ไม่พบผลการค้นหา
กสทช. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวศูนย์ทดสอบ 5G แห่งแรกในอาเซียน เดินหน้าขับเคลื่อนให้เปิดบริการได้จริงในปี'63 ตามนโยบายรัฐบาล

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวศูนย์ทดสอบ '5G AI/IoT Innovation Center' ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหนุนการก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านระบบโทรคมนาคม เมื่อ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา

โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ระบุว่า ความร่วมมือกับสถาบันศึกษาในครั้งนี้ ได้มีการติดตั้งและดูแลอุปกรณ์สถานีฐานของโครงข่าย 5G โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ผลิิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ทั้ง ทรู ดีแทค เอไอเอส แคท และทีโอที โดยเฟสแรกการจายคลื่นแค่เฉพาะในตึก 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และตั้งเป้าจะขยายสู่เฟส 2 ครอบคลุมทั้งมหาวิิทยาลัย

"ในวันนี้ เราเป็นประเทศแรกที่เปิดศูนย์ทดลอง 5G ในอาเซียน ต้องถือว่าประเทศไทยเองเดินหน้าเร็วมาก หลายคนบอกว่า 3G/ 4G ล่าช้ามาเป็นสิบปี 5G เรานี่กำลังจะเดินหน้าเร็วกว่าในอาเซียนทั้งหมด การเลือกจุฬาฯ เป็นพื้นที่เพราะมีศักยภาพ เป็นแหล่งชุมชนต่างๆ ที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น" ฐากร กล่าว

ฐากร.JPG

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.

การจัดตั้งศูนย์ในครั้งนี้ ติดตั้งคลื่นความถี่ในช่วง 26.5-27.5 กิกะเฮิร์ต ซึ่งจะช่วยในการทดสอบอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการทดสอบนวัตกรรมที่พัฒนาโดยนักศึกษาและบุคลากร ปัจจุบัน มีการทดสอบอุปกรณ์บนการใช้งาน 5G ในจุฬาฯ อาทิ รถยนต์ขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ CU TOYOTA Ha:mo เป็นต้น

hG.JPG

การทดสอบเทคโนโลยี 5G เป็นเรื่องที่เกิดการขับเคี่ยวอย่างหนักในเวทีระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตนวัตกรรม ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงจีนด้วย โดยทุกประเทศตั้งเป้าใน พ.ศ.2563 จะเริ่มมีการนำร่องใช้งานเครือข่าย 5G ในประเทศ เพราะเทคโนโลยี 5G ไม่ใช่แค่เร็วและแรงขึ้นเท่านั้น แต่ว่าเป็นเครือข่ายที่รองรับและเชื่อมโยงอุปกรณ์ IoT (Internet of Things: อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) ได้เป็นล้านๆ ชิ้น

ฐากรย้ำว่า ประเทศไทยจะเริ่มเปิดบริการ 5G ในพ.ศ.2563 ตามนโยบายรัฐบาลอย่างแน่นอน พร้อมย้ำถึงผู้ให้บริการเครือข่ายว่า "สิ่งที่โอเปอเรเตอร์วิตกกังวลว่า 5G ต้องมีการลงทุนเยอะ ท่านอย่าห่วงนะครับ ท่านไม่ต้องห่วงด้านการเงิน กสทช.จะหาทางให้ท่านเกิดแน่นอนนะครับ ท่านไม่อยากเกิดแต่ผมจะจับให้ท่านเกิดให้ได้ เพราะว่าเราต้องทำทุกวิถีทาง สิ่งไหนที่ กสทช. ทำได้ เราต้องเดินหน้าให้ 5G เกิดขึ้นให้ได้ หลายค่ายบอกติดขัดเรื่องการเงิน มากู้เกินจากกองทุนกสทช. ได้นะ..ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เราช่วยกันขับเคลื่อนประเทศจริงๆ เราจะต้องเป็นประเทศแรกในอาเซียนให้ได้"

ด้าน ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์ 5G นี้จัดตั้งเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมให้เกิดระบบ 5G ตามนโยบายของรัฐ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรจุฬาฯ เท่านั้น แต่ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาใช้ศูนย์ร่วมพัฒนาได้

"ศูนย์ของเราก็ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานตัวหนึ่งที่จะช่วยเชื่อม นำความรู้ และพัฒนาสังคมเราไปด้วยกัน การนำ 5G มาใช้คงไม่ใช่เกิดขึ้นเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราอยากเห็นการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม ไปร่วมกัน"

ทั้งนี้ หากการถือกำเนิดเครือข่าย 5G ในประเทศไทยเกิดขึ้นจริง จะช่วยเหลือโดยตรงกับอุตสาหกรรมหลายภาคส่วนสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข หรือการเกษตร โดยในด้านการเกษตร ที่เห็นได้เป็นรูปธรรมคือเรื่องของโดรนอัจฉริยะ ที่สามารถใช้ได้ทั้งในการสำรวจแผนที่ ตลอดจนการบินฉีดพ่นยาฆ่าแมลง

มหิศร ว่องผาติ ซีอีโอจาก เอชจี โรโบติกส์ (HG ROBOTICS) ผู้พัฒนาโดรนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร บอกว่า เทคโนโลยีโดรน สามารถทดแทนแรงงานคนที่กำลังขาดแคลนในประเทศได้ และมากไปกว่านั้นคือความปลอดภัยทางสุขภาพของชาวไร่ชาวสวนเอง ที่ไม่ต้องสัมผัสเคมีโดยตรง

"ประเทศเราไม่ใหญ่ไม่เล็ก แต่ 150 ล้านไร่ หรือครึ่งประเทศเราเป็นพื้นที่เกษตร"

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีก้าวไกล ก็ต้องมาพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานเน็ตเวิร์กที่แข็งแรง รองรับได้กว้างขวาง มหิศรเองก็คาดหวังว่า 5G จะเกิดขึ้นในไทย แต่อาจจะต้องรอดูความพร้อมของโอเปอร์เรเตอร์และปัจจัยอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

drone.JPG

"โดรนของเราใช้ระบบ 4G อยู่แล้ว เราวางแผนด้วยคอมพิวเตอร์ได้เลยว่าจะให้บินตรงไหนยังไง เราก็เซฟตรงนี้ขึ้นระบบคลาวน์ พอจะใช้งานจริงในต่างจังหวัด จะฉีดพ่นยา ผู้ใช้งานก็เปิดแค่แท็บเล็ต ต่อเข้าไปในแอคเคานท์ของเรา โหลดข้อมูลและเริ่มใช้งาน ระหว่างที่โดรนบิน ข้อมูลก็ส่งกลับมายังแท็บเล็ตที่มีซิม 4G อยู่ เราสามารถมอนิเตอร์การทำงานทั้งหมดเรียลไทมส์ที่กรุงเทพฯ ได้ แต่ตรงนั้นก็ยังมีข้อจำกัดต่างๆ

แต่ถ้า 5G มีความเร็วสูง เชื่อมโยงอุปกรณ์ได้เยอะ ที่สำคัญคือหากสามารถครอบคลุมพื้นที่การเกษตรที่มีพื้นที่มากๆ ในไทยได้จริงๆ มันก็จะไม่ใช่แค่โดรนแล้ว เครื่องจักรเกษตรอื่นๆ รวมถึงรถ ก็จะสามารถเชื่อมเข้าเป็นระบบเดียวกัน และข้อมูลตรงนั้นสามารถเชื่อมเข้ามาในระบบของเรา เพื่อให้การตัดสินใจการใช้งานต่างๆ ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดมากขึ้นด้วย"

มหิศร.JPG

มหิศร ว่องผาติ ซีอีโอ เอชจี โรโบติกส์ (HG ROBOTICS)