ไม่พบผลการค้นหา
ตลอดเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11,469,185 คน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพ 'มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' หรือโครงการ 'บัตรคนจน เฟส 2'

นับเป็นมาตรการต่อยอดมาจากโครงการ (แจก) 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ที่ถือเป็น 'บัตรคนจน เฟสแรก' ที่มีเพียงการ 'เติมเงิน' ผ่านบัตร เพื่อให้ผู้มีสิทธินำไปรูดใช้จ่ายได้ใน 2 หมวด ได้แก่ หนึ่ง ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และสอง ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งช่วยให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี จะได้รับการเติมเงินในบัตรคนละ 1,700-1,800 บาท/เดือน และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จะได้รับการเติมเงินคนละ 1,600-1,700 บาท/เดือน 

'ญาณี แสงศรีจันทร์' รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยผลการดำเนินงานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วง 4 เดือนแรก (1 ต.ค. 2560 – 31 ม.ค. 2561) ว่า ได้แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้ว 10.9 ล้านคน หรือประมาณ 95.3% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด 11.4 ล้านคน มีการใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 11,940 ล้านบาท แบ่ง เป็นการจ่ายเงินให้แก่ร้านธงฟ้าประชารัฐ 11,822 ล้านบาท ร้านก๊าซหุงต้ม 14.3 ล้านบาท ค่าโดยสารรถ บขส. จำนวน 38.2 ล้านบาท และค่าโดยสารรถไฟ จำนวน 65.3 ล้านบาท 

ปี'61 สั่งติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC เพิ่ม 2.2 หมื่นเครื่อง

โดยในระยะแรกการใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปตกอยู่ที่ 'ร้านธงฟ้าประชารัฐ' ขณะเดียวกัน มีเสียงเรียกร้องให้เพิ่มวงเงินในหมวดนี้ รวมถึงเสียงบ่นว่าร้านค้ามีน้อย บางอำเภอมีแค่ไม่กี่แห่ง จนเป็นที่มาให้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 อนุมัติงบฯ กลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 290,593,246 บาท ให้กรมบัญชีกลางใช้ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) เพิ่มอีก 22,121 เครื่อง เพื่อให้เกิดความครอบคลุม แก้ปัญหาร้านค้ารับบัตรสวัสดิการคนจนมีน้อย ไม่ทั่วถึง 


บัตรคนจน.jpg

ขณะเดียวกัน ในรายงาน ครม. ยังมีการกล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วน ว่าพบปัญหาการร้องเรียนจากประชาชนผู้ถืงบัตร ว่าไม่ได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิ เนื่องจากจำนวนร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านก๊าซหุงต้มที่รับบัตรได้มีไม่เพียงพอ รวมถึงบางร้านเข้าร่วมโครงการแล้ว แต่ยังไม่ได้วางเครื่อง EDC ซึ่งหากไม่เร่งรัด จะเกิด 'ผลกระทบทางลบ' กับโครงการ

เติมเงินบัตรคนจน 100-200 บาท แต่ต้องทำกิจกรรม 'โครงการพัฒนาอาชีพ'

นอกจากนี้ ในมาตรการ 'บัตรคนจน เฟส 2' ผู้ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพ จะได้เงินเพิ่มในบัตร โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี จะได้รับการเติมเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพิ่มอีก 200 บาท เป็น 500 บาท/เดือน และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จะได้รับการเติมเงินเพิ่มอีก 100 บาท เป็น 300 บาท/เดือน ส่วนผู้ที่ไม่เข้าร่วม จะยังคงได้รับการเติมเงินใส่บัตรเท่าเดิม

'สมชัย สัจจพงษ์' ปลัดกระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลว่า จนถึง ณ วันที่ 28 ก.พ. 2561 มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ รวมทั้งสิ้น 6,282,182 คน คิดเป็นสัดส่วน 54.8% ของจำนวนผู้ถือบัตรทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 45.2% หรือจำนวน 5,187,003 คน ยังไม่ได้มาแจ้งความประสงค์

ขณะที่ 'พรชัย ฐีระเวช' ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ผู้ที่แจ้งความประสงค์ร่วมโครงการ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี หรือราว 3,000,000 คน โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการที่มีรายได้ระดับนี้ มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 5,300,000 คน ดังนั้นจึงเหลืออีกกว่า 2 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแต่ยังไม่เข้ามาแจ้งความประสงค์ร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าพัฒนาอาชีพจะได้รับการ 'เติมเงินส่วนเพิ่ม' ตั้งแต่เดือน มี.ค. นี้เป็นต้นไป

ส่วนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี อีกราว 2,300,000 คน ที่ยังไม่ได้มาแจ้งความประสงค์ กระทรวงการคลังจะส่งเจ้าหน้าที่ไป 'เคาะประตูบ้าน' คนกลุ่มนี้ เพื่อให้เข้าร่วมโครงการต่อไป เนื่องจากเป็น 'กลุ่มเป้าหมายหลัก' ที่รัฐบาลต้องการยกระดับรายได้


“กระทรวงการคลังจะส่งทีมหมอประชารัฐสุขใจ ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน ให้คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี มาเข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งหมด เนื่องจากเราต้องการแก้ปัญหาให้ทุกคน มีงาน มีรายได้ หลุดพ้นจากเส้นความยากจน” พรชัยกล่าว

ถ้าหากสุดท้ายยังมีผู้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการอีก จะมีการ 'แยกบัญชีรายชื่อ' เอาไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาในการ 'เปิดลงทะเบียน' รอบถัดไป

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี มีทั้งเกษตรกร ค้าขายอิสระ ลูกจ้าง นักเรียนนักศึกษา และคนว่างงาน โดยกลุ่มคนว่างงานมีราว 1,500,000 คน จึงจะมีการผลักดันให้คนกลุ่มนี้เข้าไปทำงานทดแทนแรงงานต่างด้าวที่หดหายไปในช่วงก่อนหน้านี้


คนจน

ตั้งเป้ายกระดับรายได้คนจน 3 ล้านรายเหนือ 'เส้นความยากจน'

นอกจากการ 'เคาะประตูบ้าน' ผู้มีรายได้น้อยแล้ว โครงการบัตรคนจน เฟส 2 ยังใช้วิธีการ 'วิเคราะห์และให้ความช่วยเหลือ' แบบ 'รายบุคคล' ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่รองนายกรัฐมนตรี 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' บอกว่า จะแก้ปัญหาความยากจน โดยเดินแนวทางเดียวกับ 'พรรคคอมมิวนิสต์จีน' 

ขณะที่การโฟกัสพัฒนาอาชีพให้แก่คนกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี นั้น รัฐบาลชุด คสช. ใช้เกณฑ์จากการอนุมานว่า 'เส้นความยากจน' ของประเทศไทย คือผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อ/ปี ดังนั้นหากทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้เกินเส้นความยากจนได้ ในระยะต่อไป รัฐบาลของ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ก็จะประกาศได้ว่า สามารถ 'แก้จน' ได้ 

แต่การ 'แก้จนให้หมดแผ่นดิน' จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากประชาชนยังไม่ 'เชื่อมั่น' และคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี อีกกว่า 2.3 ล้านราย ยังไม่อยากเข้าร่วมโครงการ อาจทำให้ความพยายามของรัฐ ที่ผลักดันคนจนให้มีรายได้เหนือเส้นความยากจน อาจเป็นได้เพียง 'มายาคติทางคณิตศาสตร์' เท่านั้น