ไม่พบผลการค้นหา
รองโฆษกกระทรวงการคลัง แจงรายงานธนาคารโลก จัดแบ่งคนจนออกเป็น 5 ขั้นตามระดับรายได้ ชี้ประเทศไทยไม่มีคนจนมากแล้ว ส่วนผู้มีรายได้น้อยในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อยู่ในกลุ่มผู้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามนิยามธนาคารโลก ย้ำโครงการบัตรคนจนเฟส 2 หวังยกระดับคนจนไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานเรื่อง "Riding the Wave : An East Asian Miracle for the 21 Century" ที่ระบุว่า ประเทศไทยจัดอยู่กลุ่มเดียวกับมาเลเซีย ซึ่งเริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่งแล้วนั้น เกิดจากธนาคารโลกได้แบ่งชั้นความยากจน ตามระดับรายได้ ออกเป็น 5 ขั้น

ได้แก่ ขั้นที่ 1 คือคนจนมาก เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 24 บาทต่อวัน ซึ่งคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนและค่าครองชีพของประเทศไทย ขั้นที่ 2 คือ จนปานกลาง หรือมีรายได้วันละ 24-38 บาท ขั้นที่ 3 คนที่เสี่ยงว่าจะจน คือมีรายได้วันละ 38-68 บาท ขั้นที่ 4 กลุ่มที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รายได้วันละ 68-184 บาท และขั้นที่ 5 ชนชั้นกลาง มีรายได้มากกว่า 184 บาทต่อวัน 

สำหรับประเทศไทย รองโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า คนจนมาก หรือ Extreme Poor ที่มีรายได้ไม่ถึงวันละ 24 บาท ไม่มีแล้ว ส่วนกลุ่มที่อยู่ในขั้นที่ 2 ที่เรียกว่า คนจนปานกลาง มีประมาณร้อยละ 0.8 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ประมาณ 5 แสนคน) 

ขณะที่ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 11.4 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท เทียบกับนิยามของธนาคารโลก นับว่าอยู่ในขั้นที่ 4 คือ เป็นคนที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ภาครัฐคาดหวังคือ การผลักดันคนกลุ่มนี้ให้ขึ้นไปมีรายได้ในกลุ่มชนชั้นกลาง คือรายได้มากกว่าวันละ 184 บาท หรือประมาณ 46,000 บาทต่อคนต่อปี  

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของธนาคารโลก ได้ชี้ว่า ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามความยากจนมาได้ด้วยนโยบายรัฐใน 3 ด้าน ได้แก่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้คนจนสามารถมีรายได้สูงขึ้น ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านกลไกประกันสังคม ประกันสุขภาพถ้วนหน้า /และการใช้เครื่องมือทางการเงินลดความเหลื่อมล้ำ  

ส่วนจะการทำให้คนไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่การเป็นประเทศที่ร่ำรวย ซึ่งมีนิยามคือประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 12,500 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี หรือประมาณ 4 แสนบาทต่อคนต่อปี จากปัจจุบันคนไทยมีรายได้เฉลี่ย 6,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี นั้นยังเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอยู่