ไม่พบผลการค้นหา
‘รอมฎอน’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เชื่อรัฐบาลจะดูมัวหมอง หากนายกรัฐมนตรีไม่รับรองร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. ชี้ ควรเปิดพื้นที่ให้สภาฯ ถกเถียงกัน ย้ำจุดยืนกองทัพต้องอยู่ใต้พลเรือน ย้ำ กอ.รมน.มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ด้าน ‘เชตวัน’ ผิดหวัง ‘สุทิน’ ให้สัมภาษณ์ส่อขยายบทบาทกองทัพในงานสาธารณะ ท้วงยังเคยยอมรับเอง กองทัพมี IO

วันที่ 1 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเสนอกฎหมายยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และท่าทีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อเรื่องดังกล่าว

รอมฎอน กล่าวว่า ในนามพรรคก้าวไกล ตนเป็นตัวแทนยื่นร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน.นี้ เรียกว่าเป็นกฎหมายชุดแรกของพรรคก้าวไกลที่มีการยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 18 ก.ค. โดย พ.ร.บ. การยกเลิก กอ.รมน. เป็น 1 ใน 5 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ หัวใจสำคัญก็คือการพยายามเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพและระบบความมั่นคงในประเทศ เราต้องการสร้างหลักการประชาธิปไตยที่รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่และพยายามในการทำให้กองทัพอยู่ห่างจากการเมืองมากที่สุด การยุบ กอ.รมน. มีเหตุจำเป็นหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการพยายามทำให้ความมั่นคงเป็นเรื่องของประชาชน เป็นเรื่องของพลเรือนไม่ใช่ผูกขาดอยู่แค่กองทัพ ซึ่งหลักการพลเรือนเป็นใหญ่ ควรเป็นกฎหมายสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

รอมฎอน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ยังมีการพูดถึงเรื่องการบริหารราชการโปร่งใส ซึ่ง กอ.รมน. มีข้อถูกเถียงถึงการใช้งบประมาณที่เกินจริง ไม่โปร่งใส มีบัญชีผี ข้อสงสัยเหล่านี้ถูกสงสัยมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยังไม่รวมถึงกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ทิศทางการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ การขยายความขัดแย้งที่นำโดยทหาร มันเลยจำกัดโอกาสและทางเลือกในการแสวงหาจุดบรรจบที่ลงตัวระหว่างรัฐและประชาชน

อย่างไรก็ตาม กอ.รมน. นั้นเป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากสงครามเย็น มองประชาชนเป็นภัยคุกคาม พรรคก้าวไกลได้มีการติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานความมั่นคงมาโดยตลอด ซึ่ง กอ.รมน. ก็เป็นหน่วยงานที่ถูกจับตาอย่างหนัก ทั้งเรื่องงาน ข่าวสาร เราพบว่าการพยายามด้อยค่าส่งผลให้คนไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐ 

อีกทั้งยังส่งผลไปถึงการเมืองที่พยายามโน้มน้าว จัดสรรผลประโยชน์ มีการสร้างจุดมุ่งหมายต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงจะถูกผูกขาดโดย กอ.รมน. และพยายามจัดวางให้ผู้คิดต่างเป็นศัตรูคู่อาฆาต

รอมฎอน กล่าวต่อว่า มีคนกล่าวหาโจมตีว่า ตนเป็นผู้แบ่งแยกดินแดน ถ้าเรื่องนี้เราปล่อยให้หน่วยงานที่มีกรอบคิดแบบนี้ทำงานอยู่ เราก็จะตัดโอกาสของสังคมไทยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง เราอาจจะต้องมองความขัดแย้งเป็นโอกาสที่เราจะสามารถใช้ปัญญาในการถกเถียงกัน ซึ่ง กอ.รมน.ควรทำหน้าที่ของรั้ว ไม่ใช่เอารั้วมาอยู่ในห้องนั่งเล่น ในห้องนอนของพลเรือน 

โดยหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มีท่าทีออกมาไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน. นั้น ปัจจุบันนี้ตัวร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกวินิจฉัยตีความโดยประธานรัฐสภาว่าเป็นร่างว่าด้วยเกี่ยวกับการเงิน ตาม ม.133 ของรัฐธรรมนูญ ต้องให้นายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง เหตุผลเบื้องหลังมาตรานี้ทำให้ฝ่ายบริหารได้มีเสียงในการที่จะพิจารณา มองว่านายกรัฐมนตรีควรเปิดโอกาสให้กลไกรัฐสภาที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญได้มีการถกเถียง 

รอมฎอน ยังเข้าใจดีว่า ประเด็นนี้แม้กระทั่งในพรรคร่วมรัฐบาลเองก็อาจจะเห็นต่าง แม้กระทั่ง อดิศร เพียงเกษ ประธานคณะกรรมการปนะสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก็ทวิตที่จุดยืนที่แตกต่างจากนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สส.ที่ชนะการเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องฟังเหตุผลของเขา และเปิดทางให้สภาฯ ได้มีการพิจารณาต่อไป หากไม่มีการเปิดโอกาสจะทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลพลเรือนที่มีอำนาจเหนือกว่ากองทัพดูมัวหมองไป

รอมฎอน ยังยกตัวอย่าง เว็บไซต์ของสภาฯ ที่มีการสำรวจความเห็นเรื่องนี้ในโลกออนไลน์ หลายคนไม่เห็นด้วย ดังนั้น นายกรัฐมนตรีไม่ควรกังวล ตนอยากจะเสนอแนะ 2 ข้อคือ ทางแรกคือการยกเรื่องนี้ไปพูดคุยกันในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งเป็นการพูดถึงบทบาทของภาคประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ทั้งนี้ เชตวัน ยังให้ความเห็นในเชิงผิดหวังต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อเรื่องดังกล่าวด้วยว่า จากการที่รับฟังคำสัมภาษณ์แล้วมองว่า จะเป็นการขยายบทบาทของกองทัพในการยุ่มย่ามกับงานสาธารณะ ทั้งที่ สุทิน เคยออกมายอมรับว่ากองทัพมีการใช้ IO ดังนั้น หากมองว่า เพื่อนร่วมชาติเป็นข้าศึก เป็นคอมมิวนิสต์ แต่รอบนี้ไม่มีคอมมิวนิสต์แล้วทำไมเราถึงกลับมีข้อกล่าวหาเรื่องชังชาติหรือล้มสถาบัน