ไม่พบผลการค้นหา
รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง–บางแค และ ช่วงเตาปูน–ท่าพระ ชี้งานโยธาคืบหน้าร้อยละ 99.26 คาดช่วงหัวลำโพง-บางแค เปิดให้บริการภายใน ก.ย. 2562 ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ คาดเปิดบริการภายใน มี.ค. 2563

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และ ช่วงเตาปูน – ท่าพระ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้กล่าวสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ว่าปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561) การดำเนินงานก่อสร้างงานโยธา มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 99.26

โดยการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้านั้นได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า บริหารจัดการการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ปัจจุบันมีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 53.58 ช่วงที่ 1 สถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน รฟม. ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว

สำหรับช่วงที่ 2 สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง มีความก้าวหน้าร้อยละ 55.29 และช่วงที่ 3 สถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ มีความก้าวหน้าร้อยละ 48.54 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้โครงการมีความพร้อมสำหรับเปิดให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งได้กำหนดช่วงการเปิดให้บริการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เปิดเดินรถ ช่วงหัวลำโพง-บางแค ภายในเดือนกันยายน 2562 และระยะที่ 2 การเปิดเดินรถ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ภายในเดือนมีนาคม 2563 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ มีระยะทางรวมประมาณ 27 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 21.5 กม. และโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 5.4 กม. มีสถานียกระดับ 15 สถานี และสถานีใต้ดิน 4 สถานี มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) ที่สถานีหัวลำโพงไปบางแค และที่สถานีบางซื่อไปท่าพระ โดยมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม หรือ Interchange Station ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกท่าพระคร่อมอุโมงค์ทางลอดและสะพานข้ามแยกท่าพระ มี 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นออกบัตรโดยสาร (ชั้นจำหน่ายตั๋ว) ชั้นชานชาลาของสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – หลักสอง และชั้นชานชาลาสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน – ท่าพระ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่องทั้งระบบแล้วจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีที่สมบูรณ์และสามารถเดินทางเป็นวงกลมรอบกรุงเทพมหานครได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :