ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด' พา 'แจ็ค หม่า' พบนายกฯ เช้าวันที่ 19 เม.ย. พร้อมลงนามเอ็มโอยูหน่วยงานไทย 4 ฉบับ ดันลงทุนสร้าง 'สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ' -ปั้นบุคลากรองรับตลาดออนไลน์ -จับมือ ททท.พัฒนาแพลตฟอร์มท่องเที่ยว ยกสินค้าโอท็อปขึ้นออนไลน์

วันที่ 19 เม.ย. เวลา 10.30 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะนำนายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป และคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และช่วงบ่ายวันเดียวกัน จะมีพิธีลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยกับ อาลีบาบา กรุ๊ป ในด้านการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย 

1) ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ กรศ. (สำนักงาน อีอีซี) และ บริษัท อาลีบาบา (จีน) จำกัด  

2) ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ อีอีซี ระหว่างสำนักงาน อีอีซี กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network 

3) ความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัล และการส่งเสริมธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซ ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ Alibaba Business School 

4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท Fliggy จัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับประเทศไทย เพื่อนำสินค้าโอท็อป แผนที่ท่องเที่ยวกระจายในระบบออนไลน์แพลตฟอร์ม เชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ Internet of Things (IOT) ที่เป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการธุรกิจ 

นอกจากนี้ จะมีพิธีเปิดการซื้อขายข้าวไทยผ่าน Tmall.com ด้วย

ก.อุตฯ เซ็นความร่วมมือลงทุนสร้าง 'สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ' ยกระดับการขนส่ง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยของนายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ปในครั้งนี้ มีการหารือร่วมกับรัฐบาลไทยและการประกาศแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี รวมถึงโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและส่งเสริมบุคลากรไทยในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ

โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 3 ฉบับ ดังนี้ 

1) โครงการลงทุนสร้างศูนย์ Smart Digital Hub ใน พื้นที่ EEC โดยศูนย์ฯ นี้จะอาศัยเทคโนโลยีระดับโลกของอาลีบาบาในด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และที่อื่นๆ ทั่วโลก ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด และยังได้ประสานกับกรมศุลกากรในการยกระดับพิธีการทางศุลกากรให้เป็นระบบดิจิทัล ซึ่งการตั้งศูนย์ Smart Digital Hub นี้จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสตาร์ทอัป และ เอสเอ็มอีไทยสามารถพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงตลาดทั่วโลกได้ 

รวมถึงจะเป็นศูนย์กลางการในการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงาน อีอีซี จะเชื่อมประสาน Smart Digital Hub กับ เขตนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลพาร์ค (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) 

2) โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัลและการส่งเสริมธุรกิจผ่านอี คอมเมิร์ซ ซึ่งอาลีบาบาจะร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่ง หรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) พร้อมกับเสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) มาร่วมสนับสนุนการใช้ Platform E-Commerce โดยจะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน 

ภายใต้โครงการนี้ อาลีบาบาจะเปิดโอกาส ให้นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์รวมถึงผู้ประกอบการไทยไปร่วมเข้าโครงการฝึกอบรมพัฒนาในด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสร้างเครือข่าย (Networking) กับ Talents (ดาวเด่น) ทั่วโลกที่ประเทศจีนด้วย

3) โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัปของไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเน้นให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ ได้เรียนรู้และเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีไทยให้สามารถเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยอาลีบาบาจะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรม และใช้เครือข่ายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 สู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ในระดับภาคและจังหวัดของกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สามารถพัฒนาและเข้าถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัประดับชุมชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ อาลีบาบาได้ทำการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบ ในระดับภูมิภาคและเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล และอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาค จึงมีความตั้งใจที่จะมาลงทุนและร่วมมือกับหน่วยงานของไทยในโครงการต่างๆ 

คาดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยสร้างรายได้แตะ 1.9 แสนล้าน ภายในปี'65

อีกทั้ง ปัจจุบันมีประชากรโลกกว่าร้อยละ 68 สามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือแล้ว ขณะที่จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือ (Active Mobile Social Users) ของโลกและของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 14 และ 16 ตามลำดับ 

รายได้จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยสำหรับประเทศไทยคาดว่ารายได้จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 113,400 ล้านบาท ในปี 2561 เป็น 186,500 ล้านบาท ในปี 2565 ประกอบกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะช่วยสร้างความมั่นใจในทิศทางการพัฒนาประเทศ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ โครงข่ายทางดิจิทัล และมาตรการสิทธิประโยชน์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการลงทุน 

โดยสิ่งเหล่านี้ มีส่วนทำให้อาลีบาบาเล็งเห็นโอกาสที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ Internet of Things (IOT) ที่เป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการธุรกิจ

"โครงการที่อาลีบาบาจะมีส่วนร่วมนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันและเข้าถึงตลาดการค้าได้ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ระดับจังหวัด ให้เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ซึ่งความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้ จะเปิดกว้างสำหรับบริษัทหรือองค์กรชั้นนำอื่นด้วย ไม่จำกัดอยู่เฉพาะอาลีบาบาเท่านั้น" นายอุตตม กล่าว

โทรศัพท์

สสว. อัดแคมเปญ SME 1 BAHT ปลุกยอดขาย SME ONLINE 650 ล้านบาท

​นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนิน โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเอสเอ็มอี หรือ 'SME ONLINE' มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2561 นี้ ได้ร่วมมือกับ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ในรูปแบบ Business to Business to Customer (B2 B 2C) ควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจค้าขายทางออนไลน์ได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นอกจากนี้ สสว. ยังเชื่อมโยงการส่งเสริมการ ตลาดระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ SME ภาคการผลิต กับกลุ่มผู้ให้บริการด้านตลาดออนไลน์ โดยจับมือกับ E-marketplace ที่เข้าร่วมโครงการ จัดแคมเปญ 'SME 1 BAHT' ลดราคา สินค้าที่อยู่ภายใต้โครงการ SME ONLINE โดยจำหน่ายในราคา 1 บาท เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ประกอบการ ส่วนที่เหลือ สสว. จะเป็นผู้สนับสนุน แต่ไม่รวมค่าขนส่ง โดยกิจกรรมส่งเสริมการขายนี้มีกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 1 ของเดือน เริ่มดีเดย์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. -1 ก.ย. 2561 รวมสินค้าที่เข้าร่วมแคมเปญกว่า 100,000 รายการ

ทั้งนี้ สสว. คาดว่า การทำกิจกรรมภายใต้โครงการ SME ONLINE ในปีนี้ จะมีผู้ประกอบการได้รับความรู้และประโยชน์จากโครงการกว่า 50,000 ราย มีสินค้าและบริการเข้าร่วมจำหน่ายผ่านทางออนไลน์กว่า 100,000 รายการ และสามารถสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการกว่า 650 ล้านบาท รวมถึงส่งเสริมรูปแบบการบริหารจัดการตลาดออนไลน์ ให้เป็นช่องทางการตลาดที่ยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการต่อไป