ไม่พบผลการค้นหา
เพจของกลุ่ม Accessibility Is Freedom โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ชายพิการนั่งวีลแชร์ทุบกระจกลิฟต์บีทีเอสอโศกจนแตกร้าว หลังพบว่าประตูลิฟต์ล็อกไม่สามารถใช้งานได้

วานนี้ (11 มี.ค.) เพจ Accessibility Is Freedom ของกลุ่มคนที่รณรงค์เกี่ยวกับสิทธิคนพิการและการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้กับผู้พิการ โพสต์ภาพของชายพิการนั่งวีลแชร์ในสภาพมือเปื้อนเลือด หลังจากใช้มือข้างดังกล่าวทุบกระจกลิฟต์บีทีเอสอโศกจนแตก โดยที่ทางเพจบอกด้วยว่ากำลังเดินทางไป สน.ลุมพินี 

ต่อมาทราบชื่อคือ นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ผู้พิการนั่งวีลแชร์ โดยได้เดินทางไป สน.ลุมพินีพร้อมกับหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยบีทีเอสเพื่อลงบันทึกประจำวันโดยนายมานิตย์แจ้งว่า ได้เดินทางไปใช้บริการบีทีเอสอโศก แต่ระหว่างใช้บริการมีเจ้าหน้าที่มาให้ตนเองลงชื่อในเอกสาร แต่นายมานิตย์ไม่ประสงค์ลงชื่อ ต่อมาได้ไปรอใช้บริการลิฟต์ที่ชั้นจำหน่ายตั๋ว เป็นเวลาประมาณ 5 นาที ไม่มีคนมาเปิดลิฟต์ให้ ประกอบกับตั้งแต่มาใช้บริการไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก จึงใช้มือขวาต่อยเข้าที่กระจกหน้าลิฟต์หลายครั้ง จนกระจกร้าวเสียหายดังที่ปรากฏในภาพที่เพจได้ลงไว้

ขณะที่มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มองว่า ผู้พิการควรได้รับการอำนวยความสะดวกมากกว่านี้ และมองว่าปัญหาเช่นนี้ควรได้รับการแก้ไข แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการทำลายทรัพย์สินจนเสียหายในครั้งนี้

นอกจากนี้เว็บไซต์ Accessibility Is freedom ยังเผยแพร่บทความโดยระบุว่าตั้งแต่เริ่มสร้างสถานีรถไฟฟ้า บางสถานีมีการติดตั้งลิฟท์ และภายหลังพบว่าเป็นลิฟท์แบบยาวที่สามารถขึ้นทะลุไปได้ทุกชั้น ผลก็คือ จะทำให้ BTS ไม่สามารถควบคุมผู้โดยสารได้กระทบถึงทั้งความปลอดภัยและการควบคุมการจำหน่ายตั๋ว ทำให้สถานีต้องปิดลิฟท์ และเปิดเมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น

ในส่วนตัวลิฟท์เองยังเป็นลิฟท์แบบเปิดไม่มีหลังคา ทำให้ผู้โดยสารที่กำลังรอลิฟท์ต้องทนตากแดด ตากฝน กดเรียก รอเจ้าหน้าที่มาเปิดลิฟท์ให้ และยังมีผลกระทบคือเจ้าหน้าที่ต้องมาคอยดูแล เปิด-ปิด ลิฟท์ตลอดเวลา

ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่เองก็มีจำนวนจำกัด ช่วงเวลาเร่งด่วนทุกๆ ครั้งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลผู้โดยสารได้พร้อมๆ กัน

ด้านเพจ BKKTrains.com โพสต์ถึงกรณีนี้ด้วยเช่นกันว่า ลิฟต์ในสถานีรถไฟบีทีเอส ที่ติดตั้งใน 4 สถานี คือ หมอชิต, อโศก, อ่อนนุช, และช่องนนทรี จะสามารถขึ้นจากชั้นระดับถนน สู่ชั้นชานชาลาได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร ดังนั้นเพื่อป้องกันผู้โดยสารใช้บริการโดยไม่เสียค่าโดยสาร จึงต้องมีการล็อกทางเข้าลิฟต์ไว้ หากมีผู้ต้องการใช้บริการสามารถกดเรียกหรือโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ได้

ทั้งนี้มีบางสถานี บางชานชาลา มีวิธีแก้ไขปรับปรุงให้ทุกคนสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ เช่น สถานีหมอชิต หรือสถานีช่องนนทรี สามารถติดตั้งประตูตรวจบัตรโดยสารที่บริเวณหน้าลิฟต์ที่ชั้นชานชาลาได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางสถานีรถไฟบีทีเอสว่าจะดำเนินการในแนวทางไหน จะปล่อยไว้แบบปัจจุบัน หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้ใช้งานโดยไม่ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังแสดงออกไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ตลอดการเปิดให้บริการรถไฟบีทีเอสตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2542 มีสถานีที่ติดตั้งลิฟต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการเพียง 5 สถานีเท่านั้น ได้แก่ สถานีหมอชิต, สถานีอโศก, สถานีอ่อนนุช, สถานีช่องนนทรี และสถานีสยาม เท่านั้น และมีเพียงสถานีสยามเพียงแห่งเดียวที่ผู้โดยสารสามารถใช้บริการลิฟต์ได้โดยไม่ต้องกดปุ่มเรียก หรือโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานี เนื่องจากเป็นลิฟต์แบบแยกส่วนระหว่างชั้นระดับถนน กับชั้นท่าเทียบ และลิฟต์ในส่วนของชั้นท่าเทียบ กับชั้นชานชาลา ส่วนอีก 4 สถานีที่เหลือจะเป็นการติดตั้งลิฟต์ที่สามารถขึ้นจากระดับถนนสู่ชั้นชานชาลาได้โดยไม่ต้องผ่านชั้่นท่าเทียบ 

เพื่อเป็นการป้องกันกรณีที่ผู้โดยสารมาใช้บริการโดยไม่ชำระค่าโดยสาร ทางรถไฟบีทีเอสจึงปิดล็อกไว้ แต่ได้ติดตั้งเครื่องอินเทอร์คอม อยู่บริเวณทางเข้าลิฟต์ และติดตั้งหมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่สถานีเพื่อให้ผู้โดยสารที่้ต้องการใช้บริการลิฟต์สามารถแจ้งความประสงค์ไปยังเจ้าหน้าที่ได้

ต่อมาในปี 2558 ศาลมีคำสั่งให้ กทม. และรถไฟบีทีเอส ติดตั้งลิฟต์เพื่อให้ผู้โดยสารใช้บริการในสถานีที่เหลือ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการไปแล้ว คาดว่ายังไม่เสร็จเรียบร้อยทุกสถานี แต่สถานีส่วนใหญ่ลิฟต์ที่ติดตั้งใหม่ได้เปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว