ไม่พบผลการค้นหา
"สุนัย" ชี้ "รัฐบาลเน่า" จากภาพแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรี "พลังประชารัฐ" รุกการเมืองท้องถิ่น สถาปนา "ระบอบประยุทธ์" เพราะกลัว "อนาคตใหม่"

นายสุนัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมีการแย่งชิงตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ขณะนี้ว่า ภาพที่ออกมาไม่ได้เป็นรัฐบาลที่สะอาด เป็นภาพที่เน่า ไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่ คสช.ใช้เป็นเหตุผลในการทำรัฐประหาร โดยเสถียรภาพจากการที่มีพรรคการเมืองเข้ามาเป็นส่วนผสมจำนวนมาก ทำให้ต้องเกลี่ยตำแหน่งกัน ซึ่งการเกลี่ยตำแหน่งทำให้การต่อรองของพรรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมีสูง จนต้องกลับมาตั้งคำถามกับพรรคพลังประชารัฐว่าจะผลักดันนโยบายของตนเองได้หรือไม่ 

ในขณะที่สัดส่วนคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อตัดคะแนนเสียงของวุฒิสภาออกไปเสียงนั้น อยู่ในสภาพปริ่มน้ำ หากผิดใจกันเพียงนิดเดียวก็จะมีงูเห่าเกิดขึ้นส่งผลให้รัฐบาลไปไม่รอด ท่ามกลางความยำเกรงต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะนี้เสื่อมคลายลงไปมาก เพราะฉะนั้นนอกจากจะเจอความท้าทายจากการอภิปรายในช่วงการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อเข้ามาบริหารประเทศที่จะมีการจัดหนักในสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นหลายเท่า และจะมีการตรวจสอบจากภายนอกสภาฯ ทั้งสื่อมวลชน กลุ่มการเมืองต่างๆ นี่จึงเป็นสภาพที่ทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาพง่อนแง่นเป็นอย่างมาก

นายสุนัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเครือข่ายของ คสช.ต้องการสืบทอดอำนาจในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตั้งข้อหานักการเมือง โดยอ้างว่าเป็นการปราบทุจริต ตรวจสอบการประพฤติมิชอบ ซึ่งในช่วงตอนต้นการรัฐประหารได้ทำกับนักการเมืองระดับชาติ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบีบให้นักการเมืองระดับชาติมาเข้าค่ายของพรรคพลังประชารัฐ เป็นแนวร่วมของ คสช. ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงของการเลือกตั้งที่ผ่านมา 

"มียุทธวิธีดังกล่าวกับการเมืองระดับท้องถิ่น โดยนักการเมืองท้องถิ่นถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ถูกแขวนโดยใช้มาตรา 44 เหมือนกับการเอามีดมาจ่อที่คอเพื่อให้ย้ายค่าย ซึ่งในตอนนี้เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ทันทีที่มีการส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้น จึงใช้มาตรา 44 ที่เคยใช้เป็นมีดจ่อคอนักการเมืองท้องถิ่น โดยนำมีดดังกล่าวออกจากคอ แต่ต้องแลกเปลี่ยนในทางการเมือง จึงเป็นความพยายามในการสร้างแต้มต่อล่วงหน้า ให้ขาใหญ่ ขาประจำ ที่คุมการเมืองระดับท้องถิ่นให้อยู่ในเครือข่ายของ คสช.และพลังประชารัฐ ส่วนพรรคการเมืองอื่นต้องตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเป็นบรรยากาศคล้ายกับการเมืองระดับชาติ" นายสุนัย กล่าว

นายสุนัย กล่าวย้ำว่า การเมืองไทยมีปัจจัยเรื่องเครือญาติอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อบีบส่วนใดส่วนหนึ่งในเครือข่ายเครือญาติจะกระทบทั้งก๊วน วิธีนี้ถูกนำมาใช้ในพื้นที่หลายจังหวัด มีการเจาะจงระดับรายบุคคลเพื่อเป็นฐานเสียง โดยให้อยู่ในอาณัติตลอดไป ไม่ยอมให้หลุดมือ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่ากลัว เป็นการสถาปนา "ระบอบประยุทธ์" โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้การดำเนินคดี การกล่าวหาทางการเมืองด้วยการใช้อำนาจมาตรา 44 ทำให้เกิดกระบวนการเมืองที่ต้องยอมสวามิภักดิ์ให้กับเครือข่ายของพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ

นายสุนัย ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ชัยชนะที่เหนือความคาดหมายของพรรคอนาคตใหม่ในหลายพื้นที่ สะท้อนว่าการจัดตั้งไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ได้รับชัยชนะในระดับท้องถิ่นอีกต่อไป มีเรื่องของค่านิยมทางอุดมการณ์ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นปัจจัยขึ้นมา พรรคอนาคตใหม่ซึ่งประกาศชัดเจนว่าจะลงการเมืองท้องถิ่น จึงกลายเป็นเหมือนปัจจัยกระตุ้นสร้างความวิตกกังวลให้กับเครือข่าย คสช. และพรรคพลังประชารัฐ เกิดการท้าทายขึ้น

ขณะที่เครือข่าย คสช.และพรรคพลังประชารัฐใช้การเมืองแบบเดิม อาศัยระบบหัวคะแนน ระบบกลุ่มก๊วนต่างๆ แต่ฝ่ายพรรคอนาคตใหม่ใช้เรื่องอุดมการณ์ ความหวังของคนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะเห็นการแข่งขันระหว่างการเมืองแบบเก่ากับการเมืองแบบใหม่