ไม่พบผลการค้นหา
‘อาหาร’ เดินทางมาพร้อมกับการเคลื่อนย้ายถ่ายเททางวัฒนธรรม สำหรับชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่ซ่อนตัวอยู่หลังตึกสูงใจกลางเขตบางรัก ผู้นับถือศาสนาอิสลามที่อพยพมาจากหลากหลายถิ่นกำเนิด ต่างถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านอาหารการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการปรุง ‘ข้าวหมก’

เลี้ยวรถเข้าจอด ณ วัดม่วงแคซอยเจริญกรุง 34 ก่อนเดินเลาะซอยเล็กๆ ที่เชื่อมกันสู่ซอยเจริญกรุง 36 อันเป็นที่ตั้งของชุมชนมัสยิดฮารูณ ชุมชนมุสลิมเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ บ้านเรือนถูกปลูกติดเรียงกันอย่างอบอุ่น ใกล้ชิด ตามแบบฉบับผังเมืองเก่า ล้อมรอบมัสยิดฮารูณอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน

ด้านข้างหนึ่งเป็นวัด ขณะที่ปากทางเข้าชุมชนมัสยิดฮารูณเป็นที่ตั้งของสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ที่เพิ่งสร้างใหม่เสร็จในปี 2015 รูปทรงเรือ สีขาว สไตล์ทันสมัย

_MG_0180.JPG_MG_0189.JPG

หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายศาสนา หลอมรวมกันในพื้นที่เล็กๆ อย่างไม่เกี่ยงข้อแม้

มัสยิดฮารูณสร้างขึ้นโดย ‘โต๊ะฮารูณ บาฟาเดน’ ชาวเมืองปนเจอะนะ ประเทศอินโดนีเซีย เขาเป็นหนึ่งในพ่อค้าที่แล่นเรือมาค้าขาย ณ ชุมชนริมน้ำนับตั้งแต่อดีต ก่อนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ. 2371 เดิมทีมัสยิดบนพื้นที่ประวัติศาสตร์เคยเป็นอาคารไม้สักยกพื้นชั้นเดียวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จึงต้องก่ออิฐถือปูนสร้างขึ้นใหม่ ลึกเข้ามาในชุมชน ไกลออกมาเล็กน้อยจากริมแม่น้ำ

จากชุมชนมุสลิมริมน้ำในวันวาน ปัจจุบัน มัสยิดฮารูณเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติไม่เว้นแต่ละวันโดยเฉพาะในวันศุกร์ ซึ่งคนมุสลิมจะมารวมตัวทำ ‘การละหมาดวันศุกร์’ (ญุมุอะฮฺ) ร่วมกัน และด้วยความที่ชุมชนตั้งอยู่กลางเมือง สะดวกต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้นับถือศาสนาอิสลาม หากมีเหตุให้ต้องเดินทางมายังประเทศไทย มัสยิดฮารูณก็ถือเป็นหนึ่งนตัวเลือกที่พวกเขาจะเข้ามาละหมาด

“ชาวต่างชาติเขารู้จักในนาม ‘มัสยิดฮารูณ’ แต่สำหรับคนที่เกิด และเติบโตแถวนี้ พวกเขารู้จักกันในนาม ‘มัสยิดวัดม่วงแค’ มันแสดงให้เห็นถึงความผสมผสาน ความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้น เอาชื่อวัดมาตั้งชื่อมัสยิด” อิหม่ามบอย ผู้นำชุมชนมัสยิดฮารูณรุ่นปัจจุบันบอก

_MG_0033.JPG

“ชุมชนม่วงแคฮารูณ เวลาทำอะไรเราทำร่วมกันมาตลอด ช่วยเหลืองานกันตลอด นี่คือความเป็นอยู่ตั้งแต่เริ่มแรกที่เราอยู่ปะปนกันมาทุกศาสนา ส่วนชาวคริสต์จะเข้ามาผ่านทางการเรียนรู้ หรือการเข้ามาชม ซึ่งถือว่าสัมพันธ์กันอยู่”


อาหารเชื่อมใจชุมชนฮารูณ

ภายนอกชุมชน เชื่อมสัมพันธ์แม้ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ

ภายในชุมชน ความเชื่อเดียวกัน แตกต่างที่มา ถิ่นกำเนิด

‘อาหาร’ จึงเป็นสิ่งที่ผูกพันมุสลิมในชุมชนที่อพยพมาจากหลากถิ่นที่อยู่อาศัย ในช่วงเวลาที่ต่างกันได้ดีที่สุด และเป็นวัฒนธรรมที่แลกเปลี่ยนกันได้ไม่สิ้นสุด ทั้งในด้านรสชาติ สูตรการปรุง และมิตรภาพ ต่อคนในชุมชนด้วยกันเอง กระทั่งคนนอกชุมชน

ชุมชนฮารูณม่วงแคโดดเด่นด้วยร้านอาหารฮาลาลเจ้าอร่อยนับสิบ ไม่่ว่าจะเป็นร้านน้ำชา ร้านหอยทอด ผัดไท ร้านอาหารตามสั่ง ไก่ทอดเครื่อง โรตี ข้าวราดแกง และข้าวหมกต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวจากข้างนอก ทั้งไทยและเทศ แวะเวียนกันมาชิมไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงเช้าถึงเที่ยงของวันศุกร์ ที่ร้านค้าร้านอาหารตั้งเรียงรายตลอดทั้งตรอกสายหลักข้างมัสยิด

_MG_0226.JPG_MG_0249.JPG

ศุกร์กลางเดือนตุลาคม Voice On Being ลงสัมผัสชุมชนฮารูณม่วงแค เป็นจังหวะเดียวกับที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พานักศึกษามาดูกรรมวิธีทำ ‘ข้าวหมก’ แบบฉบับชุมชนฮารูณ พร้อมจัดเวทีเสวนาวิชาการ ‘โรงครัวฮารูณ: พ่อครัว ชาวบ้านและศิลปะการกิน’

‘โมฮัมหมัด ฮุสเซน’ พ่อครัวประจำชุมชน ประจำการอยู่หน้าเตา ณ ลานกว้างหลังมัสยิดฮารูณ พร้อมด้วยหม้อใบใหญ่ขนาดเลี้ยงคนหลายสิบ และลูกมือวัยรุ่นหนุ่มสาวอีก 2-3 คน

ข้าวหมกเป็นหนึ่งในจานอาหารที่สะท้อนรากเหง้าทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ข้าวหมกไม่ใช่อาหารของชาติใดชาติหนึ่ง แม้จะมีต้นกำเนิดมาจากตะวันออกกลางก็ตาม แต่เป็นกรรมวิธีทำอาหารที่ถูกส่งต่อมาสู่หลายอารยธรรม สู่หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เปอร์เซีย เมียนมา ปากีสถาน ฯลฯ และมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกปรับให้แตกต่างกันออกไป
_MG_0055.JPG

ฮุสเซนมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘กีโอ ซาน’ (Kyaw Zan) มุสลิมชาวเมียนมาผู้อพยพเข้ามาอยู่ในไทยราว 21 ปีก่อน ตอนเขาอายุได้ 37 ปี โดยช่วงแรกๆ ที่เข้ามาหางานทำ บังฮุสเซนช่วยมัสยิดทำความสะอาด และรับผิดชอบสุเหร่าในด้านต่างๆ ส่วนอาชีพพ่อครัวข้าวหมกเริ่มต้นที่ ‘พี่ดิน’ คนเก่าคนแก่ ซึ่งเคยเป็นพ่อครัวประจำชุมชนมาก่อน และได้ถ่ายทอดกรรมวิธีการทำข้าวหมกให้แก่ฮุสเซน

เขาเริ่มตั้งแต่เป็นลูกมือ กระทั่งพ่อครัวคนเก่าแก่ชราลง และทำต่อไม่ไหว พ่อครัวประจำชุมชนถูกเปลี่ยนมือมาเป็นหน้าที่ของฮุสเซน ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญ งานแต่ง งานบริจาค หรืองานละศีลอด บังฮุสเซนดูแลอาหารการกินทั้งหมด ควบคู่กับการขายข้าวหมกราว 200 กล่องในชุมชนทุกวันศุกร์

ด้วยความที่บังฮุสเซนมาจากเมียนมา แต่ชุมชนฮารูณเองกลับใกล้ชิดชุมชนอินเดียรอบๆ ส่วนตัวพี่ดินครูของฮุสเซนก็เป็นคนไทยมุสลิม ทำให้ข้าวหมกของเขาผสมผสานกรรมวิธีจากต่างวัฒนธรรม และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ได้ชิมแล้วไม่เหมือนที่อื่น

