ไม่พบผลการค้นหา
ธุรกิจยุคใหม่จำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่ 'เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม' ขณะองค์กรควรให้ความสำคัญกับ 'ข้อมูล' ไม่น้อยไปกว่า 'ประสบการณ์'

2562 เป็น พ.ศ. ที่เต็มไปด้วย 'การแทรกแซง' 'ปัญญาประดิษฐ์' 'หุ่นยนต์' 'คลาวด์' และคำศัพท์เทคโนโลยีอีกมากมายที่สื่อนำเสนอออกมาไม่หยุดหย่อน ล่าสุดภายในงาน Krungsri Business Forum 2019 ประชาชนโดยเฉพาะภาคธุรกิจจำเป็นต้องรู้จักศัพท์ใหม่อีกหนึ่งคำ

'เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม' หรือ Platform Economy ตามคำจำกัดความของ 'ศุภจี สุธรรมพันธ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล คือ การเป็นผู้ให้บริการจับคู่ธุรกิจทางดิจิทัล โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินค้าหรือเนื้อหาที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันอยู่บนแพลตฟอร์มนั้นๆ 

กรุงศรี
  • 'ศุภจี สุธรรมพันธ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล

'อาลีบาบา' ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในโลก 'อูเบอร์' ผู้ให้บริการเรียกรถรายใหญ่ที่สุดในโลก 'แอร์บีแอนด์บี' ผู้ให้บริการที่พักรายใหญ่ที่สุดในโลก และ 'เฟซบุ๊ก' ผู้ให้บริการด้านโซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่สุดในโลก คือตัวอย่างของบริษัทที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าหรือบริการของตนเองแม้แต่อย่างเดียว แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล

'แจ็ค จาง' รองประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่บริษัททำคือการเป็นตลาดออนไลน์ที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันได้ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะอยู่ส่วนไหนของโลก ประสบการณ์เช่นนี้เป็นการสร้างนิสัยให้ผู้บริโภคต้องพึ่งพิงแพลตฟอร์ม



กรุงศรี
  • 'แจ็ค จาง' รองประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด

รูปแบบธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ลาซาด้ามีผู้ใช้งานถึง 50 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประมาณร้อยละ 8 ของจำนวนประชากรทั้งภูมิภาค เข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกเดือน และยังมีอัตราการเติบโตของแพลตฟอร์มจากเดือนมิถุนายน 2561 - มิถุนายน 2562 สูงถึงร้อยละ 128 

'ข้อมูล' สำคัญกว่า 'ประสบการณ์'

ความสำเร็จของบริษัทข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากธาตุอากาศ ทุกรายล้วนยืนอยู่บนตัวแปรสำคัญอย่าง 'ข้อมูล' และไม่ใช่แค่ตัวข้อมูลเท่านั้นที่ต้องดี การจัดเก็บ การบริหาร รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้จำเป็นต้องถูกนำมาคิดด้วย

'ทิม ไชแนน' ผู้อำนวยการ Google Cloud ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า 'ข้อมูล' เป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มาตลอดเพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมาสร้างมูลค่าเหมือนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาไปข้างหน้า 'ข้อมูล' จึงกลายเป็นทรัพยกรที่มีคุณค่ามหาศาลเพราะสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้



กรุงศรี
  • 'ทิม ไชแนน' ผู้อำนวยการ Google Cloud

ล่าสุด 'ยูทูบ' ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับคอนเทนต์วิดีโอ เพิ่งเปิดตัว 'YouTube Music' เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมาในประเทศไทย โดยนำเสนอจุดขายของแอปพลิเคชันว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ของแอปพลิเคชันสามารถแนะนำเพลงให้ผู้ใช้บริการได้ตรงใจมากขึ้น และอาจมากจนเราตกใจ

อัลกอริทึมของยูทูบไม่ได้จดจำแค่สไตล์เพลงที่ผู้ใช้งานชอบ แต่ยังเรียนรู้จากข้อมูลว่า ณ ช่วงเวลานี้ผู้ใช้งานกำลังทำกิจกรรมอะไร หากอยู่ระหว่างการทำงานก็จะแนะนำเพลงที่มีจังหวะดนตรีไม่หนักมาก ขณะที่หากผู้ใช้งานอยู่ในสวนสาธารณะระบบจะแนะนำเพลงที่มีจังหวะสนุกขึ้นเพราะมีการเรียนรู้ว่าผู้ใช้งานกำลังออกกำลังกายอยู่ โดยทุกอย่างเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ 

'ทิม' อธิบายเพิ่มเติมว่า พนักงานในบริษัทกูเกิลได้รับการเคารพและมีสิทธิเท่าเทียมในการนำเสนอความคิดเห็นมาจากวัฒนธรรมองค์กรที่เน้น 'ข้อมูล' เป็นหลัก ไม่ได้มองว่าพนักงานคนไหนมีประสบการณ์มากกว่ากัน เพราะ 'ข้อมูล' มักผิดพลาดน้อยกว่า 'ประสบการณ์'

อย่างไรก็ตาม 'ทิม' เตือนว่า 'ข้อมูล' ก็สามารถถูกนำไปใช้ในทางไม่สร้างสรรค์ได้ บางกรณีอาจถูกนำไปใช้เพื่อเป็นการสนับสนุนความคิดเห็นส่วนบุคคลไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่มีเหตุมีผลและองค์กรจำเป็นต้องกำจัดวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นอคติเหล่านั้น

'ศุภจี' สรุปในตอนท้ายว่า การเข้าสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ประกอบการที่มองออกว่าธุรกิจของตนนั้นยืนอยู่ตรงไหนและจะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศดังกล่าวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของตนอย่างไร เช่นเดียวกับการปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ ผู้ประกอบการต้องรับแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่นเดียวกัน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :