ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ใช้ถนน-ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย สะท้อนความเห็นต่อนโยบาย 'จัดระเบียบทางเท้า' ชี้ หากกำหนดพื้นที่-เวลาขายที่ชัดเจน อาจช่วยแก้ปัญหาไร้ระเบียบได้ ส่วนนักวิชาการเตือน จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยโดยไม่คำนึงรอบด้าน เสี่ยงกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งในและนอกระบบ แถมยังตัดหนทางประกอบอาชีพของคนอายุ 40-50 ปีที่เสี่ยงตกงานเพราะหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่

นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศนโยบายจัดระเบียบทางเท้า โดยตั้งเป้าปรับภูมิทัศน์ รักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้แก่คนเดินถนนในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลเพิ่งประกาศยุติมาตรการผ่อนผันแก่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในหลายพื้นที่ทั่ว กทม. ทำให้มีการรวมตัวของเครือข่ายผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เรียกร้องให้รัฐบาล คสช. สั่งทบทวนมาตรการดังกล่าว

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สื่อต่างประเทศสนใจ เนื่องจากในเวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยในอาเซียน กลับประกาศว่าจะยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนวัฒนธรรมอาหารริมทางที่มีต้นกำเนิดจากหาบเร่แผงลอยให้เป็น 'มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม' หรือวัฒธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก ทำให้การจัดระเบียบทางเท้าและควบคุมพื้นที่หาบเร่แผงลอยของไทยเป็นภาพสะท้อนที่ตรงข้ามกันกับสิงคโปร์ 

รัฐบาลไทยให้เหตุผลว่า 'หาบเร่แผงลอย' เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาขยะ สร้างความสกปรก กีดขวางทางสัญจรบนทางเท้า ขณะที่สิงคโปร์มองว่า อาหารริมทางและสินค้าหาบเร่แผงลอย เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงคนหลากหลายกลุ่มและหลากหลายชนชั้นเข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากสินค้าและอาหารเหล่านี้มีราคาย่อมเยา หลากหลาย หาซื้อง่าย และเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองใหญ่

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้สัมภาษณ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ใช้ถนนในกรุงเทพมหานคร เพื่อสะท้อนความเห็นของกลุ่มคนเหล่านี้ที่มีต่อนโยบายจัดระเบียบทางเท้าของรัฐบาล คสช.ในช่วงที่ผ่านมา โดย 'เดชาธร ภู่วิจิตร' ผู้ค้ามะม่วงรถเข็น วัย 50 ปี ระบุว่า เขาตั้งรถเข็นขายมะม่วงบริเวณทางเท้าด้านที่ติดริมถนนมาก่อน แต่เมื่อมีการใช้นโยบายจัดระเบียบ ก็ย้ายเข้าไปด้านใน ซึ่งไม่กีดขวางทางเท้า 

หาบเร่แผงลอย-จัดระเบียบ-ทางเท้า-ถนนข้สวสาร-สตรีทฟู้ด-อาหารริมทาง-Evan Krause on Unsplash


"พอเขาเคลียร์พื้นที่ ขอพื้นที่ด้านนอก เราก็ขยับเข้ามาข้างใน ก็พออยู่ได้ไปวันๆ มันไม่ได้เยอะหรอก คนไม่มีกำลังซื้อแล้ว เราก็ต้องทำใจน่ะ ก็หาไปเรื่อยๆ หากินไปวันๆ"


เดชาธร บอกว่า ที่ผ่านมาเขาใช้วิธีเข็นรถมะม่วงไปเรื่อยๆ เมื่อพบทำเลที่มีลูกค้าก็จอดขาย หรือทำเลไหนที่มีผู้มาซื้ออยู่ประจำ ก็ไม่อยากจะย้ายไปที่อื่น โดยปกติมีรายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 500 บาท ถ้า กทม.จะกำหนดพื้นที่ที่สามารถขายสินค้าหาบเร่แผงลอยได้อย่างชัดเจน ก็จะช่วยให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ค้าต่างคนต่างมา แต่ก็ไม่ควรใช้วิธีขับไล่หรือผลักดันผู้ค้าออกนอกพื้นที่เพียงอย่างเดียว

ข้อคิดเห็นของเดชาธรได้รับการสนับสนุนจาก 'มานิต กุหลาบวรกุล' ผู้ค้าเสื้อผ้ารายหนึ่งในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งระบุว่า ค้าขายที่ย่านนี้มาตั้งแต่ยุค 2523 แม้จะเปลี่ยนที่ขายมาบ้าง แต่ก็ยังกลับมาที่ย่านอนุสาวรีย์เหมือนเดิม เพราะไปที่อื่นๆ แล้วขายไม่ค่อยได้

ผู้ใช้ทางเท้า 'ก้ำกึ่ง' ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ รอยเตอร์ได้สอบถามความเห็นของผู้ใช้ทางเท้าในกรุงเทพฯ เพิ่มเติมด้วย โดย 'สุุพัชยา ศรีสุขขำ' พนักงานออฟฟิศรายหนึ่ง ระบุว่าเห็นด้วยที่มีการจัดระเบียบ เพราะช่วยได้ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่พนักงานของบริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องเร่งรีบเดินทางไปทำงาน แต่ถ้าจะจัดระเบียบสินค้าหรืออาหารหาบเร่แผงลอยด้วยการ 'กำหนดเวลาขาย' ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้

ขณะที่ 'องค์อนันต์ อมาตยกุล' ซึ่งระบุว่าตนเป็นพนักงานบริษัทเอกชน และเป็นผู้ใช้ทางเท้าคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายจัดระเบียบทางเท้า และคิดว่าจะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ทุกฝ่ายได้พบกันครึ่งทาง


"เรื่องที่ 'เห็นด้วย' ก็คือเราต้องมีวิธีจัดการที่ดี ส่วนที่ 'ไม่เห็นด้วย' คือ ผมอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเหมือนเดิม แบบที่มีพร้อมทุกอย่าง มีเสน่ห์ คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็ต้องพบกันครึ่งทางในเรื่องของการจัดการรวมถึงการทำความสะอาดและเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด"


รอยเตอร์ยังรายงานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงข้อมูลของ กทม. ที่ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาล คสช. ได้สั่งย้ายผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไปแล้วกว่า 20,000 ราย จากพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมกว่า 478 จุด และจะดำเนินการจัดระเบียบทางเท้าเพิ่มอีก 205 จุดในเวลาไม่นานต่อจากนี้ และผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบจะถูกปรับเงิน

จัดระเบียบทางเท้า 'เรื่องใหญ่' กระทบเศรษฐกิจ-ความมั่นคงทางอาหาร

นอกเหนือจากรายงานของสื่อต่างประเทศ มีการจัดเสวนา​ 'แผงลอยกับเมือง​ : การจัดการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ เพื่อหารือถึงผลกระทบและเรื่องที่ควรต้องคำนึงถึงในการจัดระเบียบทางเท้า เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา

แผงลอย-เซ็นทรัลลาดพร้าว

รศ. ดร. นฤมล นิราทร จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนา เคยทำงานวิจัยเรื่องแรงงานนอกระบบและผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ย้ำว่า 'แผงลอย' เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันมากกว่าการเป็น 'พื้นที่สาธารณะ' แต่เป็นเรื่องของ 'ชีวิต' เรื่องของอาชีพ การทำงาน และการทำมาหากินโดยสุจริต


"ถ้าเรามองว่ามันเป็นงานสร้างอาชีพ ทำให้คนมีรายได้ เรามองย้อนกลับไปสิ่งเหล่านี้ก็จะลดภาระของรัฐ แล้วมันก็ลดความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสังคม ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่แค่นั้น มันทำให้เมืองมี 'ทางเลือก' ในการซื้อสินค้า ไม่ต้องเข้าร้านสะดวกซื้อเท่านั้น... เพราะฉะนั้นเรากำลังพูดถึง food security ความมั่นคงทางอาหาร"


ด้วยเหตุนี้การจัดระเบียบแผงลอยกับหาบเร่ จำเป็นต้องพูดทุกมิติ เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเยอะ ทั้งคนขาย คนซื้อ และคนอื่นๆ ที่เป็น 'มือที่มองไม่เห็น' ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ 'เศรษฐกิจนอกระบบ' ที่สอดแทรกอยู่ในเศรษฐกิจ 'ในระบบ' จนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน พร้อมยกตัวอย่างว่า การที่รัฐไปไล่รื้อระบบแผงลอย จะกระทบถึงคนที่ตั้งร้าน เก็บร้าน ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้างขนของ หรือคนขายของในตลาดที่ผู้ค้าไปซื้อของมาขาย เป็นความเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดที่ต้องมองด้วยความระมัดระวัง 

รศ.ดร.นฤมล ยกกรณีตัวอย่างของสิงคโปร์ ซึ่งมีการตั้ง hawker center หรือตลาดอาหารริมทางที่เป็นแหล่งรวมของหาบเร่แผงลอยเดิม จะเห็นได้ว่าวิธีการมองของสิงคโปร์เป็นการมองแบบยาวๆ โดยกำหนดกรอบเวลาสักประมาณ 40 กว่าปีในการจัดการปัญหานี้ และทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป วิธีคิดหลักก็คือ clean and green (สะอาด-ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม) โดยทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคของผู้ค้ารุ่นเก่า จนผู้ค้ารุ่นเก่าตายจากไป ก็มีรุ่นใหม่มา สุดท้ายก็พัฒนาแผงลอยขึ้นเป็นธุรกิจตลาดอาหารริมทาง ซึ่งกำลังจะจดทะเบียนเป็นวัฒนธรรมแผงลอยในฐานะมรดกโลกต่อไป

แนะเผื่อทางเลือกให้คนด้อยโอกาสที่อาจตกงานเพราะ 'โรบอต'

ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า เวลาพูดถึงหาบเร่แผงลอย มีข้อถกเถียงกันว่า คนที่เป็นหาบเร่แผงลอยเป็นคนจนหรือไม่ สำหรับคนที่เห็นใจก็จะบอกว่า เขาคือคนจน สำหรับคนที่รู้สึกไม่ใช่ ก็จะบอกว่า จริงๆ เขาก็อาจจะไม่ได้จนนะ ชีวิตเขาไม่ได้ถึงขนาดน่าสงสารอะไร ทำไมต้องยอมให้มาทำผิดกฎระเบียบ มายึดทางเท้าไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน

อย่างไรก็ตาม ดร.สมชัย มองว่า ประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่ผู้ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอยเป็นคนจนหรือไม่ แต่ต้องคุยว่า 'ทางเลือก' ของคนกลุ่มนี้มีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็คือ ทางเลือกในการประกอบอาชีพ แม้ปัจจุบันกลุ่มคนที่เรียกว่า 'จนดักดาน' ในประเทศไทยเกือบจะไม่เหลือแล้ว เพราะความยากจนของคนไทยได้รับการบรรเทาไปมากแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี 'คนด้อยโอกาส' เพราะคนที่ไม่ได้จนดักดาน หรือจนแบบขาดปัจจัยสี่ 'มีไม่เยอะ' แต่คนที่ด้อยโอกาสนั้นมีเยอะ และโอกาสที่ว่า หมายถึง 'โอกาสในการประกอบอาชีพ' ด้วย

แนวโน้มของระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในระยะใกล้ จะเห็นได้ว่า 'โรบอต' หรือหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ มีแนวโน้มจะถูกนำมาแทนที่คนในแวดวงการผลิตแบบอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่สูงนัก จะเป็นคนกลุ่มแรกที่จะตกงานก่อนในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น และเมื่อคนกลุ่มนี้่ตกงาน ก็อาจจะไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก และการค้าหาบเร่แผงลอยอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อาจต้องเก็บไว้ให้คนเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงการจัดระเบียบ จะคิดถึงแต่เรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัย ความสะอาด เพียงอย่างเดียวไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: