ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลจีนอาจพิจารณา 'ลดราคา' โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในมาเลเซียลงกว่าครึ่ง จากงบเดิม 20,000 ล้านดอลลาร์ หลังมาเลเซียประกาศว่าจะยกเลิกสัญญาก่อสร้างเพราะไม่อยากแบกรับภาระหนี้

มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศเมื่อวันอังคารที่ 29 ม.ค.2562 ว่า รัฐบาลของตนจะพิจารณายกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อชายฝั่งตะวันออกของประเทศ เพราะไม่อาจแบกรับภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการทำสัญญาระหว่างบริษัทสัญชาติจีนและอดีตรัฐบาลมาเลเซีย ภายใต้การนำของนาจิบ ราซัก อดีตนายกฯ ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งไปเมื่อปีที่ผ่านมา 

ขณะที่นายกฯ มหาเธร์ ประกาศหลังจากเข้ารับตำแหน่งแทนนาจิบได้ไม่นานว่า จะพิจารณาทบทวนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ส่วนกรณีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงฝั่งตะวันออกของมาเลเซียนั้น เดิมเป็นการทำสัญญากับบริษัท คอนแทร็กเตอร์ ไชน่า คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนสตรักชั่น หรือ CCCC กิจการสัญชาติจีน ซึ่งประเมินราคาก่อสร้างเอาไว้ที่ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่นายกฯ มหาเธร์ ระบุว่าเป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไป และหากจะต้องกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว เกรงว่าจะเกิดภาระหนี้ที่เกินกว่าจะบริหารจัดการได้

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวในประเทศจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ระบุว่า ถ้าการยกเลิกสัญญามีสาเหตุจากงบประมาณก่อสร้างเพียงอย่างเดียว บริษัท CCCC พร้อมจะเสนอปรับลดค่าใช้จ่ายให้กับรัฐบาลมาเลเซียประมาณลงครึ่งหนึ่งของราคาที่เสนอแต่เดิม ซึ่งจะครอบคลุมการก่อสร้างเส้นทางรถไฟกว่า 688 กิโลเมตรทางฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้ คือ เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้มีหลายฝ่ายเกินไป ทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน

รอยเตอร์รายงานว่า หากยึดตามตำแหน่งแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซียเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบดูแลงบประมาณในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง แต่นายกฯ มหาเธร์ยังได้แต่งตั้งให้ ดาอิม ไซนุดดิน ที่ปรึกษาส่วนตัวของตนเอง ร่วมรับผิดชอบโครงการดังกล่าวอีกรายหนึ่ง ทำให้การเจรจาหรือประสานงานระหว่างบริษัทจีนกับรัฐบาลมาเลเซียมีความยุ่งยาก เพราะต้องคุยกับผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน และการให้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานหลายครั้งก็ขัดแย้งกันเอง

มาเลเซีย.jpg
  • มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน ไม่เห็นด้วยกับการครอบงำของจีน

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมาเลเซียที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจึงพร้อมใจกันงดให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็มีแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ บอกกับเว็บไซต์เดอะสเตรทไทม์ส สื่อของสิงคโปร์ โดยระบุว่า รัฐบาลมาเลเซียไม่ได้คิดที่จะยกเลิกโครงการรถไฟฟ้าเป็นการถาวร เพราะแม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังพิจารณายกเลิก แต่แท้จริงแล้วมีการเจรจาวงปิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างคณะผู้แทนของทั้งสองประเทศ 

อย่างไรก็ตาม นายกฯ มหาเธร์ เคยกล่าวเอาไว้ว่า การลงทุนหรือดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ทั้งของรัฐบาลและเอกชนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในมาเลเซีย ต้องแสดงให้เห็นว่าแต่ละโครงการที่เข้ามาลงทุนนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศมาเลเซีย ไม่ใช่ประเทศที่เข้ามาลงทุนเป็นผู้ได้เปรียบ

ก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์และสื่อจากฝั่งตะวันตกประเมินว่า การที่จีนเข้ามาลงทุนในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของมาเลเซีย จะเป็นข้อต่อสำคัญให้จีนสามารถเชื่อมเส้นทางรถไฟจากจีนไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จตามเป้าหมายโครงการแถบและทาง (Belt and Road) ซึ่งปรับปรุงมาจากโครงการ 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' (One Belt One Road หรือ OBOR) และเป็นประโยชน์กับการขยายเศรษฐกิจของจีน ขณะที่มาเลเซียยังต้องตรวจสอบว่าการจัดซื้อจัดจ้างและทำสัญญาว่าจ้างโครงการเหล่านี้เป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ และถ้าหากว่ายกเลิกสัญญา มาเลเซียอาจเป็นฝ่ายที่ต้องจ่ายเงินชดเชยด้วย

เดอะวอชิงตันโพสต์เคยรายงานด้วยว่า ในอดีต มหาเธร์เป็นผู้ต่อต้านการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลในประเทศมาเลเซีย แต่ในสมัยของอดีตนายกฯ นาจิบ รัฐบาลโน้มเอียงไปทางประเทศจีนมากกว่า รัฐบาลของนายกฯ มหาเธอร์ในปัจจุบันจึงเป็นห่วงว่าจีนจะเข้ามาครอบงำมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากจีนขยายการก่อสร้างในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มาเลเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนในพื้นที่ดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: