ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช. ชี้เลือกตั้งรอบนี้ เผชิญหน้า 2 วาระ 'เอาทักษิณ' หรือ 'ปฏิรูปประเทศ' ห่วงหลังเลือกตั้งสังคมไทยยังอยู่ในหลุมดำความแตกแยก วอนกลุ่มการเมืองต้องช่วยกันก้าวข้ามขั้วการเมือง 'เอา หรือไม่เอาทักษิณ'

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวถึงบรรยากาศของการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมืองโดยทั่วไปในขณะนี้ นอกเหนือจากการชิงไหวชิงพริบของพรรคเก่าและพรรคใหม่ การดูด ส.ส. การจัดขั้วจัดข้างแล้ว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือการช่วงชิงการเป็นกำหนดวาระในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ซึ่งนั่นจะเป็นจุดชี้ขาดของผลการเลือกตั้ง

ในขณะนี้วาระของการเลือกตั้งเริ่มเห็นการตีคู่ขนานกันของสองกระแสสองวาระ โดยกระแสที่หนึ่งเป็นกระแสต่อเนื่องมาคือการปฏิรูปประเทศซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าวาระการปฏิรูปประเทศน่าจะเป็นกระแสใหญ่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ทำให้พรรคการเมืองหน้าใหม่รวมทั้งพรรคการเมืองเดิมหลายพรรคเริ่มส่งสัญญาณ ชู และพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศขึ้นมาบ้างโดยเฉพาะพรรคที่ก่อตัวขึ้นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งนั้น ก็มีความพยายามที่จะชูวาระเอาทักษิณ หรือเอาทหารขึ้นมาตีคู่ขนาน ซึ่งกระแสนี้ก็มีหลายพรรคที่พยายามจะผลักดันให้เป็นวาระชี้ขาดในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ 

นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ถ้าเราทบทวนและกลับไปดูการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2550 และในปี พ.ศ. 2554 หรือแม้กระทั่ง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็จะพบว่าอยู่ในวาระเอาทักษิณหรือไม่เอาทักษิณ พูดง่ายๆ ประเด็นทักษิณกลายเป็นประเด็นชี้ขาดในการเลือกตั้ง แต่พอมาหลังรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557 โดย คสช. หลายฝ่ายคิดว่าวาระนี้น่าจะหายไปจากการเลือกตั้ง ซึ่งหลังรัฐประหารใหม่ๆ ก็ดูเหมือนมีความเป็นไปได้ แต่ในขณะนี้กลับพบว่าวาระทักษิณเริ่มกลับมาเป็นกระแสที่ต้องจับตาอีกครั้งหนึ่ง หลังนายทักษิณ ชินวัตร ประกาศทำสงครามประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้มีสภาพที่อาจไม่ต่างไปจากการเลือกตั้งทั่วไป 2-3 ครั้งที่ผ่านมานั่นคือทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นเดิมพันระหว่างเอาหรือไม่เอาทักษิณอีกครั้ง

นายสุริยะใส แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ยังเป็นวาระนี้อยู่ ก็อาจจะทำให้การเลือกตั้งไม่ตอบโจทย์การเมืองที่ล้มเหลวและไม่สามารถก้าวออกไปจาก หลุมดำของความขัดแย้งแตกแยก จึงเป็นหน้าที่และโจทย์ของบรรดาพรรคการเมืองรวมทั้งประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำให้การเลือกตั้งฝ่าข้ามกระแสทักษิณไปสู่กระแสการปฏิรูปประเทศที่แท้จริง ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการกอบกู้วิกฤตการณ์บ้านเมืองอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังได้เลย