_MG_0043.JPG

เริ่มต้นจากการเอาข้าวแช่น้ำ 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ข้าวสุกง่าย โดยระยะเวลาแช่ขึ้นอยู่กับชนิดของข้าว โดยบังฮุสเซนแนะนำว่า หากเป็นข้าวเสาไห้จะหุงง่ายหน่อย จากนั้นทำการต้มน้ำแล้วใส่เครื่องเทศต่างๆ เช่น ลูกกระวาน กานพลู และเมื่อน้ำเดือดเทข้าวลงต้ม

ส่วนหม้ออีกใบหมกเนื้อสัตว์กับแกงทิ้งไว้ และใช้ ‘กี’ น้ำมันเนยแบบแขก เพื่อช่วยเรื่องกลิ่น และไม่ทำให้ติดก้นหม้อ เมื่อข้าวสุกครึ่งหนึ่งแต่งสีข้าวเพิ่มเติมด้วยสีผสมอาหารรับประทานได้ ข้าวของบังฮุสเซนใส่ 2 สี คือเหลือง และส้ม บางทีอาจจะเพิ่มสีแดงเข้ามาด้วย ต่อด้วยการตักข้าวมาหมกต่อในหม้อเดียวกับเนื้อสัตว์จนสุก โรยหน้าข้าวด้วยถั่ว และลูกเกด ซึ่งต้มสุกมาก่อนหน้านั้นแล้ว

บังฮุนเซนเฝ้าสังเกตข้าวหมกด้วยการพลิกดูด้านล่างว่าน้ำแกงแห้งหรือยัง โดยเขาพลิกข้าวจนเผยให้เห็นเนื้อแพะถูกหมก พร้อมส่งกลิ่นหอมยวนใจ ก่อนพูดว่า “อีก 5 นาที” ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณว่าใกล้เวลาได้กินแล้ว

เมื่อทุกอย่างสุกตั้งแต่บนลงล่าง บังตักข้าวแยกมาอีกหม้อ และตักข้าวเสิร์ฟคู่กับเนื้อแพะ ทานคู่กับซุปไก่

_MG_0157.JPG

“ไทยหมกข้าวหม้อ ไก่หม้อ แต่ของผมใส่รวมกัน อินเดียก็ทำแบบผม แต่อินเดียทำเสร็จจะไม่ได้แยกข้าวออกมา เขาจะตักเลยทีเดียว” บังฮุสเซนบอก


ชาวมุสลิมอพยพ วัฒนธรรมอาหารเคลื่อนย้าย

“ข้าวหมกเป็นตัวอย่างอันดีที่สะท้อนรากเหง้าวัฒธรรม แถวนี้คนอินเดียเยอะหน่อยตั้งแต่สมัยโบราณที่มาตั้งรกรากทำอะไรกัน ข้าวหมกแถวนี้ก็จะสไตล์อินเดียหน่อย ในวิธีคลุกเครื่อง หรือวิธีทำแกงคู่กันไป ถ้าไปแถวมีนบุรี หนองจอก ข้าวหมกเขาก็มีแต่จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็จะเป็นแบบมลายูหน่อย เครื่องจะกลมกล่อมไม่เข้มข้นเท่านี้” ‘ก้อง ฤทธิ์ดี’ คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์บางกอก โพสต์ ซึ่งกำลังทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้าวหมกไก่ทั่วประเทศไทยเล่าให้ฟังในฐานะผู้เกิดและเติบโตในชุมชมม่วงแคฮารูณ

_MG_0093.JPG

นอกจากนั้น ก้องยังเล่าต่อด้วยว่า ข้าวหมกทางภาคใต้ข้าวจะผ่านกรรมวิธีการหมกอีกแบบ หรือที่ชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยก็หมกอีกแบบ โดยข้าวมีสีแดงมากกว่า ในประเทศไทย คนนับถือศาสนาอิสลามแต่ต่างชุมชน ต่างต้นกำเนิด ทุกคนนำสูตรอาหารของตัวเองติดตัวมา แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็เกิดการผสมผสานกันไป ไม่ว่าจะผ่านการแลกเปลี่ยน หรือข้อจำกัดด้านวัตถุดิบก็ตาม

“เมืองไทยเป็นที่ๆ ทุกคนมาอยู่รวมกัน อาหารจีน อาหารแขก ต่างมีหลายแบบเช่นเดียวกัน วัฒนธรรม ชีวิต ประวัติศาสตร์ มันก็เล่าผ่านอาหารได้เยอะทีเดียว”

On Being
198Article
0Video
0Blog