ไม่พบผลการค้นหา
เกือบ 8 เดือนแล้ว หลังรัฐสภารับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ และการพลิกล็อกอีกหลายรอบ จนในที่สุด สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 100 - บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็ผ่านมาสู่ขั้นตอนเตรียมทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้

ทว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับมาเจอ ‘หล่มใหญ่’ เมื่อกลุ่ม ‘พรรคจิ๋ว’ ดิ้นสู้เฮือกสุดท้าย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสูตรคำนวณแบบหาร 100 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้วยความมุ่งหวังจะนำสูตรคำนวณหาร 500 กลับมาให้ได้ เผื่อว่าสมัยหน้าตัวจะได้กลับเข้าสภาฯ ด้วย

ในระหว่างที่ ‘คำตอบสุดท้าย’ ของศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นปริศนา ‘วอยซ์’ คุยกับ สุขุมพงศ์ โง่นคำ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชวนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทุกทางที่จะเกิดขึ้นหลังศาลมีคำวินิจฉัย ซึ่งผลลัพธ์อาจมีได้ ตั้งแต่ ‘แลนด์สไลด์’ จนถึง ‘ทางตัน’

กรรมาธิการ กฎหมายลูก รัฐสภา 62AF0F7B63AF.jpeg

ขัดกันวุ่น เพราะรัฐธรรมนูญแก้ไม่สมบูรณ์

ที่มาของการแก้กฎหมายเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันว่า ‘กฎหมายลูก’ นั้น เริ่มจากการแก้ไข ‘กฎหมายแม่’ ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ เมื่อ 24 มิ.ย. 2564 มีการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเข้ามาถึง 13 ฉบับ มีทั้งเสนอแก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ และอื่นๆ แต่ก็ถูกตีตกไปทั้งหมด

รัฐสภาเลือกรับหลักการร่างที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์เพียงร่างเดียว ซึ่งมุ่งแก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยย้อนไปใช้ระบบคล้ายกับปี 2540 คือ มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งสำหรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต และอีกใบสำหรับเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จำนวน ส.ส.ในสภาจึงถูกปรับเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังมีความไม่สมบูรณ์ หรือ ‘ไม่สะเด็ดน้ำ’ หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญแก้ไม่ครบทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมายังมีความขัดแย้งกับบางมาตราที่ไม่ได้แก้

ประชุมรัฐสภา กฎหมายลูก -0333-43DE-96E2-B54574111984.jpeg

จตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มองว่าร่างของพรรคประชาธิปัตย์ขอแก้ไขแค่ 2 มาตรา คือมาตรา 83 แก้จากบัตร 1 ใบ เป็น 2 ใบ แก้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ โดยไม่ได้ขอแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 86 ว่าด้วยวิธีการได้มาซึ่งจำนวน ส.ส.เขตพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้ ส.ส.เพิ่ม อีกทั้งที่เสนอแก้ไขมาตรา 91 การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค เสนอยกเลิกวิธีคำนวณทั้งหมด กลับไปใช้วิธีคำนวณให้สอดคล้องกับบัตร 2 ใบ แต่ไม่ได้ระบุวิธีคำนวณให้ได้ ส.ส. 100 คน เพียงระบุสั้นๆ ว่าให้ไปใส่ในกฎหมายลูก ซึ่งฟังดูไม่น่าไว้ใจ

ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ก็สำทับว่า “การแปรญัตติในวาระที่สอง ต่อให้เทวดามาแปรญัตติก็ถึงทางตัน เพราะแก้แล้วยังขัดกับมาตราที่ไม่ได้แก้” เช่น มาตรา  93, 94 ยังคงระบุถึงวิธีได้มาของ ส.ส.บัญชีรายชื่อในรูปแบบบัตรใบเดียวอยู่เลย

แต่จนแล้วจนรอด ร่างแก้ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ลอยลำผ่านมาทั้ง 3 วาระของสภา นำมาสู่การแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งเพิ่มเติม – ทั้งที่รัฐธรรมนูญยังแก้ไม่สมบูรณ์นั่นแหละ

สมชัย กรรมาธิการ กฎหมายเลือกตั้ง -0C50-4424-826C-D5889BA46514.jpeg

สุขุมพงศ์ มองว่าการแก้ไขมาตรา 91 ว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.ให้เป็นแบบหาร 100 เป็นระบบที่จะเอื้อให้พรรคขนาดใหญ่มีโอกาส ‘แลนด์สไลด์’ ได้มากขึ้น พร้อมทั้งตัดโอกาสที่พรรคขนาดเล็กจะได้เข้าสภา พร้อมจำนวนคะแนนเสียงต่อเก้าอี้จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่มาตรานี้กลับเป็นช่องโหว่ถูกโจมตีว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวที่ผ่านมาไม่ครบถ้วน โดยแก้ไขมาตรา 91 แต่กลับไม่ได้แก้มาตรา 92-93 ทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญขัดกันเอง

“มาตรา 92-93 ต้องตัดทิ้งไปเลย ไม่ต้องเอามาใช้ เพราะแยกกันเด็ดขาด ไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่กลับไม่ยอมตัดทิ้ง เพราะเห็นว่าเกินหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญขัดกันเอง จะแก้อย่างไรก็ขัดกัน แก้ตาม 92-93 ก็ขัดกับ 91 แก้ตาม 91 ก็ขัดกับ 92-93 ไม่มีทางที่จะตรงกันได้” สุขุมพงศ์ อธิบาย

และเมื่อมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว สุขุมพงศ์ มองว่าผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มีอยู่ 4 แนวทางใหญ่ๆ

4 ความเป็นไปได้ กฎหมายเลือกตั้ง.jpg

ทางที่ 1 : ศาลวินิจฉัยว่า “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ”

ส่วน สุขุมพงศ์ มองว่าการแก้ไขมาตรา 91 ว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.ให้เป็นแบบหาร 100 ซึ่งจะเอื้อให้พรรคขนาดใหญ่มีโอกาส ‘แลนด์สไลด์’ ได้มากขึ้น พร้อมทั้งตัดโอกาสที่พรรคขนาดเล็กจะได้เข้าสภา พร้อมจำนวนคะแนนเสียงต่อเก้าอี้จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่มาตรานี้กลับเป็นช่องโหว่ถูกโจมตีว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวที่ผ่านมาไม่ครบมาตรา โดยแก้ไขมาตรา 91 แต่กลับไม่ได้แก้มาตรา 92-93 ให้เสร็จ ซึ่งยังทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญขัดกันเอง

“มาตรา 92-93 ต้องตัดทิ้งไปเลย ไม่ต้องเอามาใช้ เพราะแยกกันเด็ดขาด ไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่กลับไม่ยอมตัดทิ้ง เพราะเห็นว่าเกินหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญขัดกันเอง จะแก้อย่างไรก็ขัดกัน แก้ตาม 92-93 ก็ขัดกับ 91 แก้ตาม 91 ก็ขัดกับ 92-93 ไม่มีทางที่จะตรงกันได้” สุขุมพงศ์ อธิบาย

แล้วต่อไปจะทำอย่างไร? – สุขุมพงศ์ ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหลักการตีความอยู่ คือเมื่อกฎหมายที่ออกมาภายหลังแล้วต่างจากกฏหมายเดิม โดยยังไม่ได้ยกเลิกกฎหมายเดิม หลักการคือให้ยึดตามกฎหมายที่ออกมาให้ กฏหมายใหม่จะไปแก้ของเก่าโดยปริยาย

หากศาลรัฐธรรมนูญใช้หลักการนี้ กฎหมายเลือกตั้งจะได้ ‘คลอด’ ออกมาพร้อมสูตรคำนวณหาร 100 บัตร 2 ใบ

ตรงกันข้าม หากศาลวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ – สถานการณ์จะยิ่งวุ่นวายอีกหลายเท่า

ศาลรัฐธรรมนูญ FA4-47B5-992C-AA24CEEFEE65.jpeg
ทางที่ 2: ศาลวินิจฉัยว่า “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในสาระสำคัญ” ย้อนกลับไปเหมือนเลือกตั้ง 2562

ข้อเท็จจริงปรากฏอยู่แล้วว่า หากตีความตามถ้อยคำของกฎหมาย มาตรา 91 จะขัดกับมาตรา 92-93 และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมองว่าส่วนนี้เป็นสาระสำคัญของกฎหมาย จะส่งผลให้กฎหมายเลือกตั้งทั้งฉบับเป็นอันตกไป เท่ากับที่แก้ไขมาทั้งหมดก็สูญเปล่า

สิ่งที่จะเกิดต่อไปคือ รัฐสภาต้องพิจารณาว่าจะสามารถเสนอแก้กฎหมายเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่ได้หรือไม่ ซึ่ง สุขุมพงศ์ เห็นว่าต่อให้เสนอเข้ามาก็ขัดกับกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญอยู่ดี (เพราะรัฐธรรมนูญก็ขัดกันตั้งแต่แรก)

ง่ายสุดคือย้อนกลับไปใช้รัฐธรรมนูญแบบเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือใช้สูตรหาร 500 และบัตรเลือกตั้งใบเดียวด้วย คือทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิมหมด ราวกับไม่เคยมีการแก้ไข – วิธีนี้ไม่ยากเย็น เพราะปรับเปลี่ยนเพียง 3 มาตราเท่านั้น

การคำนวณคะแนนของ ส.ส.แบบสุดซับซ้อนเทียบบัญญัติไตรยางค์ 16 ชั้นก็จะกลับมาเช่นกัน

ทางที่ 3: ศาลวินิจฉัยว่า “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่สาระสำคัญ” ยกเลิกสูตรหาร 100

ส่วนตัว สุขุมพงศ์ มองว่า ประเด็นสูตรคำนวณเป็นสาระสำคัญ แต่ก็เป็นไปได้ว่าศาลอาจจะมองว่าไม่ใช่สาระสำคัญ เช่นนั้นก็จะตีตกไปเฉพาะมาตรา 91 ที่เป็นปัญหา ซึ่งว่าด้วยสูตรคำนวณแบบหาร 100

“ก็ต้องนำมาตรา 91 แบบเก่าที่ยังไม่ได้แก้ไขมาใช้ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีก เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ ยิ่งขัดกันไปใหญ่” สุขุมพงศ์ย้ำถึงความยุ่งเหยิงที่จะตามมา “ก็มีวิธีเดียวคือต้องตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แบบที่ผมว่า”

ประยุทธ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ -03FD-4F68-8BFA-43A9EE4DEECA.jpeg
ทางที่ 4: ‘ประยุทธ์’ คว่ำกระดาน “ยุบสภา” ไปสู่สุญญากาศทางการเมือง

เหตุการณ์ที่บรรดานักการเมืองต่างเป็นห่วงที่สุดคือ ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยกฎหมายเลือกตั้งออกมา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชิงใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเสียก่อน นั่นจะทำให้ทิศทางของการเลือกตั้งตกอยู่ในมือของ 2 ฝ่ายหลักทันที คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาล

นำไปสู่อีก 2 ทางแยกที่เป็นไปได้หลังยุบสภา ซึ่ง วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยออกปากไว้ว่า จะเลือกทางไหนก็ “ขึ้นเขียง” ทั้งนั้น

         ทางที่ 4.1) ออกระเบียบเลือกตั้ง – กกต. คุมเกม

เป็นทางที่เซียนกฎหมายหลายคนมองว่าอาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีโอกาสที่ กกต. จะไม่กล้าออกระเบียบเพราะกลัวความเสี่ยง เมื่อวันที่ 29 ส.ค. มีรายงานจาก กกต. ออกมายืนยันเองเลยว่า หากเกิดเหตุยุบสภาขณะที่กฎหมายเลือกตั้งยังไม่มีผลบังคับใช้นั้น ในทางกฎหมาย กกต.ไม่มีอำนาจจะจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม จนมี 400 เขตเลือกตั้งได้

“มีหลายคนแสดงความเห็นว่า สามารถให้ กกต. ออกประกาศหรือระเบียบแทนได้ หรือให้ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แทนได้ แต่ไม่มีใครกล้าเสี่ยง เพราะจะเป็นการเอาชาติบ้านเมืองไปเสี่ยงด้วย ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดควรจะรอให้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ก่อน” รายงานส่วนหนึ่งระบุ

สุขุมพงศ์ เองก็ประเมินว่า กกต. จะไม่กล้าออกระเบียบ ดังนั้นจึงอาจจะเข้าทางรัฐบาล

         ทางเลือกที่ 4.2) ใช้ พ.ร.ก. – รัฐบาลคุมเกม

เมื่อมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้จริง การให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออก พ.ร.ก.เพื่อเดินหน้าเลือกตั้งจะเข้าทางรัฐบาลมากที่สุด เพราะสามารถคุมเกมได้อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ แม้ วิษณุ ยังถึงขั้นมองว่า การออก พ.ร.ก.อาจจะไม่ยุ่งยาก เนื่องจากสามารถนำเนื้อหาในร่างกฎหมายเลือกตั้งที่ ครม. เคยเห็นชอบแล้วมาจัดทำได้

“แต่วิธีนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะมีการไปปรับแก้อะไรอีก แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีออกระเบียบหรือออก พ.ร.ก. อาจจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตได้”

คำพูดนี้อาจตีความได้ว่า พ.ร.ก.อาจออกกติกาการเลือกตั้งมาให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบหรือไม่?

จากนั้น วิษณุ ยังยืนยันอีกหลายหนว่า ตอนนี้ยังไม่มีเหตุให้ยุบสภา แต่ใครเล่าจะเดาใจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ คงต้องจับตาดูหลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคจบลง ว่าจะมีการยุบสภาจริงอย่างที่ลือกันหรือไม่

เมื่อถึงเวลานั้น นอกจากสนามเลือกตั้งจะอยู่ในมือรัฐบาลแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสิทธิรักษาการนายกฯ ได้อีกยาวด้วย

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร มองว่าสถานการณ์จะเป็นการมัดมือชก เพราะแม้ไม่หลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. สุดท้ายก็ต้องยอมรับอยู่ดี ไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันได้เลือกตั้ง ไม่มีทางอื่น

คำว่า ‘ทางตัน’ ที่สุขุมพงศ์ ขู่เอาไว้ – จึงดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog