ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการดับฝันชาวสวนยางฯ ฟันธง !! อีก 10 ปี ราคายางไม่มีทางถึงกิโลละ 100 บาท เหตุยางล้นตลาดโลก ขณะที่รัฐบาลล้มเหลว 3 ปี คุมพื้นที่ปลูกยางไม่ได้ ทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูกยางฯสูงกว่า 20 ล้านไร่

การยื่นหนังสือของเกษตรกรเครือข่ายชาวสวนยางฯ ทั่วประเทศ ทั้งภาคใต้ เหนือ อีสานให้ปลดผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท) ออกจากตำแหน่งเพราะ ไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางได้ 

ในช่วง3 ปีที่ผ่านมา ราคายางฯ มีแต่ดิ่งเหว ไม่มีทีท่าจะโผล่หายใจได้เลย โดยล่าสุดการยางแห่งประเทศไทยรายงานราคายางแผ่นอยู่ที่กิโลละ 40-45 บาท

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครือข่ายชาวสวนยางออกมาขู่เคลื่อนไหวใหญ่ หรือ ถามหาความรับผิดชอบของผู้บริหารต่อปัญหาราคายางตกต่ำ

หากลองย้อนกลับไปในช่วงของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้เคยถือป้ายประท้วงจี้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบราคายางด้วยประโยคที่ว่า

“ราคายางฯไม่ถึง 120 บาทให้ลาออกไป” แต่กระทั่งวันนี้ รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านมากว่า 3 ปี ราคายางยังไม่เคยถึง 100 บาทด้วยซ้ำไป 

หรือจะ“หมดยุค ราคายางกิโลละ100 บาท!!!”

ความเห็นที่ตรงกันของนักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร คือ หมดยุคทองของสินค้ายางพาราในเมืองไทยไปนานแล้ว แต่หน่วยงานรัฐและเกษตกรยังไม่ปรับตัว


ต้องยอมรับความจริง ราคายางไม่มีทางถึงกิโลละ100 บาท

“เกษตกรต้องยอมรับความจริง ราคายางไม่มีทางถึงกิโลละ 100 บาท” 

วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่า แม้จะขับไล่ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ออกไปได้ ก็ไม่ได้ช่วยให้ราคายางพาราดีขึ้นมากนัก เพราะแนวโน้มราคายางพาราไม่น่าจะสูงขึ้นได้เท่าเดิมคือ กิโลกรัมละ 100-120 บาทอย่างที่เคยขายกันได้

และยิ่งมองไปข้างหน้ายิ่งไม่เห็นปัจจัยที่จะทำให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมันไม่ได้สูงอย่างที่เคยเป็น

ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เคยใช้ยางพาราจำนวนมาก ก็มีแนวโน้มลดการใช้ลงเพราะเทคโนโลยีที่ดีขึ้น การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าออกสู่ตลาดทำให้เครื่องยนต์เบาจนล้อรถยนต์ไม่จำเป็นต้องใช้ยางพาราฯจำนวนมากเช่นเดิมอีกต่อไป

“ถึงเวลาที่เกษตกรต้องยอมรับความจริง “ วิโรจน์ ย้ำอีกครั้ง พร้อมกับบอกว่า ต่อให้รัฐบาลใช้งบประมาณสนับสนุนก็อาจจะไม่ช่วยพยุงราคาได้ 

ที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในการพยุงราคายางฯและซื้อยางพาราเข้ามาเก็บในสต๊อกกว่า 5 แสนตัน แต่ไม่สามารถระบายออกไปได้ เนื่องจากผลผลิตน้ำยางพาราในตลาดโลก ทั้ง จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา มีจำนวนล้นตลาด


เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ราคายางถึงกิโลฯละ100บาท

“เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ราคายางถึงกิโลฯ ละ 100 บาท แค่ประคองให้ถึงกิโลฯ ละ 50-60 บาทก็เก่งมากแล้ว”

ผู้เชี่ยวชาญยางพาราฯ อย่าง สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ บอกว่า โอกาสในช่วง 10 ปีนี้ แทบจะมองไม่เห็นปัจจัยเลยว่าจะทำให้ราคายางฯ ถึง 100-120 บาทได้อย่างไร เอาแค่ทำให้กิโลกรัมละ50-60 บาทก็ถือว่าดีมากแล้ว

อาจารย์สมพร บอกว่า ตลาดยางพาราเป็นของผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ขาย โดยเฉพาะเมื่อปริมาณน้ำยางล้นตลาดขณะที่ผู้ซื้ออย่างจีนชะลอการซื้อลง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถานการณ์ราคายางในช่วง 2-3 ปีนี้ ราคาลดลงต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่า ราคาขายในตลาดกลางลดลง 10% ขณะที่ราคาขายของเกษตรกรลดลง 20% ทำให้ราคายางช่วงนี้จะแตะระดับอยู่ที่ 40-44 บาท

ปัญหาที่เกษตรกรเรียกร้องเรื่อง การบริหารจัดการของ ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการการยางฯ จึงเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งของกลไกราคาเท่านั้น แม้จะขับไล่ออกไปก็ไม่ได้ช่วยให้ราคายางเพิ่มมากขึ้นนัก

อาจารย์สมพร เห็นว่า ปัจจัยเรื่องผู้ว่าการยางฯ และ พ.ร.บ.การยางฯ 2558 ที่รวม 3 องค์กรยางที่เป็นหน่วยงานราชการอาจไม่ถนัดเรื่องของกลไกราคายางอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการกระตุ้นราคาแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก

ขณะที่งบประมาณการสนับสนุนราคายางของรัฐบาลที่มีจำนวนไม่มาก ทำให้เกิดปัญหาไม่เท่าเทียมในการเปิดตลาดซื้อขาย จนกลายเป็นปัญหาร้องเรียนของเกษตรกรเรื่องความไม่เท่าเทียม หรือเลือกปฏิบัติ เนื่องจากไม่สามารถเปิดได้ทุกตลาด

แต่กระนั้นก็ตาม อาจารย์สมพร บอกว่า แม้จะนำเงินงบประมาณมาพยุงราคายางพารา ก็อาจจะช่วยพยุงราคายางฯไม่ได้ เพราะขณะนี้ดีมานด์ หรือ ความต้องการซื้อมีน้อยกว่า ซัพพลายคือความต้องการขายล้นตลาดโลก

“ในช่วงปี 2554 ที่เกษตรกรขายได้ราคากิโลกรัมละ 120 บาทนั้น เกิดจาก จีนมีความต้องการซื้อมากเพราะต้องการใช้ยางในการเป็นเจ้าภาพแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งโอกาสแบบนั้นคงจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว”

ราคายางพาราที่ดิ่งลงเรื่อยๆ จึงดูเหมือนความพยายามทำให้ราคายางเพิ่มมากขึ้นของรัฐบาลประยุทธ์ในช่วง 3 ปีล้มเหลวไม่เป็นท่า โดยเฉพาะการลดจำนวนพื้นที่ปลูกยางพาราลง

นับตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ประกาศลดพื้นที่ปลูกยาง ด้วยการโค่นยางเก่าปีละ 4 แสนตัน รวม 1 ล้านไร่ เพื่อลดปริมาณซัพพลายยางในปลายปี 2558/59 รวม 1.5 - 2 แสนตัน 


รัฐบาลไม่สามารถคุมพื้นที่ปลูกยางฯได้เลยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาแล้วกว่า 3 ปีนอกจากพื้นที่สวนยางไม่ลดลงแต่กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยจะเห็นจากข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่าพื้นที่ปลูกยางพาราในปี 2557 จำนวน 18.2 ล้านไร่ และในปี 2559 และปี 2560 เพิ่มขึ้นอีก เป็น 20.61 ล้านไร่

ขณะที่การควบคุมปริมาณน้ำยางพาราที่เดิมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรผลิตน้ำยางได้เพียง 2 ล้านตัน แต่ปัจุบันมีปริมาณน้ำยางพาราสูงถึง 4.4 ล้านตัน 

การพยุงราคายางให้สูงขึ้นจึงดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยในช่วง 10 ปีนี้ ซึ่งอาจารย์อาจารย์สมพร เสนอว่า ต้องสร้างความสมดุลของตลาดคือ ลดปริมาณการปลูกและควบคุมต้นทุนพร้อมทั้งหาเทคโลโนยีใหม่มาช่วยเกษตรกร ส่วนในระยะยาวเกษตรกรเองอาจจะต้องปรับตัวปลูกพืชที่หลากหลากหลายมากขึ้น โดยการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอย่างจริงจังจากรัฐบาล