ไม่พบผลการค้นหา
ศาลยกฟ้อง 'หฤษฏ์' นักเคลื่อนไหวทางการเมือง คดีหมิ่นสถาบัน ชี้พยานโจทก์เป็นเเค่พยานบอกเล่า ยังฟังไม่ได้ เจ้าตัวยันไม่ฟ้องกลับเชื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ทำตามคำสั่ง 'วิญญัติ' ทนายความ พร้อมแก้อุทธรณ์หากอัยการสู้ต่อ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 15 มีนาคม 65 ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา คดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.3064/2562 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ฟ้อง หฤษฏ์ มหาทน อายุ 31 ปี และ ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ อายุ 48 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานดูหมิ่น สถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 

กรณีเมื่อระหว่างต้นเดือน ม.ค.2559 ถึงวันที่ 27 เม.ย.2559 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบังอาจพิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบกัน เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตลงในเว็บไซต์ www.facebook.com ชื่อบัญชี Harit Nahaton ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 และชื่อบัญชีวรารัตน์ เหม็งประมูล ซึ่งเป็นของจําเลยที่ 2 โดยจําเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่งคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อบุคคลที่สามได้อ่านข้อความ ย่อมเข้าใจได้ว่า สถาบันเบื้องสูง สนับสนุนให้มีการยึดอานาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.)และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ 

การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท และโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหาย หรือโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนและผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

เหตุเกิดที่ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักรต่อเนื่องกันโจทก์ขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ,83 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่41 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

จำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว ซึ่งระหว่างการพิจารณา น.ส.ณัฏฐิกา จำเลยที่ 2 ได้หลบหนี โดยลี้ภัยไปอยู่ประเทศสหรัฐฯ ศาลจึงจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว 

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความ และพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้ว เห็นว่า พล.อ.วิจารณ์ จดแตง พยานโจทก์ ที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับพวก เบิกความ ว่า ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ แต่ไม่รู้เห็นเหตุการณ์ การกระทำของจำเลยทั้งสองโดยตรง ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่า เป็นการรับฟังข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นศาลจึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ โดยไม่มีผู้ใดยืนยันว่า ใครเป็นคนจัดทำข้อมูลเอกสารต่าง ๆในคดี และโจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่า เป็นเฟซบุ๊ก ของจำเลยจริงหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมา จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง 

ภายหลังฟังคำพิพากษา หฤษฏ์ กล่าวว่า ขอบคุณศาลที่ฟังพยานหลักฐานและตัดสินอย่างยุติธรรม และขอบคุณพยานที่มาให้การอย่างเป็นกลางรวมทั้งทนายความด้วย ซึ่งคดีนี้ใช้เวลาต่อสู้นานเกือบ 6 ปี และดีใจที่ระหว่างต่อสู้คดีตนได้รับการประกันตัว ไม่เช่นนั้นคงต้องต่อสู้คดีอยู่ในเรือนจำ ซึ่งมีผู้ต้องหาและจำเลยหลายคนในคดีต่างๆ ที่ประกันตัวไม่ได้ และสูญเสียอิสรภาพ และจากการถูกดำเนินคดีทำให้เสียชื่อเสียง อยากให้สังคมมองอย่างเข้าใจว่า แม้ตำรวจและอัยการจะฟ้องดำเนินคดี แต่ศาลอาจจะยกฟ้องก็ได้

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อยากจะทำคดีนี้ เพียงแต่ทำตามคำสั่ง จึงจะไม่ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ในคดีนี้ ส่วนบทสนทนาในคดีนี้จะมีอยู่จริงหรือไม่ ก็เป็นไปตามที่ศาลได้พิพากษาไว้แล้ว 

ด้าน วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกล่าวว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 คือ หฤษฏ์ ส่วนจำเลยที่สองลี้ภัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสองถูกอ้างว่า ไปตรวจสอบข้อความในแมสเซ็นเจอร์ (ข้อความแชท) ในเฟซบุ๊ก ซึ่งถือว่าเป็นห้องส่วนตัว แต่ทางฝ่ายความมั่นคงทหารอ้างว่า สามารถเข้าถึงได้โดยการรับรหัสและจึงคัดลอกข้อความสนทนาดังกล่าวมา ซึ่งมีการซักถามและเกิดขึ้นในค่ายทหาร มาแจ้งความดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 112 กับจำเลยทั้งสอง โดยไปขออายัดตัวทั้งสองคนที่เรือนจำ ต่อจากคดีอื่นที่กำลังจะได้รับปล่อยตัวชั่วคราว แล้วฟ้องร้องต่อศาลทหารเมื่อปี 2559 และคดีไม่คืบหน้า

จนกระทั่งปี 2562 มีคำสั่งจากหัวหน้า คสช.ให้โอนคดีมาศาลยุติธรรม โดยศาลอาญารับคดีนี้ไว้พิจารณาและพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่เชื่อพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ซึ่งได้พยานหลักฐานมาจากการดำเนินการซักถามในค่ายทหาร ซึ่งฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าได้รับรหัสเฟซบุ๊กจากจำเลยทั้งสอง แต่ทั้งสองคนก็ปฎิเสธว่าไม่ได้ให้รหัสแต่อย่างใด แล้วโจทก์ไม่สามารถมายืนยันรหัสและพิสูจน์ในชั้นศาลได้ว่ามีการได้รหัสมาจริงหรือไม่ จึงส่งผลต่อการรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารที่เป็นข้อความแชท แต่ไม่ใช่ไฟล์ดิจิทัล เราจึงพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ข้อความที่เป็นคัดลอกมาเป็นเอกสารมีการเรียบเรียงหรือต่อตัดใหม่ และได้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มาเบิกความสนับสนุนด้วยว่าการเปลี่ยนรูปและโปรไฟล์สามารถทำได้หรือไม่ ศาลได้รับฟังประกอบกับการถามค้านพยานต่างๆ เห็นว่าพยานที่รับฟังมาเป็นพยานบอกเล่า ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันเหตุการณ์ได้ทั้งหมด จึงพิพากษายกฟ้อง

ซึ่งหากอัยการจะยื่นอุทธรณ์ ทางเราก็พร้อมจะแก้อุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้ทางอัยการ พิจารณาถึงสิทธิของจำเลยด้วยความเป็นธรรมด้วย