ไม่พบผลการค้นหา
“พล.อ.ฉัตรชัย" ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำหลากลุ่มน้ำยม มั่นใจน้ำหลากจากภาคเหนือในทุกพื้นที่ จะไม่ส่งผลกระทบไปยังภาคเหนือตอนล่างและลุ่มน้ำเจ้าพระยา สั่งกำชับแผนรับน้ำเหนือลงทุ่งบางระกำ ย้ำไม่ละเลยพื้นที่ฝนตกน้อยเร่งปฏิบัติการฝนหลวงให้ความช่วยเหลือ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมช่วงฤดูน้ำหลาก การปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวทุ่งบางระกำ เพื่อใช้พื้นที่ทุ่งเป็นพื้นที่รับน้ำหลากในโครงการบางระกำโมเดล 61 และการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีน้ำน้อย

ภายหลังการตรวจเยี่ยม พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์น้ำหลากในหลายพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและบรรเทาผลกระทบ โดยเฉพาะขณะนี้ฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุเบบินคาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในช่วงวันที่ 17 - 20 ส.ค. 61 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงแม่น้ำยมที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ทำให้น้ำหลากจาก จ.พะเยา และ จ.แพร่ ไหลลงสู่ จ.สุโขทัย และ ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยแม่น้ำยม อ.สอง จ.แพร่ มีน้ำผ่านสูงสุด 1,350 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 61 เมื่อเวลา 06.00 และแม่น้ำยม อ.เมือง จ.แพร่ มีน้ำผ่านสูงสุด 890 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 61 เวลา 08.00 – 10.00 โดยแม่น้ำยมช่วงที่ผ่าน อ.เมือง จ.สุโขทัย สามารถรับน้ำไหลผ่านได้เพียง 550 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากความกว้างลำน้ำแคบ

ประกอบกับการวางแผนบริหารจัดการล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูฝนก่อนน้ำหลากมาถึง ทำการพร่องน้ำในแม่น้ำยม ให้อยู่ระดับต่ำสุด ก่อนน้ำหลากถึงประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยทำการผันน้ำผ่านคลองหกบาทไปยังแม่น้ำน่าน และ แม่น้ำยมสายเก่าในอัตรา 250 ลบ.ม./วินาที หลังน้ำหลากผ่าน ปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ ทำการผันน้ำออกคลองเล็กฝั่งซ้าย/ฝั่งขวา ได้ 150 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ หากยังมีน้ำหลากเกินกว่า 550 ลบ.ม./วินาที จะทำการผันเข้าแก้มลิงที่เตรียมไว้ ได้แก่ ทุ่งทะเลหลวง บึงระมาน บึงขี้แร้ง และ บึงตะเคร็ง รวมถึงพื้นที่ทุ่งบางระกำ ขณะนี้การดำเนินการถือว่าเป็นไปตามแผนปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.เมือง จ.สุโขทัย น้อยกว่า 400 ลบ.ม./วินาที

สำหรับการแผนดำเนินโครงการบางระกำโมเดลในปี 61 ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการบางระกำโมเดล 60 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน ที่มีหลายหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันปรับปฏิทินการปลูกข้าวนาปีให้ทำการเพาะปลูกได้ในเดือนเมษายน เร็วขึ้นกว่าเดิม 1 เดือน เพื่อเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนถึงเดือนสิงหาคม ในปีที่ผ่านมาสามารถรองรับน้ำหลากได้ถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถหน่วงน้ำที่ไหลหลากมาจากตอนบนของลุ่มน้ำยม ผ่านบางอำเภอในเขตจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก และมีส่วนสำคัญช่วยในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำยม-น่าน ทำให้ไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาเลย สำหรับในปี 2561 โครงการบางระกำโมเดลนี้ยังได้ขยายผลออกไปอีกจากเดิม 2.65 แสนไร่ เป็น 3.82 แสนไร่ สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้รวมกันทั้งหมด 550 ล้านลูกบาศก์เมตร

“จากสภาพอากาศที่แปรปรวน และฝนในพื้นที่ภาคเหนือมีถึงสิ้นเดือน ก.ย. 61 ดังนั้น การนำน้ำเข้าทุ่งต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ ต้องรอเวลาที่เหมาะสม ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาร่วมกัน แต่ทั้งนี้ขอสร้างความมั่นใจว่าน้ำหลากจากภาคเหนือในทุกพื้นที่จะไม่ส่งผลกระทบไปยังภาคเหนือตอนล่าง และ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยปัจจุบันเขื่อนหลักในพื้นที่ภาคเหนือ 8 เขื่อน มีน้ำรวม ร้อยละ 63 สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,000 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนภูมิพล มีน้ำร้อยละ 59 สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 5,400 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำร้อยละ 73 สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 2,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเขื่อนสิริกิติ์รับน้ำหลากจากแม่น้ำน่าน ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา มีน้ำไหลเข้ารวม 500 ล้าน ลบ.ม.พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ฉัตรชัย


ด้านนายสมเกียรติ กล่าวว่า ในปีนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการจัดทำแผนรองรับน้ำหลาก ฤดูฝนปี 2561 ซึ่งคาดการณ์ว่ามีฝนน้อยกว่าค่าปกติ ร้อยละ 5 แต่ด้วยสภาพอากาศมีความแปรปรวนมาก เกิดฝนตกหนักบริเวณชายขอบประเทศ ภาคเหนือตอนล่าง แต่ภาคกลางกลับมีฝนตกน้อย  สทนช.ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราว โดยได้ติดตามสภาพอากาศมาอย่างต่อเนื่อง และจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตนี้

ฉัตรชัย


ทั้งนี้จากการติดตามสภาพอากาศ พบว่ามีพื้นที่ที่คาดว่าจะมีฝนตกน้อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร โดยรองนายกฯ ได้สั่งการให้ช่วยเหลือด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ และคาดการณ์ถึงการทำการเกษตรในฤดูแล้งนี้ด้วย รวมถึงประสานติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงที่ในปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง รวม 9 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์และสระแก้ว ปี 2561 เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 61 รวม 161 วัน รวมประมาณ 2,800 เที่ยวบิน มีฝนตกร้อยละ 95 ของเที่ยวบิน มีฝนตกรวม 58 จังหวัด สามารถเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้กับพื้นที่การเกษตรหลายแห่งลดความเสียหายพื้นที่การเกษตรที่ขาดน้ำได้มาก