ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมการปกครอง ชี้ 'โค้ชเอก' มีโอกาสได้สัญชาติไทย หลังตรวจสอบหลักฐานเบื้องต้น แจงไม่ได้เลือกปฏิบัติกับกรณี 'น้องหม่อง' อดีตแชมป์ร่อนเครื่องบินกระดาษ แต่หลักฐานการยื่นต่างกัน

ร้อยตำรวจโท อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการยื่นขอสัญชาติไทยเบื้องต้น คาดว่านายเอกพล จันทะวงษ์ หรือ 'โค้ชเอก' และเยาวชนสมาชิกทีมหมูป่า อะคาเดมี อีก 2 คน มีโอกาสจะได้รับสัญชาติ เพราะคุณสมบัติหลายอย่างเข้าข่ายระเบียบการขอสัญชาติของกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายอำเภอแม่สาย เพราะได้รับอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามระเบียบของกระทรวง ซึ่งหากโค้ชเอกได้สัญชาติไทย ก็จะได้ถือบัตรประชาชน ที่มีเลขนำหน้าเป็นเลข 7 คือเป็นบุตรของชนกลุ่มน้อยที่ได้รับสัญชาติไทยตามระบบทะเบียนราษฏร์ได้จำแนกรหัสเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้

ขณะนี้ทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กำลังตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ของโค้ชเอกอยู่ โดยมีช่องทางอยู่ 2 แนวทางคือ การยื่นขอตามหลักฐานการเกิด ซึ่งโค้ชเอกเกิดที่อำเภอแม่สาย ส่วนหลักฐานอื่นๆ ต้องตรวจสอบทั้งของบิดามารดา รวมถึงเอกสารการเกิดของทั้งสามคนว่าเกิดในประเทศไทยหรือไม่ และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า บิดาของโค้ชเอกเป็นชนกลุ่มน้อยไทยลื้อ แต่เกิดในประเทศไทยหรือไม่นั้น จะต้องย้อนไปตรวจสอบทะเบียนประวัติการเกิดของบิดาโค้ชเอก รวมถึงตรวจสอบพยานบุคคล แวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

เชื่อว่าหลังจากที่ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและกลับบ้านได้แล้ว ผู้ปกครองของหมูป่าทั้ง 3 คน จะมาดำเนินการยื่นหลักฐานต่างๆ พร้อมยืนยันว่าการพิจารณา การให้สัญชาติของโค้ชเอกและน้องหมูป่าอีก 2 คน ไม่ได้ดำเนินการหลังจากเกิดกรณีติดถ้ำหลวง แต่ครอบครัวได้ยื่นขอสัญชาติไทยมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว เพียงแต่ช่วงนี้เป็นจังหวะที่จะได้นำเอกสารมาตราจสอบพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนที่มีการเปรียบเทียบกรณีของ นายหม่อง ทองดี อดีตแชมป์ร่อนเครื่องบินกระดาษพับซึ่งไปแข่งขันที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2552 ในฐานะตัวแทนไทยที่เคยได้รับการรับรองจากอดีตรัฐบาลว่าจะพิจารณามอบสัญชาติ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้จะยื่นเรื่องขอมานานแล้ว จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่าบิดาและมารดาของนายหม่อง เป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ทั้งนี้ต้องไปย้อนดูว่านายหม่องใช้ช่องทางและเงื่อนไขใดในการยื่นคำร้องขอสัญชาติไทย ซึ่งต่างจากหมูป่า 3 คน ที่เป็นลูกของชนกลุ่มน้อยดังนั้นการพิจารณาสิทธิ์ขอสัญชาติไทยจึงมีข้อจำกัดแตกต่างกัน

CLIP Wake Up News :ลงทะเบียนคนจนดี แต่อย่าหาเรื่องยกเลิกรถเมล์ฟรี

ด้านนายวีนัส ศรีสุข ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขผู้จะได้รับสัญชาติไทย ต้องมีหลักฐานการเกิดในประเทศไทย หากไม่มีการแจ้งเกิดไว้ สามารถยื่นเรื่องที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นขอตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง เพื่อขอใบรับรองการเกิด จากนั้นจะพิจารณาจากพ่อแม่ หากเป็นชนกลุ่มน้อย ก็จะต้องตรวจสอบประวัติย้อนหลังว่าเคยทำทะเบียนประวัติไว้ และมีเลขประจำตัว 13 หลักหรือไม่ รวมถึง ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 15 ปีนับจากวันที่มายื่นเรื่อง 

อย่างไรก็ตาม ในระเบียบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ได้ขยายสิทธิการขอสัญชาติให้กับคนทุกกลุ่มแล้ว เพื่อให้ครอบคลุมกับทุกกลุ่มที่จะได้สัญชาติไทย แต่การพิจารณาทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับหลักฐานข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล ว่าจะเข้าเงื่อนไขข้อใดบ้าง ซึ่งการจะให้บัตรประชาชนกับบุคคลที่ขอสัญชาติไทยหรือไม่นั้น หากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นอำนาจของนายอำเภอ แต่หากมีอายุเกิน 18 ปี เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด 

ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เผยกับข่าวสดว่านับเป็นเรื่องดีที่กระทรวงมหาดไทยหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กไร้สัญชาติ และเด็กที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ด้วยการตรวจสอบว่าน้องทีมหมูป่าคนไหนที่ยังไม่มีสัญชาติ ก็จะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน และหากมีเด็กคนไหนที่มีคุณสมบัติสามารถได้รับสัญชาติไทย การเร่งดำเนินการให้พวกเขา จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

อย่างไรก็ดี อยากให้กระทรวงมหาดไทยมองปัญหานี้ในภาพรวม เพราะขณะนี้ประเทศไทย มีคนไร้สัญชาติอยู่หลายแสนคน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพื้นที่ชายแดนอย่างน้องๆ ทีมหมูป่า ซึ่งแม้บางคนมีคุณสมบัติครบแล้ว แต่ด้วยการดำเนินการที่ล่าช้า ทำให้มีผู้ตกค้างรอการพิสูจน์อีกเป็นจำนวนมาก อย่างในพื้นที่ จ.เชียงราย ทั้ง อ.แม่สาย หรือ อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้ไม่เพียงพอ ทำให้บางคนต้องรอกระบวนการพิสูจน์สัญชาติถึง 3 ปี กว่าจะได้เข้าสู่ขั้นตอนของรัฐ