ไม่พบผลการค้นหา
ประกาศขยายเวลาต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 6 มีผลในเดือน ต.ค. นี้ สอดรับกับการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือน ต.ค. เมื่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมนอกรัฐสภายังไม่เป็นผล ขณะที่อำนาจตุลาการจากศาลรัฐธรรมนูญก็เริ่มเข้ามาตรวจสอบการใช้สิทธิและเสรีภาพ

ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 6) ซึงลงนาม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 ได้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

เป็นการขยายอำนาจการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 - 31 ต.ค. 2563 

ประกาศดังกล่าวยังย้ำเหตุผลการต่ออายุครั้งที่ 6 ไว้ว่า "ในห้วงเวลาที่ผ่านมาปรากฏว่า สถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้น และมีคนต่างด้าวจ านวนมากลักลอบเดินทาง เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตผ่านช่องทางธรรมชาติ มิได้ผ่านช่องทาง ด่านตรวจ คนเข้าเมือง เขตท่า สถานีหรือท้องที่ ซึ่งต้องผ่านการตรวจคัดกรองด้านสาธารณสุข ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนโดยไม่ทราบแหล่งที่มาของโรคเพิ่มสูงขึ้นอันอาจทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างภายในประเทศได้"

"จึงยังมีความจำเป็นต้องควบคุมดูแลมิให้เกิดการระบาดในลักษณะดังกล่าว ขึ้นในประเทศอันจะส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขของประเทศ และต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศที่ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นไปโดยมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันต่อสถานการณ์โดยมุ่งรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ"

แม้จะมีความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่ก็เลี่ยงที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างต่อเนื่อง ยังคาบเกี่ยวกับการคุมเข้มสถานการณ์การเมืองร้อนบนท้องถนนด้วย

เพราะอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังคงอำนาจพิเศษไว้สามารถเอาผิดการชุมนุม มั่วสุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้

ยิ่งไล่ตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ม็อบนอกรัฐสภา ผ่านการเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอก คณะประชาชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้มีการยกระดับต่อเนื่องมาโดยตลอด ผ่านข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ด้วยการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ - ยุบสภา - ยุติการคุกคามประชาชน

ภาณุพงศ์ ธรรมศาสตร์ แฟลชม็อบ 1622599447796_n.jpg

พัฒนาการการชุมนุมไล่มาตั้งแต่ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 

ต่อเนื่องมาถึงการชุมนุมผ่านกิจกรรมแฟลชม็อบ "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ลานพญานาค ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 

ต่อเนื่องการชุมนุมภายใต้การนำของคณะประชาชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 โดยย้ำจุดยืนเดินหน้า 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ตอบสนองก็จะยกระดับการชุมนุมต่อไปในเดือน ก.ย.

"วันที่ 1 ธ.ค.นี้ต้องไม่มี ส.ว.ขี้ข้าเผด็จการ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเอา ส.ว.ออกไป เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 วาระรวดภายในเดือน ก.ย.นี้" อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ประกาศตอนหนึ่งผ่านเวทีปราศรัย 

อานนท์ แฟลชม็อบ ธรรมศาสตร์ สนามหลวง 533_8892870347735930248_n.jpg

ถัดจากนั้นมาเข้าสู่เดือน ก.ย. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็ยกระดับจัดกิจกรรม "19 ก.ย.ทวงอำนาจคืนราษฎร" ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเคลื่อนมวลชนมาปักหลักที่ท้องสนามหลวง 1 คืน 

พอถึงย่ำรุ่งเช้ามืดวันที่ 20 ก.ย. 2563 ก็นัดหมายมวลชนปักหมุดคณะราษฎร 2563 ลงใจกลางท้องสนามหลวง และยุติการชุมนุมทันที เมื่อยื่น3 ข้อเรียกร้องและข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ กับทาง พล.ต.ท.ภคพงศ์ พงษ์เภตา ผบช.น.ถึงประธานองคมนตรีแล้ว  

รุ้ง ปนัสยา ภคพงศ์ พงษ์เภตา นครบาล   แฟลชม็อบ ธรรมศาสตร์295896279108_8968661788915164532_n.jpg

ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่งมีมติรับคำร้องที่ ณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามที่ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่ 

ซึ่งตามคำร้องระบุว่าการชุมนุมปราศรัยในวันดังกล่าวมีผู้ปราศรัย 3 คน ที่มีการกระทำตามผู้ร้องกล่าวอ้างคือ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ภาณุพงศ์ จาดนอก ประธานกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ปรากฎตามเอกสารแนบท้ายคำร้องหมายเลข 1 กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมูญได้ พร้อมขอให้ผู้ถูกร้องทั้งสามยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

"และเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณามีคำสั่งให้อัยการสูงสุดแจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้ร้องยื่นเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง" คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุทิ้งท้าย

เดือน ต.ค. จึงเป็นอีกเดือนในช่วงเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของศักราชปี 2563 ที่การเมืองนอกรัฐสภายังคงเข้มข้นและยกระดับต่อเนื่อง

เพราะแกนนำม็อบนอกรัฐสภา ได้ประกาศผ่านสื่อโซเชียลมีเดียไว้จะมีการนัดหมายชุมนุมใหญ่

ภาณุพงศ์ จาดนอก 53_3153228017399337660_n.jpg

เห็นได้ชัดจากการโพสต์เฟซบุ๊กของ 'ไมค์ ภาณุพงศ์' ระบุว่า "ประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน เตรียมเต็นท์ ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ให้เรียบร้อย เราจะชุมนุมใหญ่กันในเดือนหน้า (ต.ค.) ขอทุกคนเตรียมพร้อม"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมใหญ่ที่ปักหลักค้างคืนครั้งแรกมีการพูดถึงข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบัน พร้อมทั้งกดดันให้มีการหยุดงานในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันครบ 47 ปีของเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ของการเคลื่อนไหวของพลังนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในการโค่นล้มรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร 

เดือน ต.ค. ยังเป็นอีกเดือนที่ต้องลุ้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ร้องขอให้การกระทำของแกนนำผู้ชุมนุมทั้งสามคนในการชุุมนุมปราศรัยขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสองหรือไม่

"รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง"

แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีเพียงสองแนวทาง ว่าจะยกคำร้อง หรือชี้ว่าการชุมนุมปราศรัยของแกนนำผู้ชุมนุมเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ

วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ตุลาการ ศาล รธน.ตัดสินสถานะ ปรีณา+ศรีนวล_๒๐๐๙๒๓.jpg

ขณะที่ อานนท์ ระบุบนเวทีปราศรัยเมื่อข้ามคืนวันที่ 19 ก.ย. เข้าสู่วันที่ 20 ก.ย. 2563 ว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องว่าตนชุมนุมปราศรัยเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ขอฝากข้อความไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลจะผูกพันประชาชนทุกคน 

"แต่ถ้าตัดสินสิ่งที่เราทำเป็นการล้มล้างก็จะเป็นอย่างนั้นเช่นกัน ปากกาอยู่ที่ท่าน ท่านจะเขียนอนาคตบ้านเมืองไปทางไหน ปากกาอยู่ที่ท่าน แต่เรายืนยัน 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบัน อยากเห็นสถาบันอยู่คู่สังคมไทยแท้จริง ไม่มีใครเหนือกว่าใคร อย่าไปรับใช้อำนาจเผด็จการที่อยู่ได้ไม่นาน"

เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การกระทำของแกนนำผู้ชุมนุมไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

ผลสะเทือนที่เกิดขึ้นคงตามมา เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถที่จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาดำเนินการเอาผิดทางอาญากับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง