้ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบรอง จะต้องถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ หากทำการตัด ฟัน โค่น ลิดเลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลาก จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการตัดและเคลื่อนย้ายไม้ เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ ตามระเบียบและกฎหมายมีความซับซ้อนและยุ่งยาก ทำให้ประชาชนจำนวนมากขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ มีอุปสรรคในการปลูกไม้ไว้ใช้สอยหรือเพื่อการค้า

ก่อนหน้านี้ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ระบุว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ ในมาตรา 7 ครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนมีรายได้มั่นคงจากการประกอบอาชีพทำไม้ปลูกป่าเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น ประเทศไทยจะมีรายได้จากการส่งออกไม้ และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม