ไม่พบผลการค้นหา
24 มิถุนายน 2566 เป็นวันครบรอบ 91 ปี การอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎร ซึ่งเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่จนมาถึงทุกวันนี้ประชาชนไทยก็ยังคงต้องเรียกร้องเพื่อสิทธิและเสรีภาพอยู่ อีกทั้งสิ่งที่คณะราษฎรได้เริ่มเอาไว้ก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการถ่ายทอดมากพอ

อาจารย์ ‘ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์’ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คณะราษฎร จึงได้จัด walking tour พาเดินชมจุดสำคัญ เพื่อย้อนดูเส้นทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรในพื้นที่ชั้นในเมืองบางกอก

ราชดำเนิน
ธรรมศาสตร์ : อดีตวังหน้า และเรือนบาทบริจาริกา

เราเริ่มต้นการเดินทางกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถานที่นี้ไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่แรก ด้วยที่ตั้งแล้ว ที่นี่เคยเป็น ‘วังหน้า’ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 

อาจารย์ธำรงร์ศักดิ์ได้เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของวังหน้าซึ่งเป็นระบบการถ่วงดุลอำนาจกันของราชสำนักที่คิดค้นกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่แม้จะจัดถ่วงดุลอำนาจอย่างไร ก็หนีไม่พ้นความกระหายอำนาจของคน วังหน้าจึงขัดแย้งกับวังหลวงเสมอ ต่อมาจึงมีการยุบวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 

วังหน้าไม่ใช่แค่ชื่อสถานที่หรือตำแหน่ง แต่ยังประกอบไปด้วยผู้คน และผู้คนส่วนใหญ่ในวังก็คือเหล่า ‘นางใน’ นั่นเอง เมื่อมีการยุบวังหน้า หญิงผู้สูงศักดิ์ที่ต้องอาศัยไม้ใหญ่อย่างตำแหน่งวังหน้าเป็นร่มพักพิงของตน ต่างก็เกิดความระส่ำระสายในชีวิต แม้ช่วงแรกจะได้พำนักอยู่ที่เดิม แต่ยามไม้ล้ม ฝูงลิงก็แยกย้าย หญิงชาววังที่ไม่มีอำนาจและเงินตราก็จำเป็นต้องสละที่อยู่ของตนเอง กรมทหารจึงได้ซื้อที่ตรงนี้ก่อนทำเป็นค่ายทหาร


ตลาดวิชาสมัยใหม่ของประชาชน

เมื่อคณะราษฎรได้กระทำการอภิวัฒน์สยาม หนึ่งในหลัก 6 ประการต้องให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน เหตุก็เพราะแม้แต่ในวันกระทำการอภิวัฒน์สยาม แม้นายปรีดีจะพิมพ์ใบปลิวเพื่อแจกจ่ายแล้ว แต่ก็ยังคงต้องส่งคนไปอ่านประกาศนั้นด้วย เพราะคนไทยจำนวนมากอ่านหนังสือไม่ได้ ถือเป็นความอยุติธรรมที่ต้องแก้ไขอย่าง ‘เร่งด่วน’

คณะราษฎรจึงดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศ แต่จุดสำคัญที่สุดก็คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อันเป็นตลาดวิชาระดับอุดมศึกษา โดยซื้อที่ดินของค่ายวังหน้านี้เอง

หอประชุมธรรมศาสตร์

นักศึกษาปีแรกที่รับเข้ามามีมากถึง 7,000 คน ด้วยการเรียนการสอนแบบมหาวิทยาลัยแบบเปิด ให้คนเข้ามาซื้อหนังสือ และจัดสอบให้ ณ ที่ต่างๆ เป็นการปฏิวัติให้ผู้คนเข้าถึงความรู้อย่างแท้จริง ถึงแม้ในช่วงแรกจะสอนแต่วิชากฎหมาย แต่นักกฎหมายที่จบจากมหาวิทยาลัยนี้ก็เป็นนักกฎหมายที่รู้ครบเรื่อง ทั้งบัญชี พิมพ์ดีด และชวเลข

อาคารโดม มักมีผู้กล่าวกันว่าเป็นเสมือนดินสอที่ขีดเขียนฟากฟ้า แต่จากการตรวจสอบของอาจารย์สฏฐภูมิ บุญมา ได้ให้ความเห็นว่า ผู้ออกแบบตั้งใจให้เหมือนกับโบสถ์ของชาวคริสต์มากกว่า เปรียบเสมือนวิชาความรู้ของตะวันตกที่เป็นสากล

นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เป็นข้าราชการก็มาก ได้ไปเรียนต่อก็อักโข สภาพการเรียนรู้เช่นนี้ หล่อหลอมให้คนเหล่านี้รู้จักตั้งคำถามและท้ายท้ายอำนาจของรัฐ นับตั้งแต่ยุคแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งแรก คือ 14 ต.ค.2516  และ 6 ต.ค.2519 ซึ่งเริ่มจากคำถามเล็กน้อยว่า เหตุใดเราจึงไม่มีรัฐธรรมนูญ

หอประชุมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีศิลปะตามสมัยคณะราษฎรนิยม คือ มีเสา 6 เสา แสดงถึงหลัก 6 ประการ และด้านหน้าอาคารก็มีการจัดแสดงประติมากรรมของวีรชนเดือนตุลาคม เพื่อเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพวกเขา ให้ปรากฏหน้าตาของพวกเขาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม


สนามหลวง ไม่ได้ใหญ่เท่านี้นะ

เดินข้ามถนนมา เราก็จะเจอ ‘สนามหลวง’ ที่ทุกคนคุ้นเคยกัน อาจารย์ธำรงศักดิ์ก็เริ่มบรรยายถึงจุดเริ่มต้นว่า แท้จริงแล้วส่วนสนามหลวงด้านเหนือเคยเป็นอาณาเขตของวังหน้าเช่นกัน โดยเป็นโรงสรรพอาวุธของวังหน้า ปรากหลักฐานแม้แต่ในการขุดสร้างทางรถไฟใต้ดิน ก็ยังค้นพบปืนใหญ่หลายกระบอก

ด้านข้างของสนามหลวงติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ เป็นสถานที่สำคัญที่คณะราษฎรใช้เป็นสิ่งก่อร่างอุดมการณ์ชาติไทย พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นแหล่งรวบรวมวัตถุจากประเทศราชในสมัยรัฐจารีตมาก่อนแล้ว เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น ก็นำของแปลกที่มาจากต่างประเทศมาเก็บไว้ที่นี่ด้วย และเมื่อมีการค้นพบทางโบราณคดีก็นำมารักษาไว้ที่นี่ มันจึงเป็นสถานที่เก็บรักษา สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ

โรงละครแห่งชาติ คณะราษฎรมอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้อำนวยการ มีเกร็ดว่าในชั้นแรกคณะราษฎรไม่ค่อยไว้ใจเขาในตอนแรกเพราะเป็นคนปากโป้ง แต่เขาก็ทำงานแรกที่สำคัญให้แก่คณะราษฎร ละครเรื่องแรกที่เขาออกแบบที่นี่ก็คือเรื่อง ‘เลือดสุพรรณ’ ซึ่งให้ตัวเอกเป็นประชาชน ผู้หญิง ที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของราชสำนัก ต่อสู้และปกป้องแผ่นดินของตน เป็นการปลูกอุดมการณ์ชาติไทยผ่านสื่อบันเทิงเป็นครั้งแรก เพื่อให้คนเข้าใจถึงความเป็นชาติ หลังจากที่พึ่งเข้าสู่รัฐชาติสมัยใหม่

เดินเลียบไปทางด้านเหนือของสนามหลวง เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์รำลึกชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างด้วยศิลปะ art deco ผสมผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งจากสมัยลพบุรี และอาณาจักรโบราณต่าง ๆ เพื่อสื่อว่าชัยชนะในครั้งนั้น ได้มาจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติที่มีความหลากหลาย


อดีตตลาดของประชาชน

เมื่อจอมพล ป.ขึ้นมามีอำนาจ การสร้างชาติก็ไม่ใช่แค่การละคร แต่รวมไปถึงไลฟสไตล์ การกินอยู่และการแต่งกาย วิสัยทัศน์ในตอนนั้นก็คือ จะต้องสร้างชาติที่คนมีความเข็งแรงโดยเริ่มจากการรณรงค์ให้คนกินไข่ การกินไข่จะทำให้คนเข้าถึงโปรตีนราคาถูก และเป็นการเสริมสร้าเศรษฐกิจในทางอ้อม การจะมีไข่ได้ก็ต้องมีการเลี้ยงไก่ มีตลาดขายไข่ จอมพล ป.ก็จึงเอาที่สนามหลวงส่วนเหนือ มาเปิดแผงขายไข่ไก่ จนดึงดูดผู้คนให้เข้ามา เกิดเป็นตลาดของประชาชนที่ตั้งอยู่หน้าพระบรมหาราชวังอย่างสง่างาม

ฝั่งตรงข้ามไปทางคูเมืองหลังรูปพระแม่ธรณีก็เป็นแผงขายหนังสือ นอกจากจะให้คนอิ่มหนำและสุขภาพดี ก็ต้องให้คนมีความรู้ แผงหนังสือเกิดขึ้นเพื่อรับใช้อุดมการณ์นั้น และมิใช่เพียงประชาชนส่วนใหญ่ แต่รวมไปถึงกลุ่มคนส่วนน้อยด้วย ต้นขนุนริมคลองคูเมืองก็เป็นแหล่งทำมาหากินของหญิงขายบริการที่ออกมาเติมเต็มความขาดให้เหล่าชายหนุ่มในยามค่ำคืน

สนามหลวงด้านใต้นั้น ถึงจะเป็นที่เผาพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ หากแต่ว่าเมื่อตรงนี้เปลี่ยนเป็นที่ของประชาชนแล้ว ประชาชนก็มีสิทธิ์เผาศพตรงนี้เช่นกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชได้มีการนำทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์มาเผาศพ ณ ลานกว้างแห่งนี้ ขณะที่ในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในปี 2519 ในโศกนาฏกรรมครั้งนั้น สถานที่นี้ก็ยังถูกใช้เพื่อเผาอำพรางศพของนักศึกษา


ก๊อกน้ำสาธารณะสู่ความศักดิ์สิทธิ์

พระแม่ธรณีบีบมวยผม ตั้งอยู่บนหัวสะพานข้ามพิภพลีลา ริมคูเมืองธนบุรีเดิม ทุกวันนี้มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพสักการะ ตามแนวคติของพระพุทธศาสนา พระแม่ธรณีเป็นสัญลักษณ์ของบุญญาธิการ ความมีชัยของพระพุทธเจ้าและการเผยแผ่บุญกุศล ในตอนแรกสมเด็จพระราชนนนีพันปีหลวงได้ทรงตั้งใจว่า ที่ตรงนี้เป็นที่ที่ผู้คนสัญจรกันคับคั่ง มีคนงานขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือเดินทางไปมา พระนางจึงได้ตั้งใจที่จะสร้างหัวจ่ายน้ำสาธารณะขึ้น เป็นการแสดงถึงการให้น้ำเป็นทาน เพื่อสร้างบุญอันยิ่งใหญ่

พระแม่ธรณี Bangkok walk ing tour 91 ปี

อนิจจา จอมพลสฤษดิ์คงไม่รู้เรื่องอะไร เมื่อเขามาเห็นพระแม่ธรณีถูกใช้ด้วยอย่างเอะอะจอแจ ก็คงจะเห็นผิดวิสัย จึงได้สั่งให้ตั้งศาลขึ้น ก๊อกน้ำรูปพระแม่ธรณีนั้น ทุกวันนี้จึงได้ถูกกราบไหว้ในฐานะสิงศักดิ์สิทธิ์ไป


ถนนราชาดำเนิน

รัชกาลที่ 5 เป็นกษัตริย์องค์แรกของประเทศที่เสด็จประพาสต่างประเทศ และทรงเห็นว่าพระราชวังเดิมนั้นอยู่ในที่คับแคบ ต้องเดินทางทางเรือเป็นหลัก อยากจะได้ที่อยู่ใหม่และต้องเริ่มพัฒนาบ้านเมืองให้เหมือนต่างประเทศ จึงได้ตัดถนนเชื่อมพระราชวังเดิมกับวังสวนดุสิต เป็นสัญลักษณ์ว่าแต่นี้ไปเราจะใช้การเดินทางด้วยถนนเป็นหลัก แรกสร้างก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะทรงสร้างไว้ใหญ่โตกว้างขวางทำไม แต่ทุกวันนี้กลับเล็กไปเลย

ในสมัยนั้น คนที่จะมีรถคงมีไม่มาก นั่นก็คือพระมหากษัตริย์และเจ้านายนั่นเอง ถนนเส้นนี้ก็เปรียบดังราชมรรคาที่เอาไว้ให้ผู้คนได้ยลโฉมขบวนรถฝรั่งอันยิ่งใหญ่ของราชสำนัก และในเมื่อมันเป็นถนนเพื่อราชสำนัก ก็จึงมีประกาศสั่งห้ามรถลากของคนจีนไม่ให้ใช้ถนนเส้นนี้


ชนชั้นแท็กซี่ คนจีนในไทย

คนจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย แรกเริ่มถ้าไม่เป็นกุลีก็ทำอาชีพลากรถ ซึ่งคนไทยมมองว่าคนลากรถเป็นคนกักขฬะ สกปรก และไม่น่าคบหา แต่ที่มาที่ไปก็คือ คนจีนที่ลากรถนั้นเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่อพยพมาแต่ตัวจากเมืองจีน มาทำงานขายแรงงานในไทย การลากรถต้องมีค่าเช่าคันละบาทต่อวัน และมีการควบคุมไม่ให้มีรถลากที่ให้บริการในแต่ละวันเกิน 5,400 คัน แสดงให้เห็นว่า ชนชั้นกรรมาชีพนั้นถูกกดทับจากรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาช้านาน และด้วยความที่ถูกกดทับมานาน เมื่อคณะราษฎรอภิวัฒน์สยาม ก็ปรากฏว่ามีแรงงานคนจีนประท้วงขึ้นค่าแรงทันที


โรงแรมแห่งความศิวิไลซ์
โรงแรมรัตนโกสินทร์

จอมพลป. ตั้งใจจะให้ตลอดแนวของถนนราชดำเนินเป็นเสมือนย่านธุรกิจของประเทศดังย่าน ช็องเซลิเซของฝรั่งเศส เมื่อจะมีย่านธุรกิจหรูหราของคนไทย และที่ไม่เหมือนเยาวราช สำเพ็ง ของชาวจีนด้วย ก็ต้องมีโรงแรมที่หรูหรา จึงได้มีการสร้างโรงแรม Loyal Hotel ขึ้น ตั้งอยู่บนหัวถนนราชดำเนินกลาง ข้างสะพานผ่าพิภพลีลา และปัจจุบันก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงแรมรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงก็สร้างโรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมไทย ให้เป็นแหล่งบันเทิงในย่านแต่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว

โรงแรมนี้ ถือเป็นจุดสำคัญเพราะในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองต่างๆ โรงแรมแห่งนี้ได้เป็นสักขีพยานกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีการสลายการชุมนุมขึ้น ที่นี่ก็มักจะเป็นที่แรกๆ ที่ผู้ชุมนุมเข้ามาหลบกัน เพราะอยู่เพียงข้ามสะพานและมีห้องหับให้หลบซ่อนได้


อนุสรณ์สถานแห่งการยื้อยุด

แนวถนนราชดำเนินกลางนั้น เต็มไปด้วยตึกพานิชย์สมัยเก่า แต่ทว่ามีสิ่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ ก่อนหน้าจะมาเป็นอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อก่อนคือสำนักงานที่เรียกกันว่า ก.ต.ป. หรือคณะกรรมการตรวจสอบข้าราชการ ซึ่งตั้งโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ให้ลูกชายของตนเองเป็นผู้ควบคุม ในตอนนั้นอำนาจของจอมพลถนอมแทบจะเบ็ดเสร็จ เพราะควบคุมทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และให้ลูกชายคือพลเอกนณรงค์ แต่งงานกับลูกสาวของจอมพลประพาส ซึ่งคุมกระทรวงมหาดไทย นับเป็น 3 เสาหลักของประเทศ

เมื่อจอมพลถนอมรัฐประหารตัวเองก็มีการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 17 อย่างไม่เป็นธรรม เกิดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย เหตุการณ์บานปลายและเกิดการเผาที่ว่าการ ก.ต.ป. อันเป็นสถานที่ที่จัดเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ ในยุครัฐประหารที่ไม่เป็นธรรม หลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม นักศึกษาจึงเรียกร้องให้ใช้สถานที่ของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จนี้ โดยเปลี่ยนเป็นสถานที่รำลึกการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา


แท่นประกาศชัยชนะของคณะราษฎร

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นเพื่อการประกาศชัยชนะของคณะราษฎร ไม่ใช่แค่การอภิวัฒน์สยาม แต่สร้างขึ้นหลังจากแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติตะวันตก เพื่อประกาศว่า นับแต่นี้ต่อไปชาติไทยได้มีเอกราชที่สมบูรณ์แล้ว ปราศจากอำนาจครอบงำจากจักรวรรดินิยม

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแฝงไปด้วยสัญลักษณ์มากมาย อาจารสฏฐภูมิถึงขนาดกล่าวว่า คณะราษฎรเป็นกลุ่มคนที่บ้าสัญลักษณ์อย่างมาก เพราะเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุสาวรีย์มีขนาด 24 เมตร คือวันที่ 24 มิถุนายน ตัวพานรัฐธรรมนูญสูง 3 เมตร สื่อถึงเดือน 3 ของไทย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม หมายถึงการทำให้ไทยเป็นสากล เพราะตอนนั้นคนไทยขึ้นปีใหม่กันเดือนเมษายน รั้วที่เป็นปืนใหญ่มี 75 กระบอก คือปี 2475 ตัวอาคารอนุสาวรีย์สูง 6 เมตร หมายถึงหลัก 6 ประการ และปีกของอนุสาวรีย์ คือปีกของครุฑ เป็นสัญลักษณ์ว่าไม่มีสิ่งใด อยู่เหนือไปกว่ารัฐธรรมนูญ ในตอนแรกคณะราษฎรตั้งใจว่า จะให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศ เสมือนมีรัฐธรรมนูญอยู่เป็นศูนย์กลางของประเทศ ทว่าจอมพล ป.ก็เลือกใช้อนุสาวรีชัยสมรภูมิแทน

ปะติมากรรมอนุสาวรีย์

ที่ปีกของอนุสาวรีย์มีภาพประติมากรรมนูนสูงเพื่อยกย่องสามัญชนอยู่ รูปที่อาจารย์สฏฐภูมิชอบที่สุดคือรูปที่มีเทวดาถือดาบและคันชั่ง โดยทั่วไป เทวดามักถือดาบที่แสดงถึงอำนาจ มีเพียงอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อผ่านการอภิวัฒน์สยาม การเติมคันชั่งลงไปเป็นการบอกเป็นนัยว่า เทวดาจำเป็นต้องมีความยุติธรรมด้วยเช่นกัน

แม้จะผ่านไป 91 ปีแล้ว หากแต่หลัก 6 ประการและจุดประสงค์ริเริ่มของคณะราษฎร ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ยังมีคำถามเกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ว่า พวกเรามีสิทธิและเสรีภาพอย่างที่เขาบอกจริงหรือไม่ ประวัติศาสตร์การล้มลุกคลุกคลานของคณะราษฎรทำให้เราพึงรำลึกเสมอว่า การต่อสู้ของประชาชน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และการเมืองนั้น เป็นการยื้อยุดฉุดกระชากกันไปเรื่อยๆ ใช่ว่าเมื่อกระทำการจนได้สิ่งหนึ่งมาแล้ว จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงถอยกลับ หรือใช่ว่าเมื่อได้ชัยชนะมาแล้ว จะรักษามันไว้ได้ แต่ไม่ว่ามันจะก้าวหน้าหรือถอยหลัง เราพึงตระหนักถึงคุณค่าของสิทธิและเสรีภาพที่เราพึงได้ และอย่าให้ใครมาหลอกลวงหรือปล่อยเขาได้พรากมันไปจากเราโดยไม่รู้ตัว

เรื่องโดย : จิรภัทร นิวรณุสิต