ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไซเบอร์ระบุ ร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ หลายมาตราส่อกระทบสิทธิ์ ให้อำนาจแบบรวมศูนย์เกินความจำเป็น ไม่สามารถโต้แย้งหรืออุทธรณ์ได้ ฟากผอ. เอ็ตด้า แจงร่างกฎหมายใช้แนวทางสิงคโปร์ มีเจตนารมณ์ป้องกัน-ร่วมมือ-ลดความเสี่ยงภัยคุกคามทางไซเบอร์

บนเวทีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาในหัวข้อ 'อันตรายกฎหมาย ไซเบอร์'

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการไซเบอร์แห่งชาติ หยิบยกร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ ร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ ในมาตรา 56 (2) ที่ระบุว่า "ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ การป้องกันประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจการสาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็น บทบัญญัติที่มีความหมายในลักษณะที่กว้างขวาง ขาดความชัดเจน จึงจำเป็นต้องแก้ไขข้อความในส่วนดังกล่าว 

ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายยังให้อำนาจเรียกข้อมูลเข้ามาตรวจสอบ โดยไม่มีการถ่วงดุล และผู้ถูกตรวจสอบ ไม่สามารถปฏิเสธได้ ซึ่งแตกต่างจากต้นร่างของกฎหมาย ประเทศสิงคโปร์ ที่เอกชน จะสามารถปฏิเสธได้ หากเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ และยังเปิดช่องให้หน่วยงานที่ถูกเรียกข้อมูลสามารถอุทธรณ์คำสั่งของผู้มีอำนาจได้ 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีปัญหา คือมาตรา 59 ที่ระบุว่าผู้ดูแลระบบ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 47 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาทและปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นอีกประเด็นที่แตกต่างจากต้นร่างกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ ที่ระบุไว้ว่าการจะใช้อำนาจตามมาตรา 59 ได้ต้องมีเหตุอันสมควรเพียงพอ 

อีกหนึ่งความกังวลคือเจ้าหน้าที่ สามารถเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่วนตัว เช่น ในโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องมีหมายศาล ขอเพียงมีเหตุอันควรสงสัยเท่านั้น 

คอมพิวเตอร์-แฮกเกอร์-เศรษฐกิจ

ตัวแทนสมาคมโทรคมนาคมฯ ชี้ อย่าให้อำนาจองค์กรเดียวดูแลตรวจสอบ

นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้ากลุ่มวิชาการ คณะทำงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าร่างกฎหมายไซเบอร์ได้คำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนและผลประโยชน์ของภาคเอกชน ด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า สาระ บางประการของกฎหมาย กระทบสิทธิเสรีภาพหรือไม่  

ทั้งนี้ เห็นว่าการจัดตั้งสำนักงาน ที่ขับเคลื่อนกฎหมาย ขึ้นมาควบคุมใหม่ ฝ่ายรัฐจะต้องหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุป ในเชิงบูรณาการข้อมูลก่อน จากนั้นให้เหลือเพียงองค์กรเดียว ทำหน้าที่ดูแลงาน ด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการให้ข้อมูลจากเอกชนหรือผู้ถูกตรวจสอบไปยัง หน่วยงานรัฐ ในลักษณะซ้ำซ้อน

ส่วนสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นคือการให้อำนาจองค์กรเดียวในการดูแลตรวจสอบ เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดจะส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ทั้งประเทศ 

ผอ.เอ็ตด้าย้ำร่างกฎหมายผ่านการรับฟังความของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับ

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ยืนยันว่าร่างกฎหมายไซเบอร์มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกัน ร่วมมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยต้นร่างกฎหมาย มาจาก แนวกฎหมายของประเทศสิงคโปร์

สาระสำคัญ ได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ตั้งสำนักงานยกระดับความพร้อม Cyber Security เตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ รวมถึงเมื่อมีเหตุร้ายแรง มีมาตรการควบคุมอย่างไร

พร้อมยืนยันว่า ขั้นตอนการเสนอกฎหมาย มีการรับฟังในทุกระดับ แต่จะฟังมากน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา และเชื่อว่าการรับฟังความคิดเห็นสามารถทำได้ ในทุกระดับชั้น แม้กระทั่งในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็สามารถดำเนินการรับฟังความเห็นได้ เพื่อให้กฎหมายออกมามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมากที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :