ไม่พบผลการค้นหา
ลาก่อน ทีวี24 ประโยคอำลาของผู้จัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทีวี24 สถานีประชาชน ซึ่งออกอากาศในยุคที่ คสช. ควบคุมการปกครองประเทศมาตลอด 4 ปี อะไรคือเหตุและปัจจัยของการปิดตัวลงของสถานีข่าวแห่งนี้ ติดตามได้จากรายงานพิเศษ

"ลาก่อน ทีวี24 ลาก่อน​ เอเซียอัพเดท​ ลาก่อน​ ดีดีทีวี ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม สำหรับผมยังเดินหน้าตามเส้นทางประชาธิปไตยต่อไป" 

นี่เป็นข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของ 'สมคิด เชื้อคง' อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย โดยระบุก่อนที่สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทีวี 24 สถานีประชาชน จะปิดตัวลงหลังเที่ยงคืนของ วันที่ 30 พ.ค. 2561 

ถือเป็นการปิดสถานีโทรทัศน์ประชาชน ที่เป็นกระบอกเสียงให้กับ 'พรรคเพื่อไทย' และ 'ภาคประชาชนมาตลอดเกือบ 10 ปี'

จุดกำเนิดของ ทีวี 24 เป็นสถานีข่าวภายใต้การดำเนินการบริหารงาน บริษัท เดโมเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ก จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2552 ด้วยทุนประเดิม 5 ล้านบาท

ก่อนจะมาเป็น 'ทีวี24' ชื่อแรกของสถานีคือ ดีสเตชั่น หรือ สถานีประชาชน (พีเพิลชาแนล) เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2552 และยุติการออกเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. ซึ่งถูกรัฐบาลในขณะนั้นระงับการออกอากาศ

จากนั้น ดีสเตชั่น หรือพีเพิลชาแนล ต้องเปลี่ยนแบรนด์มาเป็น 'เอเชียอัพเดท' โดยเริ่มออกอากาศเต็มรูปแบบอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2553 โดยใช้สถานีเดิมของพีเพิลชาแนล ก่อนถูกประกาศของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ฉบับที่ 6/2557 เรื่องขอความร่วมมือระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชน ซึ่งเป็นการออกประกาศตามอำนาจของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457

ทำให้ 'สถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดต' ต้องยุติออกอากาศและปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในทันที เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 15/2557 เรื่องขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอล และสถานีวิทยุชุมชน  

เหตุการณ์หลังจากนั้น ทำให้ บริษัท เดโมเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ก จำกัด ได้ขอใบอนุญาตดำเนินงานต่อโดยเปลี่ยนชื่อสถานีมาเป็น โอเพ่น ทีวี ก่อนจะมาเป็นชื่อสุดท้ายคือ 'ทีวี 24'

การดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทีวี 24 มีอุปสรรคมาโดยตลอด เพราะเป็นการทำงานที่ต้องอยู่ภายใต้การจับตาของ 'คสช' และ 'กสทช.'มาโดยตลอด นับแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 

เนื่่องด้วย 'ทีวี24' ได้รับใบอนุญาตให้เป็นช่องข่าวการเมือง รูปแบบข่าวและรายการมีการนำ คนการเมืองจากพรรคเพื่อไทยมาร่วมจัดรายการ

ตรงนี้เองจึงเป็นจุดที่ถูกจับตามองไม่น้อย จนประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจของทางสถานีอยู่บ่อยครั้ง

ครั้งแรก มติ กสท.ให้ ทีวี 24 ระงับการออกอากาศ 7 วันเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2558 โดยระบุว่า เนื้อหาในบางรายการ ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ ฉบับที่ 103/2557 

ครั้งที่ 2 เจ้าหน้าที่ กสทช. นำคำสั่งของ สำนักงาน กสทช. มาระงับการออกอากาศช่องทีวี 24 เป็นเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ 24 พ.ย. 2560 โดยหนังสือดังกล่าวระบุสาเหตุที่ระงับการออกอากาศว่า มีเนื้อหาบางรายการที่มีความไม่เป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนรอบด้าน

ทีวี 33074218_1742122482514413_2988744355465920512_n.jpg


"เราถูกปิดไป 7 วัน 1 ครั้ง 30 วัน 1 ครั้ง และถูกระงับรายการ 15 วัน 1 ครั้ง ล่าสุดก็ต้องรอดูมติของ กสทช.อีกว่าจะปิดกี่วัน เราก็พิจารณาการบริหารงานว่าคุ้มไม่คุ้ม ทำต่อไปการเมืองจะปิดต่อไปบ่อยไหม เห็นใจพนักงานจะทนสภาพนี้ได้ไหม เราตัดสินใจปิดถาวร เลิกจ้าง จะเกิดใหม่รูปแบบไหนบริษัทจะพิจารณาอีกครั้ง คนที่อยู่กับเรามีความสามารถทุกคน"


'วรุธ ทัฬหสุคนธ์' ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียน ทีวี 24 ระบุกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ก่อนถึงนาทีที่ปิดตัวสถานีอย่างเป็นทางการ ว่า "เราปิดในส่วนทีวี 24 แต่ใบอนุญาตยังรักษาไว้ อาจจะเปิดอีกเมื่อไรก็ต้องดูอนาคต แต่เหตุผลที่ปิดสถานี เพราะเราถูกคำสั่ง คสช. กสทช. ตำหนิบ่อย เหมือนวอยซ์ทีวี และเชิงธุรกิจ ก็เดินต่อลำบาก"

ในส่วนของบุคลากรที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับทีวี 24 มาตลอด 4 ปี ทางสถานีก็ได้เลิกจ้างไปซึ่งทำตามกฎหมายแรงงานทุกอย่าง

ส่วนพนักงานของทีวี 24 จะมาร่วมงานกับ วอยซ์ทีวี หลังจากนี้ตามกระแสข่าวลือหรือไม่นั้น ผอ.วรุธ บอกว่า "ยังไม่ทราบ ผมว่าไม่เกี่ยว ให้พนักงานตัดสินใจเอง"

ถามว่า การทำหน้าที่สื่อภายใต้ชื่อทีวี 24 ในยุคที่ คสช.เรืองอำนาจ กระทบมากน้อยแค่ไหน ผอ.วรุธ บอกทันทีว่า "กระทบการทำงานสื่ออย่างมาก และกระทบต่อความเชื่อมั่นของสปอนเซอร์ เพราะสปอนเซอร์ไม่เชื่อมั่นก็วางแผนไม่ได้ พนักงานก็ไม่มั่นใจ ถึงแม้จะเป็นนักสู้ ไม่แน่ใจจะปิดอีกหรือไม่ ทำอะไรก็เดาใจ คสช. กับกสทช.ไม่ถูก"

นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ ทีวี 24 ซึ่งออกอากาศมา 4 ปีต้องปิดตัวลง โดยจะรอให้สถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นก่อน แล้วจึงมาคิดแผนการดำเนินงานอีกครั้งว่าจะทำงานภายใต้รูปแบบใด

ทีวี24 ทีวี 10731031_760321740694497_1645039114156516367_n.jpg

ด้าน 'สมคิด เชื้อคง' อดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งร่วมจัดรายการตรงไปตรงมา ผ่านทางทีวี 24 บอกว่า การปิดตัวของทีวี 24 กระทบกับความรู้สึกของผู้ติดตามมากพอสมควรในกลุ่มประชาธิปไตย ชาวบ้านที่สนใจรายการนี้กระบมาก แต่เหตุผลที่ปิดตัว อันดับหนึ่งคือ รูปแบบรายการมักถูกใบเตือนจาก กสทช. อยู่บ่อย ซึ่งทางสถานีก็เกรงว่าจะกระทบต่อใบอนุญาต และเรื่องหลักอีกเรื่องคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีค่าใช้จ่ายสูง

"มีคนมาโทรศัพท์เยอะ แจ้งไปในไลน์ เฟซบุ๊ก ทุกคนเสียใจ ทำไมไม่บอกล่วงหน้า เป็นการตัดสินใจของกลุ่มผู้บริหาร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องกระทบความรู้สึกของแฟนๆ อยู่ ปกติมีแฟนอยู่ระดับหนึ่ง" สมคิด บอกกับ 'วอยซ์ ออนไลน์'

สำหรับบทบาทของทีวี 24 ในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ผอ.วรุธ เผยว่า "ผมก็ต้องศึกษาสื่อโซเชียลให้มากขึ้น คงไม่ปิดตายถึงท้อถอย อาจจะเปลี่ยนไปทำสื่อใหม่ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ ทำโซเชียลเหมือนแบบที่คนอื่นเขาทำ อย่างทีนิวส์ก็มาทำออนไลน์อย่างเดียว แต่เราต้องใช้เวลาศึกษาว่าคุ้มหรือไม่คุ้มด้วย"

"แน่นอนเราจะกลับมาเกิดใหม่ แต่ไม่ใช่ดาวเทียม โซเชียลแน่นอน เร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ความพร้อมการเมือง" ผอ.วรุธ กล่าวเป็นคำสุดท้ายที่ในวันนี้ที่ไม่มี ทีวี 24 ออกอากาศอย่างเป็นทางการแล้ว