ไม่พบผลการค้นหา
หากยังจำกันได้ ภาพเปิดตัว 8 พรรคร่วมทำ MOU จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย เมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา บนเวทีปรากฏแกนนำ 16 คน เป็นผู้ชาย 15 คน มีผู้หญิงเพียง 1 คน (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ)  จนนักข่าวนำมาเป็นประเด็นสอบถามเรื่องนโยบายเกี่ยวกับสตรีของว่าที่รัฐบาลด้วย
พิธา ชลน่าน ก้าวไกล เพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล MOU

หันดูสัดส่วนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ของ ส.ส.ปัจจุบันในปี 2566 ก็จะพบว่าสัดส่วนของผู้หญิงนั้นมีค่อนข้างน้อย นั่นคือ 95 คนจากทั้งหมด 500 คน แต่นี่ก็นับว่ามีพัฒนาการแล้วหากย้อนไปสองทศวรรษก่อน 

  • การเลือกตั้งปี 2548 มี ส.ส.หญิง  10.6%
  • การเลือกตั้งปี 2550 มี ส.ส.หญิง  11.7%
  • การเลือกตั้งปี 2554 มี ส.ส.หญิง  15.8%
  • การเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส.หญิง  16.2%
  • การเลือกตั้งปี 2566 มี ส.ส.หญิง  19%
สัดส่วน ส.ส.หญิง

หากดูข้อมูลในระดับโลก Monthly ranking of women in national parliaments (ก.ค.2566) จะพบว่า จำนวนของผู้หญิงที่เป็นสมาชิกในรัฐสภาประเทไทยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้หญิงที่เป็นสมาชิกในรัฐสภาของแต่ละประเทศ จะอยู่ในลำดับที่ 121 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศในอาเซียน 

อันดับจำนวน ส.ส. ผู้หญิงในประเทศอาเซียน พบว่า 

  • 1. เวียดนาม อยู่อันดับที่ 64ของโลก โดยมี ส.ส.หญิง 30.3% 
  • 2. สิงคโปร์ อยู่อันดับที่ 67 ของโลก โดยมีส.ส.หญิง 29.1%
  • 3. ฟิลิปปินส์ อยู่อันดับที่ 84 ของโลก โดยมีส.ส.หญิง 27.3%
  • 4. ลาว อยู่อันดับที่ 106 ของโลก โดยมีส.ส.หญิง 22%
  • 5. อินโดเนียเซีย อยู่อันดับที่ 108 ของโลก โดยมีส.ส.หญิง 21.6%
  • 6. กัมพูชา อยู่อันดับที่ 110 ของโลก โดยมีส.ส.หญิง 20.8%
  • 7. ไทย อยู่อันดับที่ 121 ของโลก โดยมี ส.ส.หญิง 19%
  • 8. มาเลย์เซีย อยู่อันดับที่ 154 ของโลก โดยมีส.ส.หญิง 13.5%
  • 9. บรูไน อยู่อันดับที่ 160 ของโลก โดยมีส.ส.หญิง 11.8%
  • 10. เมียนมา ไม่มีข้อมูล

‘วอยซ์’ ชวนสำรวจสถานการณ์จริงจากบทสนทนาของนักการเมืองหญิงหลากรุ่น 4 คน ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, ช่อ-พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, น้ำ-จิราพร สินธุไพร ส.ส. เขต 5 จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย, เดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ ว่าเหตุใดผู้หญิงจึงมีที่นั่งในสภาเพียงหยิบมือ ชีวิตในรัฐสภาไทยของพวกเธอดำเนินไปอย่างไร เผชิญอุปสรรคเช่นใด และวิธีคิดเช่นใดที่เอื้อให้เกิดระบบการเมืองเช่นนี้ 


‘ปิตาธิปไตย’ ในศตวรรษที่ 21 

ความหมายดั้งเดิมของปิตาธิไตย คือ ‘อำนาจของบิดา’ ที่มาพร้อมกับบทบาทของผู้ชายในสังคมอดีต ที่ต้องออกไปรบรากับข้าศึก ปกป้องบ้านเมือง ในขณะที่ผู้หญิงต้องดูแลบ้าน ทำบทบาทแม่ให้ดีที่สุด

