ไม่พบผลการค้นหา
เกาะติดดราม่าคดีระเบิดบูดูเด็กหนุ่ม 14 คนจากนราธิวาสกลุ่มผู้ต้องหาคดีอั้งยี่ซ่องโจรกรณี “ระเบิดบูดู” จากการมาหางานทำในกรุงเทพฯ กลายเป็นการแอบนำวัตถุระเบิดเข้ากรุง ต้มน้ำกระท่อมกิน กลายเป็นการประชุมวางแผนก่อเหตุ เผยกว่าครึ่งมาจากหมู่บ้านเดียวกัน

30 ก.ย. 2559 เด็กหนุ่ม 6 คนจากบ้านสากอ อำเภอศรีสาคร นราธิวาสชักชวนกันเข้าเมืองหลวง พวกเขานัดแนะกันที่สถานีรถไฟรือเสาะเพื่อนั่งรถไฟฟรีเข้าสู่กรุงเทพฯ นอกจากกระเป๋าเสื้อผ้า บางคนยังมีกล่องใส่อาหารแห้ง นุรมัน อาบูเอาสะตอไปด้วย ส่วนมุสตาดิน สาและบอกว่าในกล่องของเขานอกจากมาม่าแล้วยังมีทุเรียน และน้ำบูดูอันเป็นส่วนผสมของข้าวยำ เพราะว่า “กรุงเทพฯ ไม่มีข้าวยำ” เขาว่า

ใครบางคนในกลุ่มติดต่อเพื่อนที่รู้จักในกรุงเทพฯ พวกเขาไปพักค้างคืนที่ห้องของต่วนฮาฟิต ตือมุงกาป๊ะ ในซอยรามคำแหง 53/1 มันเป็นห้องที่ต่วนฮาฟิตเช่าอยู่กับอุสมาน กาเด็งหะยี ซึ่งก็มาจากบ้านสากอเช่นกัน วันรุ่งขึ้นพวกเขาออกเดินทางไปสมุทรปราการ ใครคนหนึ่งในกลุ่มเช่าห้องพักอยู่ที่บางพลีและเป็นผู้แนะนำเรื่องการสมัครงาน พวกเขาอาศัยอยู่กับเพื่อนและหางานทำ ซึ่งก็ได้งานสมใจด้วยการเป็นลูกจ้างรายวันกับแผนกงานจัดการสิ่งของในบริษัทรับส่งสินค้า

ยังมีอีกหลายคนจากนราธิวาสที่ “เข้ากรุง” หางานทำแบบนี้ วิรัตน์ หะมิก็เป็นอีกคนหนึ่ง แม้เขาจะไปทำงานในร้านอาหารต้มยำกุ้งในมาเลเซียบางเดือน แต่ว่ามันเป็นงานที่น่าเบื่อ “ล้างจานอย่างเดียว” อย่างที่เขาว่า จึงได้ฝากคนบ้านเดียวกันที่ทำงานในกรุงเทพฯให้หางานให้ วิรัตน์เดินทางเข้าเมืองกรุงทันทีที่เพื่อนบอกว่ามีงาน เขาได้เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยเหมือนเพื่อนอีกสองคนที่มาก่อนแล้ว คือมีซี เจ๊ะหะและปฐมพร มิหิแอซึ่งก็มาจากนราธิวาสทั้งคู่ นอกจากนั้นยังมีนิเฮง ยีนิง มูฮัมหมัดซาการิยา ดามุง อัมรัน มะยี ส่วนใหญ่ยึดย่านรามคำแหงเป็นแหล่งที่พัก ที่นั่นมี “คนบ้านเดียวกัน” อยู่จำนวนมาก ทั้งอาหารการกินและมัสยิดมีพร้อม

แต่การทำงานหาเงินในกรุงเทพฯของพวกเขาจบลงในเวลาไม่นานนัก ปัญหามาพร้อมๆกับการนัดกันต้มน้ำกระท่อมกินในเย็นวันที่ 9 ต.ค. ที่ห้องของต่วนฮาฟิตและอุสมาน เพื่อนจากบ้านสากอที่อยู่สมุทรปราการแวะไปเยี่ยม แล้วพวกเขาก็ต้มน้ำกระท่อมกิน ใครที่มีงานหรือธุระก็ออกไปทำ ส่วนที่เหลือก็นอนหลับกันไป

เช้าวันที่ 10 ต.ค. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกลุ่มใหญ่ไปเคาะประตูห้องขอตรวจค้น พวกเขาโดนรวบตัวส่งสถานีตำรวจ หลังจากนอนห้องขังหนึ่งคืน เจ้าหน้าที่พาพวกเขาไปจ่ายเงินค่าปรับที่ศาลคนละ 1,000 บาทฐานมี “พืชกระท่อม” ในครอบครอง

ถนนหลายสายของคนกินน้ำกระท่อมไปพบกันที่สถานีตำรวจหัวหมาก ไม่ใช่แค่กลุ่มคนจากบ้านสากอ แต่ยังมีกลุ่มวิรัตน์ ปฐมพร มีซี สามรปภ.ที่ต้มน้ำกระท่อมกินในเย็นวันที่ 9 ต.ค. ที่ไม่เคยรู้จักก็เริ่มรู้จักกัน พวกเขาทั้งหมดถูกคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจจนสองทุ่มคืนวันที่ 11 ต.ค.ก่อนที่จะมีบุคคลในเครื่องแบบไปนำตัวพวกเขาออกเดินทางไปเข้าค่ายแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้วเข้าสู่กระบวนการสอบปากคำ

วันที่ 11 ต.ค.กลายเป็นวันเริ่มต้นของเส้นทางการสอบสวนที่วกวน มีการจับแล้วปล่อยแล้วจับ จากกรุงเทพฯพวกเขาถูกนำตัวสู่ปัตตานี ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารและค่ายของหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 46 ได้รับการปล่อยตัวก่อนจะถูกจับอีก มีการจับกุมเพิ่มเติม เส้นทางของพวกเขาทั้งหมดมุ่งหน้าสู่กองปราบปรามในกรุงเทพฯ ถูกสอบสวนอีกครั้งและกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันมีวัตถุระเบิด กระทำการอันเป็นอั้งยี่ซ่องโจร เป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี รับแผนมาให้นำวัตถุระเบิดไปเตรียมประกอบเพื่อก่อเหตุร้ายในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ คนทั้งหมดถูกจับหรือไม่ก็มอบตัวสู้คดีในเดือนธ.ค. 2559

พนักงานสืบสวนสอบสวนลงความเห็นว่า การชักชวนกันเดินทางขึ้นรถไฟไปหางานทำในกรุงเทพฯ ของพวกเขาที่แท้แล้วคือการช่วยกันนำวัตถุระเบิดซุกซ่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ การชุมนุมกินน้ำกระท่อมก็คือการประชุมวางแผนซักซ้อมปฏิบัติการ การกินน้ำกระท่อมก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้สัตย์สาบาน ห้องเช่าในสมุทรปราการกลายเป็นที่ซุกซ่อนวัตถุระเบิดและเป็นสถานที่เตรียมประกอบระเบิด เด็กหนุ่ม 9 คนจากบ้านสากอ บวกกับอีก 5 คนจากที่อื่นๆของนราธิวาสกลายเป็นเครือข่ายสมาชิกกลุ่มขบวนการกู้ชาติปัตตานีที่ผ่านการซุมเปาะหรือสาบานตนมาแล้ว เจ้าหน้าที่เชื่อว่า พวกเขาวางแผนเตรียมต่อเหตุวางระเบิดหลายจุด แต่ยังดีที่เจ้าหน้าที่จับกุมได้เสียก่อน มันเป็นที่มาของคดี “ระเบิดบูดู”

ทนายชี้หลักฐานอ่อน

การสอบปากคำในชั้นศาลของคดีระเบิดบูดูเพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยทีมทนายจำเลยเบิกตัวจำเลยทั้ง 14 คนให้การต่อศาลตลอดสัปดาห์ ก่อนหน้านั้นเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนจากกองปราบปรามบรรยายผลการสอบสวน โดยส่วนหนึ่งระบุว่าสิ่งที่จำเลยนำซุกซ่อนขึ้นในรถไฟเข้ากรุงเทพฯ นั้นประกอบไปด้วยปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม ฝักแคคือส่วนประกอบวัตถุระเบิดเพื่อการจุดชนวนอีก 5 ดอก เหล็กเส้นตัดแล้ว 2 กิโลกรัม และดินระเบิดอีก 1 ถุง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามหลักฐานมาแสดงได้

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เชื่อว่าจำเลยได้ซุกซ่อนของทั้งหมดไว้บนเพดานห้องเช่าของหนึ่งในกลุ่มจำเลยที่อยู่ที่สมุทรปราการ แต่พวกเขากำจัดได้ทันจากการที่มีเพื่อนส่งข่าวว่าถูกเจ้าหน้าที่จับได้ จึงมีผู้นำไปโยนทิ้งลงคลอง ต่อมาจำเลยบอกอีกว่าได้นำไปทิ้งลงถังขยะ ซึ่งก็ไม่สามารถติดตามได้ไม่ว่าในคลองหรือในถังขยะ

ด้านสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ หนึ่งในทนายความของจำเลยชี้ว่า เจ้าหน้าที่ยังขาดพยานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อไปยึดสิ่งของจากห้องมาตรวจหาดีเอ็นเอ สารประกอบ ลายพิมพ์นิ้วมือแฝง เจ้าหน้าที่ตรวจพบแค่ที่แปรงสีฟันของจำเลยบางคนแต่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับวัตถุพยานสำคัญ

นอกจากนี้ ทนายสิทธิพงษ์ชี้ว่า ในการกระทำผิดแบบเป็นกลุ่ม จะมีเรื่องของการสื่อสารในกลุ่มที่หลงเหลือหลักฐานไว้ให้เจ้าหน้าที่ และในภาคใต้มักจะทำแผนผังการสื่อสารเช่นเชื่อมโยงการใช้โทรศัพท์ก่อนและหลัง แต่คราวนี้ไม่มีแผนผังดังกล่าว ในขณะที่จากการให้การของจำเลบพบว่า หลายคนไม่รู้จักคนอื่นๆ มาก่อน ส่วนเรื่องที่อ้างว่าเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานีก็ยังไม่มีข้อมูลใดพิสูจน์


หลักฐานสำคัญของเจ้าหน้าที่กลายเป็นคำรับสารภาพของนายตาลมีซี โต๊ะตันหยงที่ยอมรับว่าตนและเพื่อนๆ เตรียมตัวก่อเหตุร้ายตามแผนที่กำหนดโดยผู้ออกคำสั่งที่ยังจับกุมตัวไม่ได้ มีรายละเอียดของแผนการ มีรายชื่อผู้ร่วมในแผนซึ่งนายตาลมีซีให้การซัดทอดบุคคลที่เหลือ


ปัญหาก็คือ คำสารภาพของนายตาลมีซีนั้นได้มาในระหว่างการสอบปากคำผ่านกระบวนการของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษและกระทำในค่ายทหาร ซึ่งเรื่องนี้ทนายจำเลยคือสิทธิพงษ์ชี้ว่า หลักฐานเช่นนี้โดยหลักแล้วเป็นหลักฐานบอกเล่าที่จะมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อสนับสนุนด้วยหลักฐานอย่างอื่น แต่โดยลำพังตัวเองแล้ว หลักฐานเช่นนี้จะต้องรับฟังอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง “ต้องตีความอย่างแคบ ตีความตามตัวอักษร จากผลของการซักถามที่ได้มาตามกระบวนการกฎหมายพิเศษนั้น ก็มีจำเลย 1, 2 และ 3 เท่านั้นที่ยอมรับสารภาพ หลายคนปฏิเสธ”

นายตาลมีซีและจำเลยคนอื่นที่รับสารภาพด้วยต่างยืนยันว่าพวกเขาถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างที่ถูกสอบปากคำ มีการข่มขู่และทำร้าย บ้างบอกว่าพวกเขาถูกขังไว้ในห้องที่เย็นจัด ราดด้วยน้ำเย็น บ้างบอกว่าถูกทรมานด้วยการให้ยืนขาเดียว และมีที่ถูกเตะ ล็อกคอ บีบคอ รุมเตะ ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า แม้แต่ถูกยิงด้วยที่เย็บกระดาษ เอาปืนจ่อศรีษะ พวกเขาบอกว่าเมื่อทนไม่ไหวและหวาดกลัวอย่างมากจึงจำต้องยอมรับสารภาพ บ้างถึงกับหลั่งน้ำตาในระหว่างให้การกับศาล นอกจากนั้น สิทธิพงษ์ชี้ว่า “จำเลยที่ 1 เมื่อถูกแจ้งข้อหาเขาปฏิเสธ แต่กลับพาไปชี้สถานที่ต่างๆเสมือนว่าเป็นการทำแผนประกอบการรับสารภาพโดยอ้างว่าสมัครใจซึ่งเรื่องนี้ก็ขัดกับวิสัยของวิญญูชนทั่วไป”

หลักฐานสำคัญอย่างที่สองของเจ้าหน้าที่คือ การพบร่องรอยของสารประกอบในการจุดชนวน นั่นคือสารพีอีทีเอ็นติดอยู่ที่มือของนายมูบารีย์ กะนา เหตุผลว่าทำไมจึงสามารถตรวจพบร่องรอยของสารนี้ที่มือได้ในขณะที่ไม่สามารถตรวจหาในห้่องเช่าได้ โดยเฉพาะเมื่อเวลาผ่านไปนานหลายวันแล้ว ยังมีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจอีกมากในเรื่องว่าทำไมจึงพบสารตัวนี้บนมือของมูบารีห์

“เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในจุดที่เชื่อว่าเป็นที่ที่มีการนำวัตถุระเบิดไปซุกซ่อนก่อนที่เชื่อว่าจะนำไปทิ้ง คือเชื่อว่าซ่อนไว้บนเพดานห้องพักในอพาร์ทเมนท์จำเลยรายหนึ่งที่อยู่สมุทรปราการ แต่ก็ตรวจไม่พบ เก็บเสื้อผ้าไปตรวจก็ไม่พบ แต่กลับไปพบว่ามีสารนี้ติดอยู่ที่มือของจำเลยที่ 3 ซึ่งระยะเวลาที่เชื่อว่าจำเลยจับต้องสารกับช่วงที่ตรวจพบมันห่างกันมาก เจ้าหน้าที่บอกว่าที่ติดมือมานั้นเพราะว่าจำเลยที่สามไปจับกระป๋องที่ล้มอยู่มีสารที่ไหลออกมา และมันเหนียวทำให้สารที่ติดอยู่ยังติดมือล้างไม่ออก อันที่จริงผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าถ้าล้างอย่างพิถีพิถันมันออก และระยะเวลามันห่างถึงสิบวัน”

“นอกจากนี้ ยังมีพยานโจทก์เองที่ยอมรับว่า ที่ในค่าย ระหว่างการสอบปากคำจำเลยที่สาม เขาบอกว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารไปลูบที่มือจำเลย นี่ก็ทำให้มีข้อน่าสงสัยในหลักฐานอันนี้”

คำให้การของจำเลยในคดีนี้ทำให้มีคำถามหลายประเด็นด้วยกัน เรื่องแรกคือปัญหาในเรื่องการซ้อมทรมาน ที่ผ่านมามีผู้ผ่านกระบวนการสอบปากคำภายใต้กฎหมายพิเศษหลายคนที่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะว่าพวกเขาถูกทำร้ายร่างกาย ปัจจุบัน ถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องร้องดำเนินคดี บางคนกลายเป็นได้รับโทษก็มีเช่นกำนันโต๊ะเด็ง หรือนายอนุพงศ์ พันธชยางกูรก็ถูกตัดสินต้องรับโทษจำคุก เพราะศาลไม่เชื่อว่าถูกทำร้ายร่างกายจนฟันหักหน้าบวมจริง เจ้าหน้าที่ทหารในภาคใต้เคยเตรียมจะยื่นฟ้องนักสิทธิมนุษยชนสามคนที่ทำรายงานเรื่องการซ้อมทรมานในสามจังหวัดภาคใต้มาแล้ว ขณะที่นายอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีก็ถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องร้องฐานกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน ประเด็นเรื่องของการเปิดเผยต่อศาลว่าถูกซ้อมทรมานจึงมีพัฒนาการที่ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นคุณต่อการเปิดเผยของจำเลยในลักษณะเช่นนี้

นอกจากนี้ ในกระบวนการสอบปากคำคนทั้งกลุ่มก่อนที่กระบวนการจะถึงมือของเจ้าพนักงานสอบสวนคือตำรวจ จำเลยได้ผ่านกระบวนการนำตัวเข้าซักถามในค่ายทหารในกรุงเทพฯ ซึ่งจากการให้ปากคำมีการปิดตาผู้ถูกจับกุม ไม่เปิดเผยข้อมูลว่าเป็นที่ใดนอกจากจะรู้เองในภายหลัง อีกทั้งยังไม่มีญาติไปเยี่ยมและมีการยึดโทรศัพท์ ในการนำตัวลงสู่ภาคใต้ก็มีการปิดตาในครึ่งแรกของการเดินทางด้วย ในระหว่างการสอบปากคำในค่ายอิงคยุทธบริหารและในหน่วยเฉพาะกิจ จำเลยให้การกับศาลว่า ในหลายครั้งไม่มีทนายความอยู่ด้วย หรือแม้จะมีทนายความ แต่ทนายไม่เตือนในเรื่องสิทธิ บางครั้งทนายไม่อยู่แต่กลับมีชื่อทนายในเอกสารคำให้การ นอกจากนั้น นุรมัน อาบู หนึ่งในจำเลยให้การว่า ในระหว่างที่ถูกคุมตัวช่วงหนึ่งเจ็ดวันนั้น เขาไม่ได้ละหมาดเลย

อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

จำเลยหลายคนที่ให้การกับศาลนั้นปรากฎว่าไม่สามารถอ่านออกหรือเขียนได้ ทำได้เพียงลงชื่อเท่านั้น พวกเขาต้องมีผู้นำสาบานตน ซึ่งทำให้ศาลถึงกับต้องซักถามด้วยความประหลาดใจ หลายคนให้การต่อศาลว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ให้ลงนามในเอกสาร พวกเขาไม่สามารถอ่านได้ แต่เมื่อได้รับการบอกเล่าว่า ถ้าลงชื่อแล้วจะได้กลับบ้าน พวกเขาก็รีบลงชื่อ นอกจากนั้นบางรายมีล่ามแต่ล่ามก็ไม่อ่านหรือแปลเอกสารให้ฟัง พวกเขาจึงลงชื่อไปโดยไม่เข้าใจเนื้อหา รวมไปถึงข้อหาที่ปรากฎคำว่า “อั้งยี่ ซ่องโจร”

วิรัตน์ หะมิหนึ่งในจำเลยให้การว่า ตัวเขาเองเคยไปทำงานที่มาเลเซีย ทำงานในร้านอาหารไทยที่ขายต้มยำกุ้งและอาหาร เช่น ผัดไท เขาไม่ได้อยู่ตลอดเพราะรู้สึกว่า “เบื่อ” จึงคิดเข้าไปหางานทำงานกรุงเทพฯ ประกอบกับน้อยใจแม่ที่ไม่เห็นด้วยกับหญิงสาวที่เขาหมายปอง วิรัตน์เป็นรายเดียวที่พูดเรื่องเข้าเมืองหลวงเพื่อหนีแม่ แต่สำหรับคนอื่นที่ให้การกับศาลว่าปกติทำงานกรีดยางที่บ้าน พวกเขาล้วนแล้วแต่พูดถึงการหางานใหม่ทำในกรุงเทพฯ

ญาติของจำเลยจากบ้านสากอพูดถึงเรื่องนี้ว่า ในระยะที่ผ่านมาปัญหาใหญ่ในพื้นที่คือราคายางตกทำให้รายได้ลด การเข้ากรุงเพื่อหางานทำของเด็กหนุ่มจากบ้านสากอทำได้ด้วยการอาศัย “คนบ้านเดียวกัน” ที่ไปทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มาก่อนให้ความช่วยเหลือ เช่น วิรัตน์และได้งานทำเป็นรปภ. เป็นลูกจ้างรายวันและได้ค่าจ้างวันละ 500 บาท งานรปภ.ดูจะเป็นงานที่หาได้ไม่ยากนัก หลายคนบอกว่าพวกเขาไปสมัครงานในช่วงเช้า เย็นมาก็ได้ไปทำงาน

นอกจากนั้น อีกหลายคนที่ได้งานก็เป็นลูกจ้างรายวัน แต่เป็นงานประเภทอื่นที่มีเพื่อนจากหมู่บ้านเดียวกันไปบุกเบิกไว้แล้ว แต่พวกเขาไม่อาจทำให้พนักงานสืบสวนสอบสวนเข้าใจได้ ในการให้การกับศาล พวกเขาบอกว่าในช่วงเวลาที่ถูกจับและสอบปากคำไม่ต่ำกว่าสามหรือสี่ช่วงนั้น คำถามที่พวกเขาได้รับตลอดเวลาคือ “มาทำอะไรที่กรุงเทพฯ” บ้างก็ถามอย่างตรงไปตรงมา “มึงจะมาวางระเบิดกรุงเทพฯ ใช่ไหม” และไม่ว่าจะตอบอย่างไร คำถามเดิมก็จะเวียนกลับมาเสมอ


“เขาไม่เชื่อว่าผมจะมาหางานทำ” อุสมาน กาเด็งหะยีบอกศาล


ในขณะที่ทางด้านพนักงานสอบสวนนั้นให้การกับศาลว่า ในช่วงเดือนก.ย. และต.ค. ปี 2559 เป็นจังหวะที่เจ้าหน้าได้รับคำเตือนให้ระมัดระวังสถานการณ์ เพราะมีรายงานข่าวว่าอาจมีความพยายามก่อเหตุในเมืองหลวง ทำให้เป็นที่มาของการออกตรวจและกวาดจับจนพบกลุ่มกินน้ำกระท่อม

การถูกจับและปล่อยอยู่สองสามหนจนทำงานไม่ได้ ทำให้บางคนถึงกับท้อกับการอยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวหนที่สอง วิรัตน์โทรหาที่บ้านแล้วตกลงเดินทางกลับทันทีในวันรุ่งขึ้น งานก็ไม่มีเนื่องจากขาดไปหลายวัน “กลับบ้านดีกว่า โดนจับสองครั้งแล้ว อย่าอยู่เลยกรุงเทพฯ”

การกลับไปอยู่บ้านก็ดูจะไม่มีทางเลือกมากนัก ที่สำคัญในกลุ่มจากบ้านสากอที่ได้รับการปล่อยตัวยังพบว่า พวกเขาไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากเจ้าหน้าที่ หนึ่งในนั้นถึงกับต้องหา “ผู้ใหญ่” ให้พาไปขอหนังสือรับรองว่าไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มขบวนการกู้ชาติจากผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจของทหารที่ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน ส่วนอีกสี่คนมีครอบครัวพาไปเข้าร่วมกับศูนย์สันติวิธีทำดีเพื่อแผ่นดิน ที่ดูแลโดยพันเอกคชพล สว่างโชติ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ผู้พันแพะ”

ศูนย์สันติวิธีนั้นเป็นที่ที่นำเอาตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมอันเป็นที่น่าสงสัยในสายตาเจ้าหน้าที่เข้าไปรับการอบรมอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับทัศนคติ พวกเขาทั้งสี่คนอยู่กับผู้พันแพะเป็นเวลา 6 เดือน จนกระทั่งเมื่อมีผู้ไปบอกว่ามีหมายจับติดตัวจึงเดินทางเข้ามอบตัวในกรุงเทพมหานคร แม้กระนั้นหลายคนก็ไม่รู้แม้กระทั่งว่า ถูกออกหมายจับในข้อหาใด มูฮัมหมัดซาการิยา ดามุง ทำงานรปภ.นั่งรถไฟกลับบ้านเพื่อจะไปเกณฑ์ทหาร แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปตรวจบัตรประชาชนบนรถไฟบอกเขาว่า มีหมายจับพร้อมกับให้ลงรถไฟที่หาดใหญ่เพื่อให้นั่งเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯ ในวันเดียวกันนั้นเอง ขณะที่เขาเดินเข้าสู่กองบังคับการปราบปราม เป็นจังหวะเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่กำลังแถลงข่าวเรื่องคดีระเบิดบูดูพอดี เป็นอันว่าเขาได้รับรู้ในเวลาเดียวกันกับสาธารณะว่า ตัวเองถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร

คดีระเบิดบูดูได้รับความสนใจโดยมีผู้ไปสังเกตการณ์จนเต็มห้องพิจารณาคดี มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงนับสิบไปฟังการสอบปากคำในวันสุดท้าย พ่อแม่พี่น้องและครอบครัวของจำเลยรวมไปถึงเด็กเล็กจำนวนกว่ายี่สิบคนจากนราธิวาสเดินทางไปให้กำลังใจลูกหลานของพวกเขาจนล้นห้อง แม่ของจำเลยคนหนึ่งบอกว่า พวกเขาเดินทางไปกรุงเทพฯ หลายครั้งหลายหนแล้ว ในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นบรรดาเพื่อนบ้านในหมู่บ้านช่วยกันลงขันให้ ส่วนที่พักก็มีผู้ใจดีเอื้อเฟื้อ