ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเมียนมาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 114 บาท หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่สัญญาไว้ แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศกว่า 2 ปีแล้ว

รัฐบาลเมียนมาประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาอยู่ที่ 4,800 จ๊าตหรือประมาณ 114 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 33 หลังจากที่ไม่มีการขึ้นค่าแรงมาตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งรัฐบาลของนายเต็ง เส่ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมาที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำขึ้นครั้งแรกในประเทศ โดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำนี้จะถูกบังคับใช้กับธุรกิจทั่วประเทศที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีขึ้นในช่วงที่ รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของเมียนมาเติบโตได้เท่าที่ควร ทั้งที่รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนชุดแรกหลังเปิดประเทศ บริหารประเทศมากว่า 2 ปีแล้ว และนางซูจีก็เคยให้สัญญาว่า เธอจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา

นักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลนางซูจีล้มเหลวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่สามารถผ่านกฎหมายที่เอื้อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น อีกทั้งยังไม่มีวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลของนางซูจี เพราะไม่เห็นการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟระบุว่า ปี 2017 เศรษฐกิจของเมียนมาเติบโตช้า ทำให้จีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 5.9 เท่านั้น แต่คาดว่า จีดีพีจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.7 ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนนางซูจีก็มองว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินรัฐบาลพลเรือนชุดแรกที่ต้องมาแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจที่ย่ำแย่หนักมาหลายสิบปีในยุครัฐบาลทหาร โดยนายฌอน เทอร์เนล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนางซูจีกล่าวว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างมากในการจัดการปัญหาเงินเฟ้อ หนี้สาธารณะ และงบขาดดุลสะสมที่รัฐบาลทหารทำไ���้ รายได้เฉลี่ยของประชากรในเมียนมา อยู่ที่ประมาณ 36,700 บาทต่อหัวต่อปี และ 19 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของประชากรว่า 51 ล้านคนของเมียนมาอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน แต่ค่าแรงที่ถูกก็สามารถดึงดูดให้มีการลงทุนและตั้งโรงงานในเมียนมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของเมียนมาย่ำแย่ และอาจทำให้นักลงทุนไม่อยากเข้าไปลงทุนในเมียนมาได้เช่นกัน