ไม่พบผลการค้นหา
คนไม่ได้อิน BNK48 ก็มาดู Girls Don’t Cry ได้ เพราะหนังเล่าเรื่องตามลำดับเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ทว่านี่ไม่ใช่หนังประมวลภาพความสำเร็จของวงแต่อย่างใด

แม้จะเปิดตัวมาได้ราวปีครึ่ง แต่วงไอดอล BNK48 ก็ผ่านความเปลี่ยนแปลงผันผวนมามากมาย จากแรกเริ่มเดิมทีที่ผู้คนสงสัยว่าวงจะไปรอดหรือเปล่า

หรือบางคนก็ไม่เข้าใจระบบแบบญี่ปุ่นๆ ของวงที่มีวิธีการตามวงรุ่นพี่อย่าง AKB48 (ผู้เขียนเคยต้องนั่งอธิบายให้เพื่อนฟังว่า ‘กัปตัน’ ‘เซ็นเตอร์’ ‘เซ็มบัตสึ’ คืออะไร) ไปจนถึงมิวสิกวิดีโอเพลงแรกๆ ที่คุณภาพออกมาไม่น่าพอใจนักในสายตาผู้ชม

แต่หลังจากเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ โด่งดังในระดับไวรัล BNK48 ก็ได้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้าแทบทุกชนิด ขึ้นปกนิตยสารทุกเล่ม ต้นสังกัดเริ่มจ้างผู้กำกับมืออาชีพมาทำเอ็มวีจนได้ผลออกมาน่าพอใจ (อย่างที่เห็นในมิวสิกวิดีโอเพลง ‘วันแรก’ และ RIVER) และต่อยอดมาถึงสารคดี Girls Don’t Cry ที่เป็นการร่วมงานกับโปรดักชันเฮ้าส์ Salmon House และผู้กำกับคนดัง นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

นวพลยังคงใช้วิธีการคล้ายๆ กับ The Master (2014) (สารคดีว่าด้วย ‘พี่แว่น’ ร้านขายหนังอินดี้ในตำนาน) ที่ใช้การสัมภาษณ์พูดคุยหรือ Talking Head เป็นตัวดำเนินเรื่อง มีการตัดสลับกับฟุตเทจอื่นๆ เช่น การคัดตัว การซ้อม งานคอนเสิร์ต เป็นระยะ แต่ภาพส่วนหลังดูเหมือนจะเป็น ‘บรรยากาศ’ มากกว่า เพราะจะมีเสียงสัมภาษณ์เป็นเส้นเรื่องหลักคลอไปตลอดเรื่อง

BNK48 Girls Don’t Cry

ความยากของหนังอยู่ที่การสัมภาษณ์สมาชิก BNK48 ถึง 26 คน ซึ่งฟุตเทจรวมทั้งหมดอาจจะยาวหลายสิบหรือถึงหลักร้อยชั่วโมง แต่ผู้กำกับต้องตัดต่อหนังให้ยาวไม่เกินสองชั่วโมง (ความยาวของ Girls Don’t Cry อยู่ที่ 110 นาที) อีกทั้งการวางตำแหน่งคลิปสัมภาษณ์แต่ละคนโดยร้อยเรียง ‘เนื้อหา’ และไล่ระดับ ‘กราฟอารมณ์’ ไปพร้อมกัน และยังต้องพยายามเฉลี่ยให้แต่คนละปรากฏตัวอย่างทั่วถึง แน่นอนว่าท้ายสุดแล้วก็มีบางคนที่โดดเด่นกว่าคนอื่น แต่นับว่าผู้กำกับทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีทีเดียว


Girls Don’t Cry เป็นหนังที่คนไม่ได้อินหรือติดตาม BNK48 มากนักก็สามารถดูได้ เพราะหนังเล่าเรื่องตามลำดับเวลาตั้งแต่ช่วงออดิชั่น ออกผลงานและมีชื่อเสียงโด่งดัง ทว่านี่ไม่ใช่หนังประมวลภาพความสำเร็จของวงแต่อย่างใด

สิ่งที่นวพลพยายามถ่ายทอดออกมาคือทัศนคติ ความคิดเห็น และความรู้สึกของเหล่าสมาชิก BNK48 ซึ่งก็มีหลายประเด็นน่าสนใจทีเดียว เช่น ช่วงแรกๆ สมาชิกหลายคนพยายามพรีเซนต์ตัวเองในฐานะเด็กสาวสดใสน่ารักทั้งที่ไม่ใช่คาแรกเตอร์ของตัวเองนัก หรือเรื่องของกลยุทธ์การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเอง


BNK48 Girls Don’t Cry

หนังเริ่มตึงเครียดขึ้นตอนกลางเรื่องที่ว่าด้วยสมาชิกบางคนยังไม่ติดเซมบัตสึ (สมาชิก 16 คนทีได้มีส่วมร่วมในแต่ละชิงเกิ้ล) เสียที บทสัมภาษณ์ช่วงนี้เริ่มมีบางคนตั้งคำถามถึงระบบของวง บ้างก็ว่ามันเป็นเรื่องไม่เมคเซนส์ บ้างว่ามันทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้น ผู้กำกับตัดต่อคำพูดของสมาชิกที่ดังที่สุดกับสมาชิกที่ไม่ได้รับความนิยมแบบต่อเนื่องกันทันที อาจมองว่าเป็นการตัดต่อที่ชาญฉลาด (และร้ายกาจ) หรือบางคนอาจหัวร้อนจนมองว่านี่คือการเสี้ยม แต่ผู้เขียนคิดว่าจุดประสงค์ของผู้สร้างคือการสร้างวิวาทะบางอย่างและการให้มุมมองทั้งสองด้าน


แม้ว่าเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องชนชั้นของสมาชิกในวงจะยืดยาวและทำให้จังหวะของหนังย้วยไปบ้าง แต่มันก็น่าจะทำให้ผู้ชมฉุกคิดถึง ‘ความขัดแย้งในตัวเอง’ ที่เป็นลักษณะพิเศษของวงนี้

อย่างที่สมาชิกหลายคนให้สัมภาษณ์ตรงกันว่าพวกเขาเป็นเพื่อนกันแต่ก็ต้องแข่งขันกันเอง หรือประเด็นที่บางคนพูดทำนองว่าให้แฟนคลับรักวง BNK48 แบบโดยรวม มากกว่าจดจำใครบางคนเป็นพิเศษ แต่นั่นก็ดูจะเป็นไปได้ยากด้วยระบบของวง เนื่องจากมีสมาชิกจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการผลักดันให้บางคนเด่นเป็นพิเศษ (ตำแหน่งเซ็นเตอร์) ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของ BNK48 แต่วงเครือ 48 ทั้งหมดก็ใช้ระบบนี้

BNK48 Girls Don’t Cry

ช่วงก่อนหนังจะฉายมีเพื่อนของผู้เขียนกังวลว่า Girls Don’t Cry จะกลายเป็นหนัง propaganda ของวง BNK48 หรือเปล่า ซึ่งดูเหมือนตัวหนังจะรอดพ้นข้อหานี้ไปได้ เพราะอย่างน้อยทางต้นสังกัดก็ยอมให้สมาชิกแสดงความรู้สึกทางลบกับระบบของวงได้ แต่ในอีกทางหนึ่งนี่ก็คือการพีอาร์ความใจกว้างของต้นสังกัดเอง

อย่างไรก็ดี มีอีกหลายประเด็นที่หนังไม่ได้กล่าวถึง และผู้เขียนสนใจใคร่รู้ เช่น

  • เรื่องของการมีแฟนว่าตกลงแล้วเป็นกฎห้ามชัดเจนหรือไม่ รวมถึงสมาชิกบางคนที่ถูกโจมตีจากเรื่องนี้
  • การรับมือของสมาชิกต่อแฟนคลับ แอนตี้แฟน และความคิดเห็นในโลกโซเชียล
  • กรณีสมาชิกบางคนที่ ‘แกรด’ (จบการศึกษาหรือลาออกจากวง) ไปแบบไม่ค่อยเคลียร์นัก
  • สมาชิก BNK48 รุ่นหนึ่งรู้สึกอย่างไรต่อการเข้ามาของรุ่นที่สอง ฯลฯ

บางคนอาจจะตั้งแง่ว่าที่หนังไม่มีประเด็นเหล่านี้เพราะว่าต้นสังกัดไม่ยอมหรือเปล่า แต่ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากจุดประสงค์เริ่มต้นของผู้กำกับที่ต้องการฉายภาพว่าเด็กสาววัยรุ่นเหล่านี้ต้องเจออะไรบ้างกับการมาเป็นสมาชิกของวง BNK48 และพวกเธอรู้สึกอย่างไร

ดังนั้นผู้เขียนคิดว่านิยามของ Girls Don’t Cry คือ ‘การสำรวจความเป็นมนุษย์ภายใต้ระบบกรอบจำกัด’ ในแง่หนึ่งระบบที่ว่าก็คือระบบของวง BNK48 เอง ส่วนในอีกแง่คือกรอบหรือขอบเขตที่ผู้กำกับวางไว้ในการสำรวจ ซึ่งข้อหลังนั้นทำให้หนังไปไกลน้อยกว่าที่ผู้เขียนคาดหวัง แต่ ‘ผลสำรวจ’ ที่หนังนำเสนอนั้นก็น่าประทับใจไม่น้อย

BNK48 Girls Don’t Cry