ไม่พบผลการค้นหา
'สดศรี สัตยธรรม' ชี้ หากกล่าวหา 'ทักษิณ' ครอบงำ 'เพื่อไทย' ต้องเขียนกฎหมายห้ามพูดถึงพรรคการเมืองเก่า และห้ามอดีต ส.ส.ที่รู้จักส่วนตัวเดินทางไปพบ แนะกกต.จับตา 'ที่ปรึกษา' บางพรรค ครอบงำหรือไม่

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็น ถึงมาตรา 28 และ 29 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามบุคคลภายนอกครอบงำพรรคการเมือง โดยเห็นว่ากรณีที่จะครอบงำ หรือสั่งการได้จะต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน เช่น กกต. สามารถพิสูจน์ได้ว่า บุคคลดังกล่าว จ่ายเงินเป็นท่อน้ำเลี้ยงเพื่อสนับสนุนพรรค หรือเข้ามาสั่งการควบคุม ให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. เลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือควบคุมสั่งการให้การทำไพรมารีโหวต ออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้บุคคลที่ถูกวางตัวได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

หาก กกต.พิสูจน์ข้อเท็จจริงในลักษณะดังกล่าวได้ จึงจะเข้าเงื่อนไขการครอบงำพรรคตามมาตรา 28 และ 29 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่ากรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่าพรรคการเมือง จะได้จำนวน ส.ส.เท่าใด หรือวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ล้วนแต่ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายทั้งสิ้น

ส่วนกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีจะมีความผิดได้ กฎหมายจะต้องระบุหรือเขียนไว้ให้ชัดว่า ห้ามบุคคล ที่เคยสังกัดพรรคการเมือง แสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือห้ามอดีตหัวหน้าพรรคการเมือง พูดถึงพรรคการเมืองเก่าที่ตนเองเคยสังกัด หรือ ห้ามอดีต ส.ส. เดินทางไปพบ เพราะกฎหมาย ระบุไว้เช่นนั้น 

นางสดศรี ระบุด้วยว่าประเด็นที่น่าสนใจและสุ่มเสี่ยง จะเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายมาตรา 28 ประกอบมาตรา 15 คือกรณีที่ปรึกษาพรรคซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิก เข้าไปก้าวก่าย หรือสั่งการ เพื่อให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคการเมืองกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกรรมการการเลือกตั้งควรไปตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว 

ขณะเดียวกัน แนะนำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เร่งให้ความรู้ประชาชน เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม และการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว ซึ่งจะแตกต่างจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ทำให้แต่ละเขต จะมีหมายเลขผู้สมัครไม่ตรงกัน ประเด็นเหล่านี้กรรมการการเลือกตั้งควรให้ความสำคัญมากกว่าการจ้องจับผิด พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง

"โคทม อารียา" ระบุการยุบพรรคควรเกิดโดยธรรมชาติ ไม่ใช่มาจากการชี้นำของพรรคที่เห็นต่าง 

นายโคทม อารียา อดีตอำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การพัฒนาประชาธิปไตย หรือการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง การยุบพรรคการเมืองไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะการยุบพรรคที่มาจาก การชี้นำหรือสั่งการของคนในพรรคเดียวกัน จนเป็นเหตุให้นำไปสู่การยุบพรรค หรือการชี้นำ จากฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง โดยมีความมุ่งหวัง เพื่อประโยชน์ หรือความได้เปรียบในการแข่งขันเท่านั้น 

นายโคทม เห็นว่า วิธีการดังกล่าว จะเป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนา พรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ขณะที่กรณีที่จะนำไปสู่การยุบพรรค ควรเป็นไปตามธรรมชาติ คือพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อ หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบทางธุรการ เหล่านี้เป็นการยุบพรรคที่สามารถ ยอมรับได้ 

อย่างไรก็ตามหลังการเลือกตั้ง ต้องให้พรรคการเมือง ที่ได้รับเสียงอันดับ 1 จากการเลือกตั้งของประชาชน นำการจัดตั้งรัฐบาล และนำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนไปสู่การปฏิบัติ แต่หากพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ควรเป็นพรรคการเมืองที่ได้ คะแนนในลำดับถัดมา เป็นผู้นำการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ควรให้พรรคการเมืองเสียงข้างน้อย รวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเพราะขาดความสง่างาม และอาจเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง 

ทั้งนี้เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น การหาเสียงโดยใช้นโยบาย จะยังมีความสําคัญ และสำคัญกว่าการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นพรรคการเมืองหรือนักการเมืองต้องยึดถือในหลักดังกล่าวเป็นสำคัญ ไม่ควรนำผลประโยชน์ หรือตำแหน่งในทางการเมือง มาเป็นข้อเสนอ หรือเป็นนโยบาย เพื่อหวังชัยชนะจากการเลือกตั้ง

อ่านเพิ่มเติม