ถึงแม้ว่าสถานะการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไป จากความหมายเดิมก็แปรเปลี่ยนเป็น ‘ชายเป็นใหญ่’ แต่นั่นไม่ได้หมายถึงบุคคลเพศชาย แต่เป็น ‘วิธีคิด’ ในการจัดระเบียบสังคมที่ผู้ชายมักเป็นคนกำหนด พูดง่ายๆว่า สังคมถูกจัดระเบียบตามแนวคิดและมุมมองของผู้ชายแล้วก็ส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน 

แนวคิดนี้ก่อให้เกิดบรรทัดฐานทางเพศ (Gender Norms) ที่กำหนดว่าเป็นเพศใดควรเป็นอย่างไร หรือไม่ควรเป็นอย่างไร นำไปสู่บทบาททางเพศ (Gender Roles) ที่ภาระหน้าที่และความผิดชอบถูกแบ่งด้วยเพศสภาพตามบรรทัดฐานที่ถูกกำหนดไว้ตามสังคมนั้นๆ เพราะสังคมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม 

ปัจจุบันมีความตื่นตัวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศสูงขึ้นมาก ไม่เฉพาะเพศสภาพชาย-หญิง แต่หมายรวมถึงความหลากหลายทางเพศทุกรูปแบบ แต่สถิติข้างต้นก็ยังชี้ว่า สัดส่วนนักการเมืองที่ทำงานในรัฐสภามีผู้หญิงน้อยมาก


ต่างมุมมอง ต่างยุคสมัย : โอกาสของ ‘ผู้หญิง’ ในการเมือง
ไทยสร้างไทย สุดารัตน์ การุณ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นักการเมืองหญิงที่ยืนระยะในการเมืองไทยมากว่า 30 ปี อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อดีต รมว.สาธารณสุข, รมว.เกษตร, รมช.คมนาคม, รมช. มหาดไทย ปัจจุบันเธอคือหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย 1 ใน 8 พรรคร่วมที่กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาลกันอยู่ขณะนี้ เล่าย้อนประสบการณ์ให้ฟังว่า 

“สมัยที่เข้าสู่การเมืองเมื่อปี 2535 เป็น ส.ส.พรรคพลังธรรม ตอนนั้นมีนักการเมืองหญิงไม่กี่คน นับได้หลัก 10 ต้นๆ นักการเมืองหญิงมักจะได้รับเสียงดูถูกดูแคลน ผู้หญิงคงทำอะไรสู้ผู้ชายไม่ได้ แล้วคนเลือกก็ยังไม่ได้คิดว่าอยากเลือกผู้หญิงมากมายนัก เพราะผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง คงจะทำงานสู้ผู้ชายไม่ได้ในตำแหน่งผู้แทนราษฎร”

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวด้วยว่า ในยุคก่อนเธอต้องใช้ความพยายามมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่าพยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานให้โดดเด่นจึงจะอยู่ในจุดที่ได้รับการยอมรับ แต่ปัจจุบันสถานการณ์สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐ เอกชน รวมถึงในการเมืองมีผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การยอมรับของสังคมก็เปิดกว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงต่อผู้หญิงอย่างเดียว แต่ยอมรับ LGBTQ หรือความหลากหลายทางเพศด้วย 

‘ช่อ’ พรรณิการ์ วานิช อดีตสื่อมวลชนสู่การผันตัวมาเป็นโฆษกพรรคอนาคตใหม่ และปันจจุบันเป็นกรรมการบริการคณะก้าวหน้าให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้สังคมเปิดกว้างมากแล้วแต่ผู้หญิงยังคงเข้าสู่การเมืองยากกว่าผู้ชาย 

“ในมุมมองคนทั่วไป พูดว่า ‘นักการเมือง’ คุณนึกถึงผู้ชายแน่นอน ทัศนคติแบบนี้ทำให้ผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงนั้นยากที่จะเกิด ต่อให้คุณลงสมัคร คุณก็ไม่ได้ ยกเว้นคุณเป็นเมีย เมียน้อย หรือลูกของใครสักคนที่เป็นนักการเมืองชายที่ประสบความสำเร็จ พูดแบบแรงๆ คืออาศัยใบบุญของผู้ชาย สังคมตัดสินไปแล้วแต่ต้นว่าคุณเข้ามาได้เพราะว่า พ่อ สามี หรือพี่ชายของคุณ ถึงแม้ผู้หญิงคนนั้นจะเก่งมากก็ตาม”

“นักการเมืองหญิงยังมีโอกาสถูกโจมตีด้วยเรื่องส่วนตัวมากกว่า เรื่องหน้าตา เสื้อผ้าหน้าผม เรื่องชีวิตรัก ครอบครัวส่วนตัว ซึ่งนักการเมืองชายจะไม่ค่อยโดน พูดแบบสรุป ต้องบอกว่า การเป็นผู้หญิงแล้วมาทำงานการเมืองมีราคาต้องจ่ายสูงกว่าผู้ชาย” พรรณณิกา กล่าว 

‘น้ำ’ จิราพร  สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เจ้าของผลงานการอภิปรายอันเผ็ดร้อนเรื่องเหมืองทองอัครา เธอมองเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของนักการเมืองในบริบทปัจจุบันต่างออกไป 

“ทุกวันนี้ไม่ว่าเพศไหน ทุกคนก็เข้าสู่การพิสูจน์ตัวเองในฐานเลือกตั้งเดียวกัน ในกฎกติกาเดียวกัน และคิดว่าตอนนี้ประชาชนไม่ได้เลือก ส.ส. โดยมองจากเพศสภาพของแต่ละบุคคล แต่เลือกจากจุดยืน นโยบายพรรคการเมืองที่สังกัด และการทำงานของบุคคลนั้น เรียกว่าต้องอาศัยการทำงานให้ประชาชนยอมรับ”

จิราพร สินธุไพร เพื่อไทย ประชุมสภา สภา อภิปรายทั่วไป  3CBC20B63E9.jpeg

เมื่อถามถึงอุปสรรคของการเป็นเพศหญิงแล้วเข้าสู่สนามการเมือง จิราพรบอกว่าคือ ‘ความเป็นห่วง’ เพราะบริบทของเธอนั้นเข้าสู่การเมืองหลัง 'นิสิต สินธุไพร' อดีต ส.ส.ผู้พ่อเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารแล้วถูกคดีความจนเข้าคุกตาราง เมื่อจะรับไม้ต่อก็มีผู้คนเป็นห่วงว่าจะรับไหวไหมหากต้องเจอวิบากกรรมทางการเมืองเหมือนที่พ่อเจอ

“มันเลยยิ่งทำให้เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าเลือกเราแล้ว เราทำหน้าที่ได้ เป็นตัวแทนที่ดีแน่นอน ก็ต้องใช้วิธีไปปราศรัยทุกหมู่บ้าน เขต 5 ตอนนั้นมี 384 หมู่บ้าน ไปครบทุกหมู่บ้านเพื่อบอกให้ประชาชนมั่นใจ และนำเสนอนโยบายต่างๆ สุดท้ายเขาก็มอบความไว้วางใจให้เราทำงาน” จิราพรกล่าวถึงประสบการณ์ตนเอง  

“ดังนั้น เราคิดว่า คงไม่สามารถกำหนดกะเกณฑ์ได้ว่าผู้หญิงในสภาต้องมีกี่เปอร์เซ็นต์ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันที่จะเสนอตัวให้ประชาชนได้พิจารณา เพียงแต่ว่าเมื่อประชาชนเลือกเข้ามาเป็นตัวแทนแล้ว หน้าที่ของคุณคือ การสร้างสังคมที่มีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกเพศ ทุกวัย อันนี้คือหัวใจหลัก”

“ถ้าประชาชนมองเรื่องเพศเป็นสำคัญเราก็คงไม่มีนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย และการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยก็เสนอแคนดิเดตนายกฯ ที่เป็นเพศหญิง คือคุณแพทองธาร ชินวัตร ก็ได้เสียงตอบรับอย่างท่วมท้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เพศสภาพไม่น่าจะใช่ปัจจัยหลักของการเลือกตั้ง” จิราพรกล่าว

‘เดียร์’ วทันยา วงษ์โอภาสี หรือที่สื่อชอบเรียก ‘มาดามเดียร์’ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอล อดีตกรรมการบริษัทธุรกิจสื่อใหญ่ ซึ่งปัจจุบันได้ผันตัวลงมาเล่นการเมืองในตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชารัฐในปี 2561 และย้ายมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ในปี 2565 ให้ความเห็นว่า

“จำนวนสัดส่วนของ ส.ส.หญิง มันคือเครื่องสะท้อนข้อเท็จจริงในสังคมไทยว่าระบบชายเป็นใหญ่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ การเมืองไทยที่ผ่านมา ผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ทำให้การเมืองดูเป็นเรื่องของผู้ชาย เลยอาจทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่มั่นใจที่จะเข้ามาทำงานการเมืองโดยตรง”

“จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องอคติทางเพศ แต่ยังมีเรื่องอคติทางวัยวุฒิด้วย ที่มักมีการมองเรื่องอายุว่ายังไม่เหมาะสม ประสบการณ์ไม่เพียงพอ เรื่องนี้คนมีแนวโน้มจะกล้าพูดออกมา มากกว่าพูดถึงอคติทางเพศ เพราะสังคมตื่นตัวสูงเรื่องการเหยียดเพศ ไม่เป็นที่ยอมรับ ทั้งที่จริงๆ คนพูดก็อาจมีเรื่องอคติทางเพศในใจด้วย” วทันยากล่าว


2535 ถึง 2566  ‘ไม้ประดับ’ ‘คนสวย’ และการคุกคามในโซเชียล

คุณหญิงสุดารัตน์ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองยาวนานเล่าให้ฟังว่า แม้แต่สื่อมวลชนในยุค 30 ปีก่อน ก็ไม่ค่อยมีความเข้าใจต่อความเท่าเทียมทางเพศ สะท้อนผ่านถ้อยคำที่ใช้ 

“ตอนที่เป็น ส.ส. สมัยแรก สื่อก็จะพาดหัวเลย ‘ดอกไม้ประดับสภา’ เราถูกสนใจในแว้บแรกก่อนเลยทั้งที่ยังไม่ได้เปิดปากพูดหรือแสดงความสามารถ เรารู้สึกว่า คนพูดก็ไม่ได้ประสงค์ร้าย แต่มันคือค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในยุคนั้น ที่มองผู้หญิงเหมือนกับสีสัน เราก็รู้สึกเจ็บปวด ไม่ชอบที่มาเรียกแบบนี้ ” 

“ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้หญิงที่เข้าสู่การเมือง อาจถูกคู่แข่งใส่สี ป้ายโคลนได้เร็วมาก พี่เคยโดนในชีวิต เขาด่าว่าเราไปเป็นกิ๊กกับคนนั้นคนนี้จนต้องมีการฟ้องร้องกัน ทำให้ผู้หญิงเมื่อสัก 30 ปีก่อนอาจรู้สึกไม่อยากมาแปดเปื้อนหรือโดนด่า อยู่เฉยๆ ดีกว่า ผู้หญิงหลายคนที่เก่งๆ เขาก็ไม่อยากยุ่ง หรือผู้หญิงที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว อยู่ๆ จะมาเสียชื่อเสียงทำไมกับระบบการเมืองที่มันไม่มาตรฐานด้วย” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

ผ่านมา 30 ปีตัดกลับมาที่ปัจจุบัน พรรณิการ์ เล่าถึงการเป็น ส.ส.สมัยแรก พรรคอนาคตใหม่ว่า

“โดนกันทุกคนที่เป็น LGBT ผู้หญิงเพราะส่วนใหญ่เป็นหน้าใหม่ เป็น ส.ส.สมัยแรก แถมอายุน้อย ส.ส.ด้วยกันเองก็มักจะดูถูกว่าเป็นพวกเด็กๆ พวกเขาเป็นพวกเก๋า อยู่มาหลายสมัยแล้ว ส่วนพวก ส.ส.หญิงก็เป็นไม้ประดับสภา เดินไปก็มีแบบวี้ดวิ้ว แซวกัน ขอถ่ายรูป จับไม้จับมือ โอบไหล่ ช่วงแรกมีเยอะ แต่เจอแบบนี้เราไม่นิ่งเฉย ส.ส.หญิงรวมตัวกันแถลงข่าวว่าเกิดการคุกคามทางเพศด้วยวาจา การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมกับ ส.ส.หญิง เราจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น หลังจาการแถลงข่าวนั้น น่าประหลาดใจที่สังคมและสื่อให้ความสนใจมาก จากที่เราคิดว่าคงไม่มีใครสนใจเท่าไหร่ มันก็สะท้อนว่าสังคมตื่นตัว ก้าวหน้าไปเยอะ สภาต่างหากที่ล้าหลัง หลังจากวันนั้นพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็ลดลงมาก อย่างน้อยเขารู้แล้วว่า มันไม่ใช่สิ่งที่สังคมยอมรับ” พรรณิการ์กล่าว

พรรณิการ์ ก้าวไกล -B050-415A-B3E7-496CEA68C6E5.jpeg

กรณีของพรรณิการ์ที่เป็นประเด็นฮือฮาอีกครั้งหนึ่ง คือ เมื่อเธอถูกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอเชา เผลอเรียกว่า ‘คนสวย’ กลางที่ประชุมสภา

“มันไม่ใช่เรื่องของความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของหลักการ วันนั้นเป็นวันแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นวาระที่สำคัญมากของสภา แล้วคุณเรียก ส.ส.ว่า ‘คนสวย’ หากคุณให้เกียรติใครคุณต้องเรียกเขาด้วยชื่อหรือตำแหน่ง การใช้คำนี้เหมือนคุณเป็นจิ๊กโก๋ ‘ไปไหนจ๊ะคนสวย’ มันสะท้อนว่าคุณไม่ให้คุณค่า ลองนึกดูว่าเวลาเรียกคนอื่นว่าคนสวย เรารู้สึกว่าเขาเป็นยังไง สูงกว่า เท่ากัน หรือต่ำกว่า คุณจะไปกล้าเรียกอาจารย์คุณว่า ‘อาจารย์คนสวย’ ไหม เราอยู่ในสถานะ ส.ส.โดยเกียรติโดยศักดิ์ศรีไม่ได้ต่างกัน การเรียกแบบนี้เป็นการกระทำที่ไม่ให้เกียรติต่อตัวแทนของประชาชน อีกอย่างคือแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่ไม่คำนึงถึงการปฏิบัติอย่างเสมอภาคทางเพศอย่างสิ้นเชิง” พรรณิการ์กล่าวถึงถ้อยคำของพล.อ.ประยุทธ์

ขณะที่วทันยานั้นไม่เคยประสบกับการลดทอนคุณค่าหรือการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมในหมู่สมาชิกรัฐสภาด้วยกันเธอบอกว่าเธอเองก็ระมัดระวังตัวเองไม่นำตัวเองไปอยู่ในจุดสุ่มเสี่ยง นอกจากนี้เธอยังไม่รู้สึกว่าเพศภาพหญิงจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ไล่ตั้งแต่ทำงานบริหารบริษัทสื่อซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย หรือกระทั่งการบริหารทีมฟุตบอล

“ตอนเราทำงาน เราไม่ได้นั่งคิดว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่มี mindset เหล่านี้ในหัวเลย พอไม่มีกรอบคิดแบบนี้ ทำให้เราไม่ติดขนบที่กดทับความคิดหรือศักยภาพของเรา เรียกว่าเราไม่กดทับตัวเอง มันก็ทำให้สามารถใช้ศักยภาพของเราทำงานได้อย่างเต็มที่” วทันยากล่าว

วทันยา.jpg

สิ่งที่วทันยาเผชิญกับการคุกคามทางเพศนั้นต่างออกไป เพราะไปเจออยู่ในโลกโซเชียลแทน

“เราเจอในส่วนอื่นที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ก็ยอมรับว่ามีประเด็น sexual harassment อยู่ แต่ก็มองว่าไม่ว่ามีอาชีพอะไร ถ้าเป็นผู้หญิง สังคมออนไลน์บางส่วนก็ยังทรีตผู้หญิงไม่ดีนัก สามารถเกิดกับคนทุกวัย ทุกอาชีพ เพียงแต่ว่า นักการเมืองอยู่จุดที่เป็นตัวแทนประชาชน เป็นบุคคลสาธารณะ อยู่ในสปอตไลท์ ก็เลยมีโอกาสเผชิญสิ่งเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น” วทันยากล่าว


สัดส่วน ส.ส.หญิงไม่สำคัญเท่า ส.ส.ทุกเพศตระหนักความเท่าเทียม 

พรรณิการ์ มองว่า สัดส่วนของผู้หญิงในสภาอาจไม่สามารถตัดสินได้ทั้งหมดว่าประเทศนี้มีความเสมอภาคทางเพศหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือ รัฐสภาเปิดพื้นที่ให้กับตัวแทนกลุ่มที่หลากหลายในสังคมมากพอหรือไม่ 

“จำนวนผู้หญิงมากขึ้นเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ไม่ใช่ทุกคนในสภาตระหนักว่ามีปัญหาความไม่เสมอภาคทางเพศ ที่พูดแบบนี้ก็เพราะสมัยพรรคอนาคตใหม่ เคยตั้งสิ่งที่เรียกว่า Women Caucus หมายถึงองคาพยพที่จะเกิดขึ้นในสภาข้ามพรรค ไม่ว่า ส.ส.จะอยู่พรรคการเมืองไหน มีความคิดทางการเมืองแบบไหน แต่ถ้าเชื่อในความเสมอภาคทางเพศก็มารวมตัวกันผลักดันกฎหมาย ระเบียบ หรือกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ข้ามพรรค แต่สิ่งนั้นก็ไม่สำเร็จ” พรรณิการ์ กล่าว 

เช่นกันกับจิราพรที่เห็นว่า การมีสัดส่วนผู้หญิงเพิ่มขึ้นในสภา ไม่ว่าอย่างไรย่อมเป็นเรื่องดี เพราะในแง่การขับเคลื่อนนโยบาย ยิ่งมีตัวแทนคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาในสภามากเท่าไรก็จะทำให้สะท้อนปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

“แต่จริงๆ แล้ว ถ้าทุกคนที่เป็นผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนของประชาชน ยึดหลักผลประโยชน์ประชาชน ไม่ว่าอยู่ในเพศสภาพไหนก็สามารถผลักดันกฎหมาย นโยบายที่เป็นประโยชน์กับคุนทุกเพศทุกวัยได้เหมือนกัน เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม ต่อให้คุณไม่ใช่ LGBTQ แต่ถ้าคุณคำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน คุณเห็นมนุษย์เป็นมนุษย์เท่ากัน ก็สามารถเป็นหนึ่งกระบอกเสียงที่ช่วยผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์แบบนี้ได้” จิราพรกล่าว 

ขณะที่วทันยามองว่า สัดส่วนของ ส.ส. ที่ไม่สมดุลกันนั้นทำให้ประเทศขาดโอกาส ทั้งในแง่ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ และการสร้างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิง ยกตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัว จากการที่ได้มีโอกาสคุยกับ ส.ส.หญิง เรื่องการสร้างรัฐสภาพบว่า ไม่มี ‘ห้องให้นมบุตร’ สำหรับ ส.ส.หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร ประเด็นเหล่านี้ถูกละเลย อาจไม่ได้มีเจตนา แต่เพราะส่วนใหญ่มีแต่ผู้ชายจึงไม่ทันคิดถึงเรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ มองว่า การมีจำนวนส.ส.หญิงที่มากขึ้นส่งผลต่อนโยบายในด้านที่มีความละเอียด การมองไปถึงอนาคต ผลกระทบต่างๆ และความยั่งยืนมากขึ้น เพราะจากประสบการณ์ตรงในการทำงานมายาวนานพบว่าผู้หญิงมักมีมุมมองเหล่านี้สูง ซึ่งอาจสะท้อนมาจากความเป็นแม่ เมื่อทำงานผสมผสานกันกับ ส.ส.ชาย ที่อาจมีจุดเด่นอีกลักษณะหนึ่ง จะทำให้นโยบายมีความละเอียดครอบคลุมมากขึ้น

"ฐานะที่เป็นผู้บริหารพรรคก็พยายามจะแสวงหานักการเมืองผู้หญิงให้มีสัดส่วนเยอะๆ ถึงขนาดตั้งโครงการ More Women in Politics มาเกือบปี ซึ่งจะอบรบแล้วคัดสรรผู้หญิงเข้าสู่การเมือง รุ่นหนึ่งอาจจะมาอบรมเกือบ 100 แต่ตัดสินใจเข้าสู่การเมืองแค่ 10 คนและไม่จำเป็นต้องสมัครพรรคเรา เราก็ส่งเสริมให้เขาไปลงท้องถิ่น ไปลงอะไรแล้วแต่ ส่วนฝั่งพรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีผู้หญิงมากขึ้น" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว


สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ปภาดา วงศ์ศิริทรัพย์