ไม่พบผลการค้นหา
รมว.พาณิชย์ลงพื้นที่จ.นครสวรรค์นำร่องครม. สัญจร ตรวจความคืบหน้าร้านธงฟ้าประชารัฐ ย้ำเป็นกลไกลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย เผยติดตั้งเครื่องรับรูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว 31,800 จุดทั่วประเทศ ฟากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดโครงการ 'แฟรนไชส์สร้างอาชีพ' หนุนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐลงทุนธุรกิจแฟรนไซส์ 1-5 หมื่นบาท เตรียมเปิดตัวครั้งแรก ที่โคราช 22-25 มิ.ย. นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการนำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ณ ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านบ่อพลับ หมู่ที่ 3 ต.เนินกว้าว อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าใช้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เป็นกลไกช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อย 

พร้อมกับจะพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐให้เป็นร้านโชห่วยมืออาชีพ รวมถึงการเชื่อมโยงผู้ผลิต ให้จัดส่งสินค้าราคาถูกเข้าร้านค้า และเชื่อมโยงสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน เพื่อให้ร้านค้ามีสินค้าที่หลากหลายและมีราคาถูกจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ และทำให้ร้านค้ามีรายได้มากขึ้น

อีก 8,200 จุด ติดตั้งเครื่องรับรูดบัตรสวัสดิการรัฐครบ 4 หมื่นจุดตามเป้าหมาย

ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตั้งเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC ครบตามเป้าหมาย 30,000 ร้านแล้ว และในส่วนของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ) ที่รับผิดชอบติดตั้ง 10,000 แห่ง ขณะนี้ได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 1,800 ร้าน และคาดว่าภายในเดือน มิ.ย. นี้ จะติดตั้งได้ครบ และทำให้มีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตรครบตามเป้าหมาย 40,000 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีร้านค้าครอบคลุมผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากขึ้น 

ส่วนการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวโครงการวันที่ 4 ต.ค. 2560 - ล่าสุด (5 มิ.ย. 2561) มียอดซื้อขายแล้ว 29,488 ล้านบาท และมีจำนวนสินค้าที่ซื้อขายกว่า 100 ล้านรายการ

"กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนที่จะหารือกับผู้ผลิตรายใหญ่ ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก ป้อนให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยตั้งเป้าที่จะเปิดให้มีมุมสินค้าธงฟ้า ซึ่งจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ และยังจะใช้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เป็นที่ขายสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่จำหน่ายให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และช่วยให้เกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น" นายสนธิรัตน์ กล่าว   

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง และผู้ขนส่งสินค้า ในการจัดส่งสินค้าราคาถูกให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยให้มีศูนย์กระจายสินค้าทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐมีสินค้าจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนให้กับร้านค้า แต่ยังช่วยดึงดูดให้คนเข้าร้านเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับจ.นครสวรรค์ พบว่า มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 208,954 ราย จากจำหน่ายประชากรทั้งหมด 1,065,868 คน ขณะนี้กรุงไทยรายงานว่า มีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรแล้ว 397 เครื่อง แบ่งเป็นร้านค้า 395 ร้าน รถโมบายจำนวน 2 คัน

ร้านธงฟ้าประชารัฐ-ธงฟ้าประชารัฐ-บัตรคนจน-อีดีซี


ดึงธุรกิจแฟรนไซส์ 100 แบรนด์ร่วมโครงการสร้างอาชีพสร้างงานผู้มีรายได้น้อย

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) ที่ต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ว่างงาน ภายใต้โครงการ 'แฟรนไชส์สร้างอาชีพ' เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้อย่างยั่งยืนและลดการพึ่งพาสวัสดิการของรัฐในอนาคต 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงเร่งนำแฟรนไชส์ที่มีเงินลงทุนไม่สูงลงพื้นที่ในส่วนภูมิภาคให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ที่สนใจเลือกนำไปประกอบเป็นอาชีพ โดยเบื้องต้น กรมฯ ได้คัดเลือกจังหวัดที่มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนมาก และเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองจำนวน 20 จังหวัด เพื่อนำร่องนำธุรกิจแฟรนไชส์จำนวน 100 แบรนด์ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ และมีขนาดการลงทุนไม่เกิน 50,000 บาท ลงพื้นที่ที่ได้คัดเลือกไว้ 

ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร อุดรธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ เชียงราย ลำปาง กำแพงเพชร พิษณุโลก ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช และสงขลา

โดยจ. นครราชสีมาเป็นจังหวัดแรกที่จะดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 22 - 25 มิ.ย. นี้ 

ร้านธงฟ้าประชารัฐ-ธงฟ้าประชารัฐ-บัตรคนจน

ช่วยหาธุรกิจแฟรนไซส์ ใช้เงินลงทุน ไม่เกิน 1-5 หมื่นบาท

สำหรับเงินลงทุนเลือกซื้อแฟรนไชส์ในโครงการฯ นี้ มีตั้งแต่ 10,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือผู้ที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์แต่มีเงินไม่มากสามารถเลือกลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการได้ 

ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้ประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินร่วมให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราพิเศษ ผู้กู้สามารถชำระคืนเงินต้นได้แบบสบายๆ ไม่กดดัน

ส่วนผู้ที่สนใจเลือกแฟรนไชส์ไปประกอบอาชีพแล้ว แต่ยังไม่มีทำเลหรือสถานที่ขายสินค้า กรมฯ ได้ประสานงานกับปั้มน้ำมันบางจาก เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ในการจัดหาพื้นที่ขายสินค้าให้ ซึ่งรายละเอียดการจัดสรรพื้นที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสินค้าแต่ละประเภท โดยจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เลือกซื้อแฟรนไชส์ และมั่นใจว่าแฟรนไชส์ที่ได้เลือกลงทุนจะมีสถานที่จำหน่ายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ก่อนการเปิดตัวโครงการ 'แฟรนไชส์สร้างอาชีพ' อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มิ.ย. นี้ กรมฯ จะได้เชิญแฟรนไชส์จำนวน 100 แบรนด์ ที่เข้าร่วมโครงการฯ มาซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ พร้อมทั้งให้ความรู้ถึงกลยุทธ์การขยายธุรกิจและการดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ลงทุนในแฟรนไชส์ และจะรับสมัครผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน เข้าร่วมสัมมนาสร้างอาชีพด้วยแฟรนไชส์ ระหว่างวันที่ 13 - 14 มิ.ย. นี้ 

รวมทั้งจะมีการออกบูธแสดงธุรกิจ จำนวนกว่า 100 บูธ เพื่อให้ผู้สนใจเข้าร่วมเลือกซื้อธุรกิจและสินค้าจากเจ้าของแฟรนไชส์โดยตรงในราคาสุดพิเศษ


"คาดว่าหลังเสร็จสิ้นโครงการจะสร้างอาชีพได้กว่า 20,000 ราย และมีเงินสะพัดพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้กว่า 2,000 ล้านบาท"นางกุลณี กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :