ไม่พบผลการค้นหา
'ธีรรัตน์' ตอบกระทู้ถามประเด็น 'การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์' ย้ำ ดำเนินการด้วยความถูกต้อง และเป็นธรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์ และได้รับการยอมรับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

วันนี้ (3 ก.ค. 2568) ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่อง การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ตระหนักถึงปัญหาการไร้สัญชาติที่เรื้อรังมานาน โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย มีชื่อในทะเบียนประวัติของรัฐ แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งจำนวนนี้มีมากกว่า 1.4 แสนราย โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 67 เร่งรัดและกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่เข้าเกณฑ์ตามที่รัฐเคยสำรวจและจัดทำทะเบียนไว้แล้วตั้งแต่อดีต ซึ่งการได้ถือสัญชาติไทย ไม่ใช่เพียงการมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในทะเบียนราษฎรหรือการได้บัตรประชาชน ไม่ใช่การให้สัญชาติแบบแจกฟรีหรือแค่แห่มาออกลูกในไทยก็ได้สัญชาติ แต่เป็นความพยายามของรัฐไทยในการแก้ไขปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน เพราะปัญหาของผู้คนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานนับสิบปี มีลูกมีหลานที่เกิดและเติบโตที่นี่ ใช้ชีวิตร่วมกับคนไทยอย่างสงบ มีความผูกพันกับแผ่นดินนี้โดยแท้จริง และเป็นการสะท้อนถึงการ “ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย” ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์ และในฐานะพลเมืองผู้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันกับพวกเราทุกคนในที่นี้

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทยมายาวนาน บางครอบครัวอยู่นับสิบรุ่น เด็กหลายหมื่นคนเกิดบนแผ่นดินไทย พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ เรียนหนังสือไทย สวดมนต์ไหว้พระ เคารพธงชาติทุกเช้า แต่พวกเขากลับยังไม่มีตัวตนตามกฎหมาย พวกเขาทำได้เพียงยืนอยู่ข้างสนามแห่งโอกาส มองดูเพื่อนร่วมชั้นได้สิทธิที่เขาไม่มีแม้กระทั่งจะเดินทางไปขึ้นทะเบียนเรียนหรือสมัครงานตามระบบ โดยตนได้ลงนามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และการสั่งให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรไทย และไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 68 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนอย่างเป็นระบบและโปร่งใส เพื่อให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้รับสัญชาติไทยโดยเร็ว โดยไม่ต้องเผชิญกับขั้นตอนที่ซับซ้อนหรือยาวนานอีกต่อไป ซึ่งได้ปรับลดเวลาจากเดิม 180 วัน ให้เหลือเพียง 5 วัน หากเอกสารครบถ้วนและผ่านการตรวจสอบความประพฤติจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างถูกต้องตามขั้นตอน

ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้ เขาคือคนไทย เป็นพี่น้องของเราที่ควรได้เรียน ได้มีชีวิตที่ปลอดภัย และมีความหวัง ไม่ใช่ต้องเดินอยู่ใต้เงามืดในสังคมอีกต่อไป และ การที่รัฐรับรองสถานะของพวกเขาไม่ใช่การให้ แต่คือ “การคืนในสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับมาตั้งแต่ต้น” เพราะในความเป็นจริง กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เป็น “ต่างด้าวหน้าใหม่” แต่คือผู้ที่อยู่ในสังคมไทยมานาน หลายครอบครัวอยู่กันมารุ่นต่อรุ่น โดยไม่มีสถานะทางกฎหมายที่แน่นอน ทั้งที่ใช้ชีวิตร่วมกับเรา ทำงานในไร่นา ร้านอาหาร ก่อสร้าง หรือแม้แต่ร่วมพัฒนาท้องถิ่นกับชุมชนมาช้านาน บางกลุ่มอยู่มาก่อนที่บรรพบุรุษของเราๆ ท่านๆ จะอพยพมาที่ประเทศไทยเสียอีก แต่ด้วยถิ่นฐานที่ห่างไกลทำให้ตกสำรวจในการจัดทำทะเบียนเรื่อยมา การให้สถานะจึงไม่ใช่การแย่งสิทธิคนไทย แต่เป็นการทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันมีความชัดเจนในกฎหมาย เพื่อให้รัฐบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ ลดช่องโหว่การเอารัดเอาเปรียบ และที่สำคัญคือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันให้เป็นธรรมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“แม้ว่าจะปรับลดเวลาจากเดิม 180 วัน ให้เหลือ 5 วัน ซึ่งแม้จะรวดเร็วแต่มีการตรวจสอบอย่างรัดกุม และใช้ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน โดยบุคคลที่ยื่นคำขอจะต้องมีคุณสมบัติที่ชัดเจน ได้แก่ ต้องเกิดในราชอาณาจักรไทย ต้องไม่มีสัญชาติอื่น ต้องเป็นลูกของบุคคลที่ได้รับการสำรวจทะเบียนประวัติก่อนปี 2542 หรือช่วงปี 2548–2554 ต้องพูดและเข้าใจภาษาไทย ต้องมีความประพฤติดี และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ และที่สำคัญ คือ ต้องมีข้อมูลอยู่ในระบบทะเบียนของรัฐแล้ว ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่บุคคลที่เพิ่งเดินทางเข้ามาหรือเป็นแรงงานต่างด้าวทั่วไป ผู้หนีภัย หรือผู้ถือพาสปอร์ตจากประเทศต้นทาง เพราะกลุ่มเหล่านั้น ไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะขอสัญชาติได้ตามประกาศฉบับนี้” และหากในภายหลังพบว่า บุคคลใดได้สัญชาติไทยโดยอาศัยข้อมูลอันเป็นเท็จ มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือไม่เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจเพิกถอนสัญชาติไทยได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายก่อน และจะดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่เรายึดมั่น คือ “ความถูกต้อง” และ “ความเป็นธรรม” การให้สัญชาติไทยไม่ใช่เพียงการแจกบัตรประชาชน แต่คือการยอมรับความเป็นสมาชิกของรัฐ ซึ่งต้องมีความสุจริต ชอบธรรม และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยขณะนี้มีผู้ยื่นคำขอแล้ว 283 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค. 68)” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยตระหนักถึงการอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลที่มีสิทธิแต่เข้าไม่ถึงสิทธิ ซึ่งหนึ่งในหัวใจสำคัญของการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ห่างไกล คือ “ผู้นำท้องที่” ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด นั่นคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นผู้รู้จริง รู้ลึก เข้าใจบริบทของพื้นที่ และได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน โดยกำนันและผู้ใหญ่บ้านในแต่ละพื้นที่จะประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์และสิทธิที่ประชาชนพึงมีผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น หอกระจายข่าว การประชุมหมู่บ้าน การเดินเยี่ยมบ้าน ไปจนถึงการช่วยเหลือในการจัดเตรียมเอกสารให้แก่ผู้ที่สนใจยื่นคำขอ ซึ่งเรายังพบว่า บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่บ้านเองทำหน้าที่พาเด็กหรือผู้สูงอายุในหมู่บ้านไปที่อำเภอ พร้อมช่วยอธิบายขั้นตอนกับเจ้าหน้าที่ อันเป็นภาพสะท้อนของ “ระบบราชการที่ไม่แยกตัวจากประชาชนแต่เราเดินเคียงข้างกัน” นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่เข้าใจง่าย โดยได้จัดทำอินโฟกราฟิก และการประชาสัมพันธ์ในวิธีการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นการคืนชีวิต คืนความหวัง และคืนโอกาสให้กับผู้คนที่อยู่ในสังคมไทยมานาน ประเทศไทยไม่เคยลืมคนไทย และในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ไม่ทิ้งคนที่อยู่ร่วมแผ่นดินนี้อย่างสงบสุขมานานหลายสิบปีเช่นกัน เพื่อยอมรับว่ากลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นเป็น “คนไทย” อย่างแท้จริง