ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการจัดงานวันกรรมกรสากลเผยวันแรงงานปีนี้งดยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐ แต่ทวงถามนายกฯ 10 ข้อเรียกร้องเดิม หวังผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) นำตัวแทนแรงงานยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เนื่องในวันกรรมกรสากล หรือ วันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี

สำหรับปีนี้ คณะกรรมการจัดงานวันกรรมกรสากล มีมติร่วมกันว่าจะไม่มีการยื่นข้อเรียกร้อง หรือ ข้อเสนอต่อรัฐบาล แต่จะเป็นการทวงถามติดตามข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ที่ยื่นไปเมื่อปี 2560 แทน เพราะยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของคนงาน และ ขบวนการแรงงาน ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ตอบการดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ยื่นไปแล้วก็ตาม แต่ในเนื้อหาสาระที่ได้รับเป็นแบบกว้างตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน หรือ การทำงานของหน่วยงานนั้น ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ทั้งยังไม่มีกำหนดระยะเวลาที่คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว และปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

สำหรับข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลปี 2560 มีทั้งหมด 10 ข้อ มีดังนี้

1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมทั้งในด้านสาธารณะสุข และการศึกษาอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฎิบัติ

2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานให้เป็นธรรมและครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน 

3.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว อนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฉบับฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา

4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกนโยบายการแปรรูปและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

5. รัฐต้องยกเลิกนโยบายลดสวัสดิการของพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม

7.รัฐต้องดูแลการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย 

8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตามผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุนรวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้  

9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

และ 10. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัย เพื่อให้การบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