ไม่พบผลการค้นหา
อดีตกรรมการ ป.ป.ช. แนะรื้อคดีสลายชุมนุม นปช.ให้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยยื่นร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตั้งกรรมการไต่สวนสั่งฟ้องคดีดังกล่าวตาม รธน.ปี 2550

นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ระบุถึงแนวทางการสู้คดีสลายการชุมนุม นปช. หลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกคำร้องรื้อฟื้นคดีดังกล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่เห็นพยานหลักฐานใหม่ จึงมียืนตามมติเมื่อปี 2558 ไม่สั่งฟ้อง โดยมีใจความว่า มองการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล ผู้ชุมนุมบางรายมีอาวุธ จึงให้ทหารเข้าควบคุมขอคืนพื้นที่โดยสามารถพกอาวุธและใช้ได้ตามความสมควรและจำเป็น แต่สิ่งที่ปรากฎออกมาคือมีผู้เสียชีวิตมากถึง 99 ศพ 

“แต่ส่วนตัวเห็นว่า ถึงแม้จะมีผู้ชุมนุมบางรายมีอาวุธ แต่การใช้อาวุธสงครามสลายการชุมนุมก็ยังหนักเกินความจำเป็นอยู่ดี ตามกฎหมายอาญาเจ้าหน้าที่จะใช้อาวุธได้ก็ต่อเมื่อต้องมีการต่อสู้ ไม่ใช่อีกฝ่ายมีอาวุธแล้วก็ประหารได้เลย คดี 99 ศพจึงยังจบไม่ได้ ผู้บริหารประเทศไม่มีสิทธิประหารใคร"

สำหรับแนวทางการสู้ต่อตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288-4289/2560 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2560 ที่ระบุตอนหนึ่งระบุว่า ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตามคำฟ้องและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เพื่อร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระขึ้นมาพิจารณาสั่งฟ้อง คดี 99 ศพ ส่วนตัวยังคงคาใจอยู่ 2 ข้อคือ 1.ทำไมต้องใช้อาวุธร้ายแรงเหมือนอยู่ในราชการสงคราม และ2.ทำไมจึงใช้ทหารไม่ใช้ตำรวจที่ถูกฝึกมาให้ควบคุมสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะ การนำมาเทียบเคียงกับคดีสลายการชุมนุมพันธมิตร ที่ป.ป.ช.เห็นว่า การใช้ตำรวจไม่เป็นไปตามหลักสากลนั้นคนละเรื่องกัน เหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 ตำรวจได้ใช้มาตราการจากเบาไปหาหนักนั้นเป็นไปตามหลักสากลแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง