ไม่พบผลการค้นหา
ไม่มีช่วงเวลาไหนที่เราควรพูดเรื่อง ‘เสรีภาพ’ กันมาเท่าช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยเช่นนี้ แต่เสรีภาพไม่ใช่สัจจะสำเร็จรูปที่หล่นมาจากฟ้า มันมีการก่อตัวในยุคต่างๆ โดยมีข้อถกเถียง มีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันไปตลอดหลายร้อยปีของอารยธรรมนุษย์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อสร้างประวัติศาสตร์เสรีภาพของเราเอง
อ.พลอยใจ ปิ่นตบแต่งพลอยใจ ปิ่นตบแต่ง
  • อ.พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง คือ อาจารย์เลือดใหม่ในคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทาลัย Sussex ร่ำเรียนด้านประวัติศาสตร์ความคิด และมีวิทยานิพนธ์เรื่อง Executive Power and Modern Liberty in Jean-Louis Delolme’s Political Thought and its Reception

เราชวนสนทนาเรื่อง ‘เสรีภาพ’ กับนักวิชาการผู้นี้ เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศกำลังเข้มข้น เพดานของการแสดงออกทางความคิดถูกผลักขึ้นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ล้อไปกับการพยายามกดปราบอย่างหนัก สถาบันกษัตริย์อันถูกระบุในรัฐธรรมนูญว่าเป็นที่เคารพสักการะกลายเป็น ‘taboo’ หรือประเด็นต้องห้ามทางสังคม กำลังเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่ ที่ยึดถือหัวใจของ “ความโปร่งใส ตรวจสอบได้” ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อสภาพการณ์ลักลั่นอยู่เช่นนี้ เงื่อนไขพื้นฐานอันดับแรกที่ต้องคุยกันจึงหนีไม่พ้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่คุณค่าของโลกสมัยใหม่อย่างสิทธิและเสรีภาพ ก็ไม่ใช่สัจจะที่ร่วงหล่นจากฟ้าโดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีพลวัตร การสืบค้นไปถึงต้นกำเนิดหรือรากของมันซึ่ง ในคำอธิบายแบบหนึ่ง ได้ก่อเกิดขึ้นเนื้อดินของยุโรป[1] แม้ดูไกลตัว แต่เส้นทางเหล่านั้นก็อาจให้คำตอบบางอย่าง หรือชี้เปิดมุมมองความเป็นไปได้ทางการเมืองที่อาจเป็นประโยชน์ให้กับความท้าทายในบริบทของไทยได้เช่นกัน

-1-

ประวัติศาสตร์ความคิดคืออะไร

ประวัติศาสตร์ความคิด (intellectual history) หรือประวัติศาสตร์การเมือง อยู่บนความเชื่อที่ว่า ตำราการเมืองทุกอย่างเขียนเพื่อตอบโจทย์ทางการเมืองในบริบทประวัติศาสตร์ช่วงนั้นๆ หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ทางการเมืองควรที่จะไปดูว่าตำราคลาสสิคต่างๆ ที่ขึ้นหิ้งและเอามาเรียนกันอยู่นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

-2-

ทำไมความคิดเรื่องเสรีภาพเริ่มต้นในบริบทยุโรป

ส่วนตัวไม่ได้เชื่อว่า เสรีภาพมีต้นกำเนิดจากยุโรปแล้วเผยแพร่สู่ส่วนที่เหลือ (from the west to the rest) แต่เวลาพูดเรื่องเสรีภาพ เรามักจะยกยุคตื่นรู้ (enlightenment) ด้วยความที่เป็นยุคที่มีพลังทางการเมือง เศรษฐกิจ ความรู้ที่ตะวันตกผลิตก็เป็นความรู้ที่ครอบงำโลกทั้งใบ เห็นชัดที่สุดคือ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สำคัญมากที่สุดภาษาหนึ่งของโลกและเป็นหนึ่งในภาษาหลักที่คนต่างชาติใช้สื่อสารกัน

เสรีภาพ ไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงเฉพาะตะวันตก แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รูปแบบทางการเมืองตัวแทน ระบบรัฐสภา มีพัฒนาการอย่างชัดเจนมาจากอังกฤษ ด้วยความที่ตะวันตกเขาผลิตตำรา องค์ความรู้เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ออกมาแล้วเราไปเรียนต่ออีกที อย่างที่อ.ธเนศ วงศ์ยานาวา บอกว่า ยุโรปเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ผ่านตำรา สิ่งนี้ฝังรากลึกอยู่ใน Judeo-Christian หรือชาวคริสต์ เราเลยมีความคิดว่าคอนเซ็ปท์ ‘เสรีภาพ’ โดยเฉพาะทางการเมืองมีความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุโรป การศึกษาทางรัฐศาสตร์โดยเฉพาะปรัชญาการเมือง ในห้องเรียนก็มักจะเริ่มต้นด้วยนิยามคำว่า ‘เสรีภาพ’  เพราะมันมีพัฒนาการที่ค่อนข้างชัดเจน

-3-

ในทางปรัชญา: เสรีภาพเชิงลบ - เสรีภาพเชิงบวก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสรีภาพ เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์มากแนวคิดหนึ่งในฐานะจุดเริ่มต้นการศึกษาทางรัฐศาสตร์

อาจเปิดประเด็นด้วยคำถามเชิงปรัชญาก่อนว่า เสรีภาพคืออะไร มีกี่นิยาม ทุกคนจะได้เข้าใจตรงกัน หรือเข้าใจว่าเราเข้าใจไม่ตรงกัน (ฮา)

เวลาเราประท้วง ไม่ใช่เฉพาะคนไทย ในที่ใดๆ ก็มักจะยกเสรีภาพ (freedom) ขึ้นมาในฐานะที่เป็นคุณค่าทางการเมือ เนื่องจากเสรีภาพได้ลงหลักปักฐานเป็นหนึ่งในคุณค่าทางการเมืองหลักของศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ เวลาใครจะต่อสู้ทางการเมืองก็ใช้เสรีภาพเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อเรียกร้องเช่น ในกรณีที่รัฐหรือใครมาละเมิดเสรีภาพของเรา เสรีภาพจึงกลายเป็นสโลแกนที่ถูกหยิบมาใช้บ่อยๆ แต่ในทางปรัชญาก็ยังถกเถียงกันว่าเสรีภาพมีกี่แบบ แบบไหนเป็นนิยมที่ครอบคลุม เหมาะสมที่สุด ถ้าแบ่งกว้างมากๆ (จนต้องขออภัยครูบาอาจารย์) อาจแบ่งได้ 2 แบบ คือ

1.เสรีภาพเชิงลบ (negative liberty) - freedom from something หรือ การที่เราสามารถทำอะไรได้ตราบที่ไม่มีสิ่งภายนอกมาขัดขวาง เกี่ยวข้องกับกฎหมายเนื่องจากการนิยามเสรีภาพแบบนี้สอดคล้องกับการมีเสรีภาพในสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เรามีเสรีภาพในการกระทำสิ่งใดก็ตามตราบเท่าที่สิ่งนั้นไม่ผิดกฎหมาย

2.เสรีภาพเชิงบวก (positive liberty) - freedom to do something หรือ การนิยามว่ามีเสรีภาพที่จะทำอะไร

ในรัฐศาสตร์ปัจจุบัน เวลาพูดเรื่องเสรีภาพ จะนิยมเสรีภาพในเชิงลบมากกว่า โดยตั้งต้นว่า เสรีภาพ คือ การกระทำอะไรสักอย่างที่ปราศจากปัจจัยภายนอกมาขัดขวาง เหตุผลที่เสรีภาพเชิงลบสำคัญมากกว่า เพราะเวลาพูดถึงเสรีภาพในยุคสมัยนี้ เราไม่ได้พูดถึงเสรีภาพโดดๆ แล้ว แต่เป็นปัญหาของเสรีภาพในสังคมการเมืองที่มีรัฐบาลและภาคประชาสังคมเป็นสมการที่สำคัญ โจทย์สำคัญของการเมืองศตวรรษที่ 21 คือรัฐมีความชอบธรรมยังไงในการบังคับปัจเจกให้ทำอะไรบางอย่าง ไม่ให้ทำอะไรบางอย่าง ทำไมการออกกฎหมายให้ไม่ทำบางอย่างจึงยังเป็นการปกป้องเสรีภาพอยู่ ทำไมการมีอยู่ของรัฐและการมีอยู่ของกฎหมายจึงไม่เป็นการละเมิดเสรีภาพ พูดแบบง่ายๆ ว่า มันคือโจทย์หลักของการพยายามทำสถาบันทางการเมืองต่างๆ ให้ดำรงอยู่ได้โดยไม่เกิดการปฏิวัติต่อต้านนั่นแหละ

ที่อธิบายมานี้เพื่อให้เห็นภาพกว้างว่า เสรีภาพคืออะไร มันมาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเราได้ยังไง โดยสรุป มันคือการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับรัฐบาล รัฐบาลที่ดีจะต้องอธิบายตัวเองเสมอว่าการมีอยู่ของมันช่วยเพิ่มพูนเสรีภาพให้เรา (ประชาชน) หรือทำประโยชน์ให้เรายังไง

-4-

เสรีภาพ เป็นเงื่อนไขของการแสวงหา ความรู้-ความจริง

1 เสรีภาพ.jpg

เราอาจเริ่มต้นแบบที่อาจารย์ปรัชญาการเมืองชอบเริ่มกันคือ คำว่า ‘เสรีภาพ’ มันกลายมาเป็นคุณค่าหลักของการศึกษาการเมืองของมนุษย์ได้ยังไง

เสรีภาพมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับการแสวงหาความจริงและความรู้ หลายๆ คนอาจเคยได้ยิน อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พูดแบบนี้สมอๆ แต่ถ้าจะย้ำอีกรอบโดยยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่สุด คือ

สมมติมีคนบอกว่า เรามาทำลิสต์กันหน่อยว่าในบ้านหลังนี้มีของอะไรอยู่บ้าง แต่ห้ามดูห้องใต้ดิน ลิสต์ที่ผลิตออกมานั้นจะบอกได้จริงๆ หรือว่ามีของอะไรอยู่ในบ้านบ้าง นี่คือตัวอย่างที่จะบอกว่าทำไมเสรีภาพกับความจริงจึงมาด้วยกันเสมอ เพราะถ้าคุณไม่มีเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ ความรู้นั้นก็จะไม่เคยสมบูรณ์ เพราะไม่สามารถตั้งคำถามกับทุกอย่างอย่างไม่มีข้อจำกัด

นี่คือง่ายที่สุดแล้วที่จะตอบคำถามว่า ทำไมเสรีภาพจึงสำคัญในฐานะคุณค่าทางการเมือง โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยที่การมีความโปร่งใสไปด้วยกันกับการสร้างความชอบธรรมของรัฐ ยิ่งรัฐมีความชอบธรรมากเสถียรภาพของของรัฐก็จะมากขึ้นไปด้วย เพราะความชอบธรรมของรัฐสมัยใหม่ยึดโยงกับประชาสังคม (civil society)เสมอ

-5-

เสรีภาพในมุมอริสโตเติล : ‘ภาษา-การใช้เหตุผล’ ทำให้คนต่างจากสัตว์อื่น

2 อลิสโตเติล.jpg

เสรีภาพและการแสวงหาความรู้และความจริงเป็นเงื่อนไขของกันและกันเสมอ เราอาจย้อนกลับไปได้ไกลตั้งแต่อริสโตเติล อริสโตเติลบอกว่า คนเป็นสัตว์การเมือง นักปรัชญากรีกคนนี้มีวิธีการมองทุกอย่างในโลกรวมถึงต้นไม้ใบหญ้าด้วยว่ามันมีจุดมุ่งหมายบางอย่าง เช่น เมล็ดถั่วเขียวก็ต้องโตเป็นต้นถั่ว แต่ว่า ‘คน’ มีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะคนมี logos คำนีคล้ายกับคำในภาษาอังกฤษ speech หรือหมายถึงภาษาที่เอาไว้สื่อสารกันระหว่างมนุษย์อันแฝงไปด้วยความสามารถในการใช้เหตุผลด้วย

สัตว์อื่นๆ ก็อาจมีภาษา แต่ไม่ได้ซับซ้อนเท่ามนุษย์ การที่เรามีภาษาที่ซับซ้อนทำให้เราสามารถคุยกันเรื่องคุณค่านามธรรมต่างๆ ได้ เช่น ความดี ความยุติธรรม อริสโตเติลบอกว่า การที่เราเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มี logos แสดงให้เห็นว่า เราในฐานะสัตว์เป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกันแล้วนำไปสู่การสร้างสังคมการเมืองที่มันไม่เหมือนสัตว์อื่นๆ เช่น เป็นลิงก็อยู่กันเป็นฝูงเป็นแพทเทิร์นของมันอยู่แล้ว แต่คนต่างบริบทประวัติศาสตร์จะมีการออกแบบสังคมการเมืองที่ต่างกัน อริสโตเติลพยายามชี้ให้เห็นว่า logos เป็นคุณสมบัติเด่นของมนุษย์ นั่นจึงทำให้มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์การเมือง นี่รัฐศาสตร์ 101

อริสโตเติลไม่ถูกให้น้ำหนักโดยนักมนุษยวิทยา ต่อนักชีววิทยาก็ชี้ให้เห็นความคลาดเคลื่อน แต่เหตุที่เรายังพูดเรื่องนี้เพราะการออกแบบสถาบันการเมืองของโลกตะวันตกมาจากคนที่เกิดในศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งอ่านอริสโตเติล ดังนั้น สมมติฐานนี้จึงยังอยู่ และยังฝังแฝงอยู่ในวิธีการออกแบบสถาบันการเมืองต่างๆ ซึ่งเราก็รับมาด้วยผ่านโมเดลการปกครองและอุดมการณ์ทางการเมือง บางทีเราก็ไม่รู้ มันมีประวัติศาสตร์ความคิดที่ค่อนข้างยาวนาน

เสรีภาพ จึงสัมพันธ์กับการเมืองมาตั้งแต่แรกแล้ว ในความเข้าใจประวัติศาสตร์ความคิดการเมืองตะวันตก ในทางปรัชญา การมีเสรีภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแสวงหาความจริง และงานที่เป็นรากฐานของความคิดการเมืองตะวันตกให้ความสำคัญกับเสรีภาพและความการแลกเปลี่ยนความคิดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่จะสังเกตได้ว่า ความเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบที่เราเข้าใจเพราะเกิดก่อนจะมีความเข้าใจเรื่องการเมืองแบบตัวแทน

-6-

เสรีภาพในยุคกลาง : ศาสนจักรกับเสรีภาพในการเข้าถึงพระเจ้า

3 Thomas Aquinas.jpg

พอเริ่มพัฒนาเข้าสู่ยุคอื่นๆ เริ่มมีความขัดแย้งเกี่ยวกับคุณค่าทางการเมือง เมื่อขยับมายุคกลาง หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่า เป็นยุคที่ศาสนาค่อนข้างรุ่งเรือง สมการเรื่องเสรีภาพก็เริ่มไปเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งอันที่จริงเสรีภาพทางความคิด (freedom of conscience) มีรากฐานมาจากยุคกลางนี้เหมือนกัน เพราะคนต้องเริ่มสร้างความชอบธรรมว่า การบังคับให้นับถือศาสนาทำไมจึงถูกต้อง คนที่ไม่ทำทำไมถึงผิด ดังนั้น พัฒนาการของเสรีภาพในยุคนี้ก็จะมีความซับซ้อนทางปรัชญามากขึ้น 

แน่นอนว่าในยุคนี้มีการคัดง้างกันระหว่าง ‘เหตุผลกับศรัทธา’ แต่แง่มุมที่จะยกมาคือ มีการผสมผสานกันระหว่างสองอย่างนี้เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน และส่งผลต่อมรดกทางความคิดที่ส่งต่อมาถึงยุคเรา ตัวอย่างเช่น งานของ โธมัส อไควนัส (Thomas Aquinas) ซึ่งเป็นพระที่อ่านงานอริสโตเติลแล้วเห็นด้วยกับไอเดียเรื่อง logos มาก อไควนัสพยายามเขียนงานอธิบายว่าว่า ถ้าคุณบังคับให้ทุกคนพูดออกมาว่า ฉันเป็นคาทอลิก แต่ในใจเขาไม่ใช่ ศรัทธาที่ปลอมเหล่านี้เป็นอะไรที่พระเจ้ารับไม่ได้ กล่าวคือ ความศรัทธาต่อพระเจ้าจะมีความหมายเมื่อมนุษย์มีเสรีภาพในการเลือก คือ เลือกที่จะรับพระเจ้าเข้ามาในจิตใจ อะไควนัสพยายามบอกว่า freedom to choose หรือเสรีภาพที่จะเลือกเป็นเงื่อนไขสำคัญของการมีศรัทธาที่มีความหมายในทางปรัชญาจริงๆ แล้วเอางานของอริสโตเติลเข้ามาสนับสนุนเหตุผล เราจะเห็นว่ามันเริ่มมีความผสมผสานกันแล้วระหว่างงานคลาสสิคของกรีกกับแนวความคิดของคริสต์

ความคิดแบบนี้อไควนัสอธิบายว่า คนเราต่างจากสัตว์ เพราะเราสามารถเลือกที่จะศรัทธาอะไรได้ การใช้เหตุผลของคนเป็นสิ่งที่เรารับมาจากพระเจ้า อไควนัสจะต่างจากคริสต์คนอื่นๆ โดยตีความไบเบิลต่างไป มีวรรคหนึ่งในไบเบิลที่ว่า ‘God created man in his own image เราทุกคนในฐานะมนุษย์ถูกสร้างมาตามฉายาลักษณ์ของพระเจ้า’ ก่อนหน้านั้นนักบวชในคริสตศาสนามักมองว่า การที่คนเรามีแขน ขา หน้า เป็นสัตว์สองเท้า ก็เพราะเรามีฉายาลักษณ์ของพระเจ้า รูปสักการะของพระเยซูก็พยายามแสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นพิเศษเพราะมีลักษณะเหมือนพระผู้สร้าง แต่อไควนัสตีความว่า ฉายาลักษณ์ของพระเจ้าคือ ความสามารถในการใช้เหตุผลต่างหาก จิตของมนุษย์มีการใช้เหตุผลได้ มี logos และการใช้เหตุผลนี้ทำให้เราจินตนาการหรือระลึกถึงผู้สร้างของเราได้ ฉะนั้น จึงไม่มีใครสามารถละเมิด logos หรือความสามารถในการใช้เหตุผลของเราได้ เพราะคุณลักษณะนี้มันศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง เราได้คุณสมบัตินี้จากพระเจ้า ฉะนั้น ที่มาของสิทธิมนุษยชน human dignity ส่วนหนึ่งก็มีรากฐานมาจากไอเดียแบบคริสต์นี้

 นี่คือพัฒนาการของคำว่าเสรีภาพ แม้แต่ตอนนี้ที่เราพูดกันถึง freedom of conscience หรือเสรีภาพทางความคิด มันก็มีรากฐานมาจากทั้งปรัชญากรีกและยุคกลางด้วย แต่จะเห็นว่ามันมีกลิ่นของ Judeo-Christian สูงมาก ด้วยความที่มันมาจากทางซีกโลกนู้น พอเข้ามาในไทย หลายคนเลยอาจรู้สึกว่า มันไม่ได้มีรากทางวัฒนธรรมเราก็เป็นได้ แต่แน่นอนว่าที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ความคิดหนึ่งเดียวของเสรีภาพ แต่ละสังคมย่อมมีพัฒนาการของเสรีภาพแตกต่างกันออกไป

-7-

เสรีภาพในยุคสมัยใหม่ : ออกแบบสถาบันการเมืองให้ ‘ดีสำหรับส่วนรวม’

4 Thomas Rousseau.jpg

เข้ามาสู่ยุคสมัยใหม่ซึ่งเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ที่ซับซ้อนมากขึ้นจนค่อยๆกลายเป็นศาสตร์ของมนุษยวิทยาซึ่งอาจพูดได้ว่ามีเค้าลางมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 (แต่แน่นอนว่าตอนนั้นยังไม่ได้เป็น discipline แบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันแต่เริ่มมีงานเขียนเกี่ยวกับประเด็นนี้มากขึ้น) เพราะเทคโนโลยีการเดินเรือทำให้ยุโรปบางประเทศเดินเรือไปยังแผ่นดินอันไกลโพ้นแล้วพบว่าล้วนมีชนพื้นเมืองอยู่ ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา ไม่รู้จักพระเจ้าด้วยซ้ำ คนที่เคยมีไอเดียมาตลอดว่าโลกนี้สร้างโดยพระเจ้าและฉันก็เป็นผลผลิตของพระเจ้า โลกเท่ากับประชาคมยุโรป ก็เริ่มสั่นคลอน

นอกจาการค้นพบโลกใหม่แผ่นดินใหม่ ในช่วงเดียวกันก็เริ่มมีความสนใจต่อการทำงานของจิตใจมนุษย์หรือที่ในปัจจุบันเราเรียกว่าจิตวิทยา เริ่มมีคนทำการทดลองต่างๆ แล้วตั้งคำถามว่า หรือจริงๆ แล้วมนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการทางกายภาพและอารมณ์ความรู้สึกคล้ายสัตว์อื่นๆ กลายเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ที่ซับซ้อนขึ้น จากมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่ใช้เหตุผลแบบกรีก พอเข้ายุคสมัยใหม่ก็เริ่มมีแนวคิดว่า human is driven by passions หรือมนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์

แล้วมันเกี่ยวกับเสรีภาพหรือสถาบันการเมืองอย่างไร นักคิดหลายคนเริ่มมองว่า สถาบันทางการเมืองต่างๆสามารถเป็นกลไกทำให้ passion (ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบของผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ) นั้นสามารถคานกันเองและทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนเครื่องจักรแห่งรัฐ จากที่ยุคโบราณที่เน้นศีลธรรมพลเมือง นักคิดยุคสมัยใหม่หลายคนหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบสถาบันการเมืองเพื่อเป็นช่องทางให้ passion ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของผลประโยชน์แบบต่างๆนั้นสร้างประโยชน์ให้แก่สาธารณะ (political institutions as a mechanism to channel different forms of interests to work for the greater good)

คนอาจเคยได้ยินเรื่อง ‘มือที่มองไม่เห็น’ หรือ invisible hand ของอดัม สมิธ (Adam Smith) ในฐานะการสร้างความชอบธรรมให้กลไกตลาดแบบทื่อๆ อันที่จริงเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ไม่ได้แยกขาดจากกันในศตวรรษที่ 18 เหมือนในปัจจุบัน พอเข้ายุคสมัยใหม่เริ่มเข้าใจว่าคนเราก็มีผลประโยชน์ส่วนตน (individual interest) แต่หน้าที่ของสถาบันการเมืองทางเศรษฐกิจคือการออกแบบยังไงก็ได้ให้ผลประโยชน์ส่วนตนที่อาจจะขัดแย้งกันนี้มันอยู่ในระบบสังคมการเมืองที่ทำให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเหล่านั้นขับเคลื่อนระบอบการเมืองและเศรษฐกิจ

การเข้าใจมนุษย์ว่า passion/interest-driven (ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และผลประโยชน์) ก็เป็นดาบสองคม ถามว่ามองมนุษย์ในแง่ร้ายขึ้นไหม ก็ใช่ ทุกคนล้วนมีผลประโยชน์ส่วนตน แต่ข้อดีของมันก็คือ ในยุคนี้คนเริ่มมองสถาบันทางการเมือง อำนาจทางการเมือง ด้วยสายตาที่ไม่ไว้ใจ เริ่มมองแล้วว่าคนที่อยู่ในอำนาจไม่ได้รับโองการมาจากพระเจ้า หรือจะปกครองเพื่อประโยชน์สุขของทุกคน แต่มองว่าคนอยู่ในอำนาจก็มีผลประโยชน์ส่วนตนเหมือนกัน การเกิดขึ้นของพลังประชาสังคม (civil society) ในฐานะพลังทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งที่มาคานอำนาจกับรัฐบาลก็ค่อยๆเริ่มก่อร่างในช่วงนี้เช่นเดียวกัน

ตอนที่เราเข้าใจเสรีภาพสมัยโบราณ หลายสำนักมองเสรีภาพเป็นเนื้อเดียวกับความเป็นมนุษย์เลย เราใช้เหตุผลในการแสวงหาความจริงซึ่งมีเงื่อนไขในของการมีเสรีภาพ แต่เสรีภาพที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยใหม่ก็คือ เป็นการมองเสรีภาพเชิงลบ (negative freedom)

เรานิยามเสรีภาพว่า เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้เพราะปราศจากสิ่งขัดขวางภายนอก สิ่งขัดขวางภายนอกนี้ในยุคสมัยใหม่ที่เห็นชัดเจนก็คือ รัฐบาล กฎหมาย เพราะฉะนั้น การเข้าใจเสรีภาพของยุคสมัยใหม่ที่เรามีระบบตัวแทน มีนิติรัฐแล้วซึ่งใช้กฎหมายเป็นกลไกหลักในการยุติข้อพิพาททั้งระหว่างเอกชน และเอกชนกับรัฐ ทำให้เราเข้าใจเสรีภาพเป็นผลพลอยได้ (by product) ของการออกแบบสถาบันทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพในการจำกัดอำนาจการปกครอง จึงไม่ได้มองเสรีภาพแบบเปลือยๆ ในฐานะปัจเจกเท่านั้น

เสรีภาพในเงื่อนไขของการเมืองสมัยใหม่ระบอบตัวแทนก็เลยเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งกับการออกแบบสถาบันทางสังคมและการลงหลักปักฐานของนิติรัฐ เสรีภาพในทีนี้ก็มีความหมายในตัวเองแล้วว่าคือ เสรีภาพทางการเมือง เพราะการเมืองเป็นเนื้อเดียวกับเสรีภาพในยุคสมัยใหม่ นักคิดจำนวนหนึ่งจึงมีข้อสรุปกลายๆว่า ในเมื่อคนส่วนใหญ่เกิดมาก็ต้องเป็น citizen ของรัฐอะไรสักอย่าง ฉะนั้น การนิยามเสรีภาพพูดง่ายๆ ก็คือ การพยายามจะกำหนดหรือกำกับความสัมพันธ์ที่ปัจเจกมีกับรัฐบาล

-8-

การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ เข้ากับเสรีภาพสมัยใหม่

5 ชาร์ลที่ 2.jpg

กล่าวให้แคบลงอีกนิดว่าเมื่อถึงยุคสมัยใหม่แล้ว เสรีภาพเกี่ยวพันกับการออกแบบสถาบันทางการเมืองยังไง ขอยกตัวอย่างวิทยานิพนธ์ที่ตัวเองทำตอนปริญญาเอก ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ และดูว่าความเข้าใจสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษส่งผลต่อการออกแบบอำนาจประธานาธิบดีในอเมริกาได้อย่างไร คนอาจงงว่าสถาบันกษัตริย์ไปด้วยกันกับสาธารณรัฐได้อย่างไร เรื่องนี้มีคำอธิบาย

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การเข้าใจเสรีภาพในเงื่อนไขยุคสมัยใหม่กลายเป็นต้องเข้าใจผ่านการออกแบบสถาบันทางการเมืองว่า สถาบันทางการเมืองควรมีอะไรบ้างและมีความสันพันธ์ต่อกันและกันอย่างไร มีสภาล่าง มีสภาบน มีสถาบันกษัตริย์ไหม มีพลังทางสังคมยังไง ฯลฯ ในอังกฤษเห็นชัดมากว่า การมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ที่มีมาตั้งนานแล้วค่อยๆ ปรับตัวเองให้เข้ากับนิยามเสรีภาพแบบสมัยใหม่อย่างมีประสิทธิภาพได้ยังไง

ย้อนกลับไปยุคกลาง สถาบันกษัตริย์อังกฤษมีอำนาจมากก็จริง แต่ศาสนจักรเป็นตัวเล่นหลักที่สำคัญของยุคกลาง อังกฤษจะต่างจากประเทศอื่นเพราะตั้ง Church of England ขึ้นมาสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 คือ ไม่อยากดีลกับพวกนั้นแล้วฉันตั้ง church ของฉันเลย จึงเห็นได้ว่ามีการคัดง้างกันระหว่างศาสนจักรและสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่ยุคกลางแล้ว ไอเดียการจำกัดอำนาจกษัตริย์จึงไม่ใช่สิ่งใหม่ในเนื้อดินของยุโรป เพราะว่าสถาบันกษัตริย์ในยุโรปเหล่านั้นแบ่งอำนาจกับศาสนจักรมาตั้งแต่แรก

การตั้ง Church of England ตอนแรกอยู่ใต้กำกับของเฮนรีที่ 8 แต่พอเริ่มเข้ายุคสงครามกลางเมืองในศตวรรษที่ 17 อย่างที่เรารู้กันว่าเขามีการตัดหัวกษัตริย์และกล่าวแบบรวบรัดที่สุดคือฝ่ายสภาเป็นฝ่ายชนะ มียุคที่เป็น commonwealth (สาธารณรัฐ) ที่เอาโอลิเวอร์ คอมเวลล์ (Oliver Cromwell) มาแทน แต่ก็ไม่ค่อยเวิร์ค คนก็เอาสถาบันกษัตริย์กลับมาอีก ถ้าดูพัฒนาประวัติศาสตร์สถาบันการเมืองจะเห็นว่า ตั้งแต่แรกสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษต้องปรับตัวมาตลอด เหตุผลที่ต้องปรับตัวเพราะ

1. ไม่เคยมีอำนาจเต็มที่มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

2. เคยโดนเอาออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์โดยครอมเวลล์ 1 รอบ

พอสถาบันกษัติย์ได้กลับมาก็กลับมาแบบนอบน้อม ฉันจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองให้ไปกันได้กับชัยชนะของฝ่ายรัฐสภา นี่คือศตวรรษที่ 17

พอศตวรรษที่ 18 เริ่มมีชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นกลางที่สร้างความมั่งคั่งจากการค้า แล้วเงินก็มากับอำนาจทางการเมือง ดังนั้นการเริ่มอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ของสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร) ก็มาพัฒนามาพร้อมๆกันกับการเกิดขึ้นของ commercial society หรือสังคมพาณิชย์ แล้วสภาล่างก็คัดง้างกับทั้งสภาขุนนางและสถาบันกษัตริย์ จึงต้องมีการประนีประนอมแบ่งอำนาจกันเรื่อยมา

การเข้าใจเสรีภาพแบบสมัยใหม่โดยเฉพาะในอังกฤษจึงสามารถเข้าใจผ่านการจัดวางตำแหน่งของสถาบันการเมืองต่างๆ นอกจากนี้ ในบริบทของศตวรรษที่ 18 เราต้องไม่ลืมว่าอังกฤษเคยถูกมองเป็นโมเดลหรือต้นแบบของเสรีภาพของประเทศที่เหลือในยุโรปที่ตอนนั้น ซึ่งส่วนใหญ่กษัตริย์ยังมีอำนาจมาก เห็นได้จากงานของ Voltaire (Letters Concerning the English Nation) เป็นต้น คนเลยพยายามทำเข้าใจกันว่า ทำไมราษฎรอังกฤษดูจะมีเสรีภาพในการวิจารณ์กษัตริย์และรัฐบาลมากกว่า ทั้งที่การมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ดูเป็นการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน พูดง่ายๆ ว่า อังกฤษมีเจ้าแต่ทำไมมีเสรีภาพมากกว่าประเทศอื่นที่มีเจ้าเหมือนกันหรือไม่มีเจ้า คนเลยมามองที่การออกแบบสถาบันการเมืองของอังกฤษ ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาต่างๆ กันไป แต่สิ่งที่สำคัญที่นักคิดศตวรรษที่ 18 หลายคนเห็นตรงกัน โ นั่นคือ เพราะสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษไม่มีอิสระทางการเงิน มาตั้งแต่ฝ่ายสภาชนะในยุคสงครามกลางเมือง และมีการพัฒนาเรื่อง Civil List หรือการที่สภาล่างของอังกฤษมีอำนาจในการกำหนดว่าปีงบประมาณหนึ่งๆ จะแบ่งเงินให้สถาบันกษัตริย์ใช้เท่าไร

-9-

สถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่มีอำนาจมาก เพราะไม่มีอิสรภาพทางการเงิน

6 สถาบันอังกฤษ.jpg

การควบคุมการใช้จ่ายของสถาบันกษัตริย์ เริ่มต้นอย่างจริงจังช่วงศตวรรษที่ 18 พระเจ้าจอร์จที่ 18 ทำสงครามกับอาณานิคมสหรัฐอเมริกา อย่างที่รู้กันว่า พระเจ้าจอร์จแพ้สงคราม เมื่อกษัตริย์ที่ไม่ได้มีความนิยมมากอยู่แล้วแล้วโดนกดดันจากหลายฝ่ายเมื่อแพ้สงครามขนาดใหญ่ จอร์จเลยต้องพยายามประนีประนอมกับสภาล่าง เลยเกิดไอเดียเรื่อง Civil List ขึ้นมา ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 จึงเริ่มมีการศึกษาการออกแบบสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ บางคนเห็นว่าการเกิดขึ้นของ Civil List หรือการกำหนดงบประมาณว่าปีหนึ่งสถาบันกษัตริย์จะใช้เงินได้เท่าไรเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ได้ในระบอบประชาธิปไตยตัวแทนแบบรัฐสภา

ถ้าพูดในเชิงปรัชญา การทำให้สถาบันกษัตริย์หรือสถาบันบริหารใดๆ ก็ตาม ไม่มี arbitrary power หรือไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ โดยการจัดการงบประมาณที่ไม่ให้ตัดสินใจเองได้ว่าจะใช้เงินเท่าไร ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมระบบรัฐสภาได้ในอังกฤษ

มีนักคิดคนหนึ่งชื่อ ฌอง หลุยส์ เดอโลม (Jean-Louis de Lolme) เป็นชาวสวิส อีกคนที่ดังมากๆ มาจากสวิสเหมือนกันคือ รุสโซ เขียนเรื่อง Social Contract เกี่ยวกับว่าสาธารณรัฐที่ดีต้องออกแบบสถาบันยังไง เดอ โลล์มเคยเป็นศิษย์ของรุสโซ ลี้ภัยออกจากเจนีวาเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองมาอยู่อังกฤษ ขณะที่รุสโซลี้ภัยไปฝรั่งเศส เดอโลม พบว่า การมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษไม่ได้ส่งผลเสียไปทั้งหมด เพราะการออกแบบสถาบันทางการเมืองต่างๆ ให้คานอำนาจกันและการจำกัดอำนาจกษัตริย์ของรัฐธรรมนูญอังกฤษมีประสิทธิภาพมาก จึงเขียนหนังสือชื่อ The Constitution of England เป็นชื่อที่น่าเบื่อมากด้วยความจบกฎหมายมา

เขาพยายามอธิบายว่า ทำไมอังกฤษในศตวรรษที่ 18 จึงเป็น Modern Republic หรือเป็นสาธารณรัฐแบบสมัยใหม่ ทั้งๆ ที่มีสถาบันกษัตริย์ด้วย เดอ โลม ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วจะเป็นประธาธิบดี สถาบันกษัตริย์ สุลต่าน อะไรก็ตาม มันไม่ได้สำคัญเท่ากับการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อมากำกับอำนาจเหล่านั้น นักคิดคนนี้ก็เลยเป็นคนแรกๆ ที่พยายามทำความเข้าว่า อำนาจบริหารไปด้วยกันได้ยังไงกับ 'เสรีภาพ' แบบสมัยใหม่

เดอ โลล์ม พยายามบอกว่า อำนาจบริหารไม่ว่าอยู่ภายใต้ชื่ออะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นของกษัตริย์หรือประธานาธิบดี มันมีวิธีทำให้ไปด้วยกันได้กับเสรีภาพแบบสมัยใหม่ คือ ทำให้มันไม่เป็นอิสระและต้องขึ้นกับฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่สามารถหาเงินใช้เองได้ เวลาจะทำอะไรต้องโปร่งใส

-10-

หัวใจของยุคสมัยใหม่ คือ จำกัดอำนาจ ‘หัว’ ทุกประเภท

7 หัวใจยุคสมัยใหม่.jpg

ความน่าสนใจก็คือ งานของเดอ โลล์ม ถูกอ่านโดย จอห์น อดัมส์ (John Adams) และอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) ซึ่งเป็นหนึ่งในพวกผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา แฮมิลตันพยายามอธิบายว่าทำไมอเมริกาซึ่งตอนนั้นเพิ่งได้รับเอกราช ถึงควรให้อำนาจตำแหน่งประธานาธิบดีมากแต่ ขณะเดียวกันก็มีสถาบันการเมืองอื่นๆ คอยกำกับไว้ด้วย

อย่างที่บอกตอนแรกว่า หัวใจสำคัญของการอธิบายเสรีภาพสมัยใหม่ คือ รัฐสมัยใหม่อันใช้การเมืองแบบตัวแทนต้องอธิบายตัวเองให้ได้ว่าเหตุใดรัฐบาลจึงควรมีอำนาจ ตอนแรกนั้น อเมริกาได้เอกราชแล้วพูดง่ายๆว่าเกือบถังแตก เพราะรบกับอังกฤษใช้เงินเยอะมาก พอได้เอกราชยังไม่ได้เป็นสหพันธรัฐแบบวันนี้ แต่เป็นสมาพันธรัฐ (confederate) กระจายเป็นรัฐเล็กๆ ยังไม่ได้มี federal government หรือรัฐบาลกลางที่ชัดเจน ตอนนั้นเถียงกันว่าควรมีรัฐบาลกลางไหม และอำนาจประธานาธิบดีควรจะมากหรือน้อย อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน เป็นคนดูแลเรื่องการเงินของอเมริกาและพบว่า ขอกู้เงินลำบากมาก เพราะเขามองว่า เธอเป็นประเทศหรือเปล่า ถ้ารัฐใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์กลุกมาบอกว่าฉันไม่ได้กู้กับเธอด้วย ไม่เป็นหนี้กับเธอด้วยจะทำยังไง แฮมิลตันมองว่าระบบการเงินตอนนั้นซึ่งเริ่มมีระบบสินเชื่อภาครัฐ (public credit) แล้ว อเมริกาจำเป็นจะต้องมีหน้าตาของประเทศหรือที่ปัจจุบันเราเรียกว่าตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ซึ่งก็คือตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่เจ้าหนี้ว่าฉันใช้เงินให้พวกเธอได้แน่ๆ เพราะฉันเป็นหัวของรัฐที่ชัดเจน ฉะนั้น อำนาจบริหารแบบสมัยใหม่และการเกิดขึ้นของการเงินแบบ public credit จึงมาด้วยกันในอมริกา

อเล็กซานเดอร์ ฮามิลตันก็เลยมองหางานเขียนที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการมีอยู่ของอำนาจบริหารที่เข้มแข็งได้ ไปเจองานของเดอ โลม ที่ชมระบบอังกฤษ จึงดึงวรรคที่เขียนถึงสถาบันอังกฤษมาใช้ด้วยใน federal list paper ฉบับที่ 70

ที่ว่ามาทั้งหมดเพื่ออธิบายให้เห็นว่า การออกแบบอำนาจบริหาร หรือการออกแบบสถาบันการเมืองใดๆ ของยุคสมัยใหม่มันสำคัญกว่าการที่จะดู ‘หัว’ ว่าอันนี้มีสถาบันหรือไม่มีสถาบันกษัตริย์ ใจความหลักของเสรีภาพแบบสมัยใหม่มันคือการจำกัดอำนาจรัฐบาล

ตอนนี้เหมือนเริ่มมีข้อถกเถียงกันเรื่อง republicanism สาธารณรัฐนิยม หรือตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ จึงอยากจะชี้ให้เห็นว่า มันมีประวัติศาสตร์ความคิดที่ไม่ได้ชนกันตลอดเวลา มีการส่งทอดความคิดทางการเมืองกัน อย่างไรก็ตาม หากจะให้ถอดบทเรียนจากกรณีอเมริกาและอังกฤษก็น่าจะเป็นว่า การควบคุมอำนาจมากกว่าที่สำคัญ การมีอยู่ของสถาบันการเมืองใดๆ จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมันไม่เป็นอิสระจากองค์กรอื่นๆ ทั้งในรัฐสภาและทางสังคมด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ตรวจสอบได้และมีการถ่วงดุลที่ชัดเจน และอังกฤษกว่าจะถึงจุดนี้ใช้เวลาหลายร้อยปี  

-11-

ไปกันได้เพราะกษัตริย์ยอมอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ

การคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในยุโรปรวมถึงอังกฤษด้วยในศตวรรษที่ 21 เป็นเพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า สถาบันกษัตริย์มีอยู่เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ อย่างศตวรรษที่ 18 ฝรั่งเศสก่อนที่จะเอาสถาบันกษัตริย์ออกไป สถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสกลับมาสั้นๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 1791 โดยกลับมาอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว มีการเขียนชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่าสถาบันมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จะแทรกแซงทางการเมืองก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขว่าการแทรกแซงมีขึ้นเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าหันมามองประเทศของเราเราอาจไม่เห็นประสบการณ์ทางการเมืองที่คล้ายกันนัก

ดังนั้น ในยุโรป สถาบันกษัตริย์ของหลายๆประเทศอยู่รอดถึงทุกวันนี้ก็เพราะสถาบันกษัติย์ตกลงหรือยอมที่จะอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) อย่างไรก็ตาม ยุโรปเขาไม่ได้ยินยอมพร้อมใจกันว่า โอเค เราจะมีสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนะ แต่เขาผ่านการต่อสู้กันมาอย่างโชกเลือดและยาวนานหลายร้อยปี

-12-

รับคอนเซ็ปท์มาไม่หมด ก่อปัญหาไม่แยก สถาบัน-ตัวบุคคล

8 คณะราษฎร์.jpg

ย้อนกลับไปที่บทความคุณอติเทพ ไชยสิทธิ์ ใน 101.world ชี้ว่า เราไปเอาไอเดียเรื่อง constitutional monarchy (กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ) มาใช้โดยที่อาจจะไม่ได้สนใจรายละเอียดทางการออกแบบสถาบันทางการเมืองมากพอ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ คือ สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งมีปัญหาการตีความมาจนปัจจุบัน

ในยุโรปยุคกลาง ด้วยความที่เป็นศาสนาคริสต์ เขามีไอเดียเรื่อง ‘ทวิกายาของกษัตริย์ - the King’s two bodies’ อธิบายก่อนว่า ยุคกลางนั้นเกิดสงครามและโรคระบาดเยอะ คนเราก็ตายง่ายซึ่งรวมถึงกษัตริย์ด้วย การเมืองก็ค่อนข้างไร้เสถียรภาพ ฉะนั้น การผลัดแผ่นดินเกิดขึ้นบ่อยมาก จึงต้องมีคำอธิบายบางอย่างเพื่อแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของรัฐ แม้กษัตริย์จะเปลี่ยนคนบ่อยๆ ก็ตาม จึงใช้คอนเซ็ปท์ทางศาสนาพูดเรื่อง the King’s two bodies กษัตริย์มีสองกายา คือ กายาทางธรรมชาติและกายาทางการเมือง

กายาทางธรรมชาติก็เหมือนพวกเราเกิดแก่เจ็บตายได้ปกติ กายาทางการเมืองคือการได้รับอำนาจทางการปกครองมาจากพระเจ้า กษัตริย์ใช้อำนาจนั้นในฐานะตัวแทนพระเจ้า เป็นกายาอันเป็นนิรันดร์ เป็นกายาที่สัมบูรณ์ ฉะนั้น การแบ่งทรัพย์ออกเป็นทรัพย์สินพระมหากษัติย์กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ของอังกฤษเกิดขึ้นบนคติคิดแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎี นี่เป็นการแยกระหว่างทรัพย์สินส่วนบุคคลและทรัพย์สินสาธารณะ (ที่เป็นของตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ) ที่แย่ ที่แนวคิดนี้อยู่รอดมาได้ส่วนตัวคิดว่าเพราะเป็นผลจากการตกลงกันหลังจบสงครามกลางเมืองซึ่งฝ่ายสภามีชัยเหนือฝ่ายนิยมกษัตริย์อย่างชัดเจน

สมมุติ อลิซาเบธที่ 2 มีสมบัติ เช่น มีหมาคอร์กี้ 10 ตัว อันนี้เป็นสมบัติส่วนพระองค์ แต่อลิซาเบธที่ 2 ที่เป็นเจ้าของพระราชวังบัคกิงแฮม นั่นคือ กายาทางการเมือง วังนี้เป็นของกษัตริย์ในฐานะกายาทางการเมือง ถ้าอลิซาเบธไม่ครองราชย์แล้ว พระราชวังบัคกิงแฮมก็ไม่ไปต่อกับอลิซาเบธ แต่ไปต่อกับประมุขแห่งรัฐคนใหม่

ทีนี้ประเทศไทยเราไปรับของเขามาใช้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ปัญหาคือคณะปฏิวัติก็ไม่ได้นิยามลงไปในทางกฎหมายให้ชัดเจนว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร มีคนที่เห็นปัญหาในอนาคตจากการไม่นิยามให้ชัดเจนตั้งคำถามว่า หากคนถวายเงินพันล้านจะเป็นปัญหาไหม คำตอบในสภาตอนนั้นตลกมาก คือ ‘ใครจะเอาเงินขนาดนั้นให้กษัตริย์ ไม่มีหรอก’ สภาตอนนั้นจึงไม่ได้จัดการนิยามทางกฎหมายให้ชัดเจนและเป็นผลยุ่งเหยิงมาถึงรุ่นปัจจุบัน พอเริ่มมีการประนีประนอมระหว่างคณะปฏิวัติกับกษัตริย์ เส้นแบ่งที่ควรชัดเจนระหว่างทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ยิ่งพร่าเลือน และด้วยเหตุที่สังคมไทยไม่ได้มีคติทวิกายาเหมือนคริสต์ เราเชื่อว่ากษัตริย์สัมบูรณ์เพราะเป็นพระนารายณ์อวตารมาปราบทุกข์เข็ญในโลก คติของเรามาอีกสาย เป็นเอกกายา กษัติย์เป็นองค์อวตาร เป็นสมมติเทพ

-13-

เขียนเส้นทางการต่อสู้ด้วยตัวเอง

ในฐานะสังคมเราคงมีพัฒนาการของเราที่ต่างจากที่อื่นอยู่แล้ว แต่ถามว่ามีตัวอย่างสังคมอื่นที่เอาสมการของสถาบันออกไปจากการเมืองโดยเสียเลือดเสียเนื้อค่อนข้างน้อยไหม คำตอบก็คือ มี ประเทศสเปนสมัยฆวน การ์โลส ถือว่าเสียเลือดเสียเนื้อน้อยพอสมควร เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับความพยายามจะหลีกเลี่ยงการสูญเสีย แต่แน่นอนว่า ในฐานะนักประวัติศาสตร์คงต้องบอกว่า มันไม่มีเส้นทางของคนอื่นที่เราไปก็อปปี้มาใช้ได้เลยแบบสะดวกดายแน่นอน

โดยสรุป เสรีภาพทางการเมืองในสมการการเมืองสมัยใหม่ แทบจะหมายถึงการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเรากับรัฐบาลผ่านกฎหมายเพื่อทำให้แน่ใจได้ว่า รัฐบาลจะให้อำนาจในการปกครองเป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอันเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ถ้าเราไม่ยืนยันในเสรีภาพของเรา หรือไม่ยืนยันว่าความสัมพันธ์ที่เรามีกับรัฐบาลตอนนี้มันไม่ได้เป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเจ้าของอำนาจที่แท้จริงคือประชาชน เราในฐานะปัจเจก หรือเราทั้งหมดในฐานะ เจ้าของอำนาจการเมืองที่แท้จริงสุดท้ายจะค่อยๆ สูญเสียอำนาจทางการเมืองให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้แทนที่ใช้อำนาจนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรรับประกันว่าวันหนึ่งการลุแก่อำนาจของผู้แทนซึ่งควรจะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนนี้จะไม่มาถึงหน้าประตูบ้านเรา

================= 

[1] แน่นอนว่าคำอธิบายแบบนี้มีมุมมองแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง (eurocentricism) และมีงานออกมาวิจารณ์ปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะในประวัติศาสตร์กฎหมายมากมาย ตัวอย่างเช่น The Specter of Eurocentrism in International Legal History ของ Ntina Tzouvala