ไม่พบผลการค้นหา
คปภ.เดินหน้า 'ประกันภัยข้าวนาปี ปีผลิต 2561' ขีดวงพื้นที่เป้าหมายไม่เกิน 30 ล้านไร่ ชี้มี 22 บริษัทประกันภัยสนใจร่วมโครงการ ค่าเบี้ยคงเดิม 90 บาทต่อไร่อัตราเดียวทั่วประเทศ วงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ ครอบคลุม 6 ภัยธรรมชาติ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 เม.ย. 2561) เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2560 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านไร่ 

คปภ. จึงได้เตรียมความพร้อมและเร่งขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูก โดยเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา นายทะเบียน ได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัย ของกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 แล้ว ซึ่งมีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 22 บริษัท โดยบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการสามารถรับประกันภัยข้าวได้แล้ว

สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการรับประกันภัยสูงสุดไว้ไม่เกิน 30 ล้านไร่ มีเงื่อนไขการรับประกันภัยคือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2561/62  

โดยแบ่งกลุ่มผู้เอาประกันภัย เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส. ทุกราย โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 29 ล้านไร่ และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปี ที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่ 

สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยยังคงเดิม คือ 90 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นอัตราเดียวทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะได้รับวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ และวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 

ทั้งนี้ ในส่วนของค่าเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่นั้น รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรผู้ทำประกันภัย 54 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ (โดยภาครัฐยังอุดหนุนค่าอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย) ดังนั้นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จะไม่เสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเลย แต่ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองเพียง 36 บาทต่อไร่ โดยมีระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ฤดูการเพาะปลูก ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ยกเว้นภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2561

นอกจากนี้ ส��นักงาน คปภ.ยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งจัด "อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2561" โดยมีกำหนดแผนการลงพื้นที่จัดอบรมเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่กำหนดไว้ 9 จังหวัด ในปี 2561 นี้เพิ่มขึ้น เป็น 10 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยประเดิมจัดครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29 - 30 เม.ย. 2561 ต่อด้วย จังหวัดลพบุรี จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพะเยา จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดพัทลุง 

"สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งอาชีพทำนาในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก เกษตรกรชาวนาจึงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง   ลมพายุ และแมลงศัตรูพืช ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ ไม่คงที่แน่นอน และบางรายต้องสูญเสียที่ดินทำกิน จึงจำเป็นต้องมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับรายได้" นายสุทธิพล กล่าว

ข่าวเกี่ยวข้อง :

นบข. ไฟเขียวโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 60