ไม่พบผลการค้นหา
แกนนำ รปช. ตั้งโต๊ะค้านแก้ รธน. ปี60 ยกข้อดีเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ชี้ให้อำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ไม่ได้มีพิษภัย ซัดแก้ รธน. ตั้ง ส.ส.ร.เป็นอันตรายยื้อเวลา ยก รธน.ปัจจุบันดีที่สุด

ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย พร้อมด้วย ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขาธิการพรรค นายทะเบียนพรรค และ ส.ส. พรรค แถลงผลการประชุมพรรคมีมติเอกฉันท์ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่มีขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศ เดือนตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556- พ.ค. 2557 เพื่อเรียกร้องให้เห็นว่ารัฐบาลใช้เผด็จการรัฐสภาดำเนินการแก้กฎหมายสำคัญ เช่น แก้ที่มา ส.ว. ทำให้เกิดสภาเครือญาติ หรือสภาผัวเมีย หรือการแก้ไขให้รัฐบาลทำสัญญาใดกับต่างประเทศโดยไม่ต้องให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา รวมทั้งกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดท้าย เพื่อช่วยเหลืออดีตนายกรัฐมนตรีที่ศาลพิจารณาว่ามีความผิดและช่วยคนของตนอีกจำนวนมากจากการเผาบ้านเผาเมือง 

ขณะเดียวกัน ข้อดีของการตรารัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดจากการรับบทเรียนที่เลวร้ายของประเทศ จึงต้องการผดุงหลักนิติรัฐนิติธรรม และปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่หมวดว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศ 

อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติที่สิ้นเปลืองงบประมาณไปเป็นอันมากกว่าหมื่นล้านบาท โดยผลของประชามติคือเสียงข้างมาก 16.8 ล้านเสียงยอมรับให้ประกาศใช้ จึงถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน อย่างไรก็ตาม พรรคมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งใช้มาได้ 3 ปี ยังไม่ประจักษ์ว่ามีปัญหาไม่ดีงาม หรือเกิดสิ่งไม่พึงปรารถนากับประชาชน อาจมีเพียงแต่นักการเมืองไม่พอใจหรือไม่สมประโยชน์ เช่น ไม่ประสบความสำเร็จในผลการเลือกตั้งทั่วไปตามที่คาดหวัง บางพรรคที่ได้ ส.ส. เขตจำนวนมาก แต่ไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องการให้คะแนนเสียงตกน้ำ เป็นการคลี่คลายปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภา ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าพรรค รปช. ได้ประโยชน์จึงเห็นชอบ

“ลำพังประชาชนเรือนแสนหรือล้านไม่มีอำนาจล้มเผด็จการรัฐสภาได้ เพราะพวกเขามาในคราบประชาธิปไตย ที่จริงแล้วรัฐบาลทหารอยู่ไม่นาน หลายประเทศก็ล้มได้ แต่เผด็จการในคราบรัฐสภาล้มไม่ได้ง่ายๆ” 

ส่วนการแก้ไข มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี ที่จริงเป็นเพียงบทเฉพาะกาลที่ใช้เพียง 5 ปี เมื่อครบก็จะสิ้นผลไปเอง และจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้รับเสียงเกินครึ่ง ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว. ก็ได้ แต่หากไม่มีเสียง ส.ส. เกินครึ่งก็บริหารประเทศไม่ได้ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีพิษภัยขนาดนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องแก้กันในขณะนี้

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ตาม มาตรา 7 วรรคสอง บัญญัติว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง และนำมาพิจารณาในการตรากฎหมายทุกขั้นตอน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญและไม่มีการเปิดเผยผลการรับฟังและการวิเคราะห์ในกระบวนการตรากฎมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 

ส่วนการตั้ง ส.ส.ร. บางพรรคอาจจะเห็นว่าจะรวมผู้ที่มาจากการเลือกตั้งที่ต่างๆ แต่ความจริงคือมาจากเครือข่ายพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ๆ และทิศทางที่จะเขียนกฎหมายก็จะได้รับอิทธิพลจากความคิดของพรรค หรือบางฝ่ายมองว่าการตั้ง ส.ส.ร. เป็น กระบวนการยื้อหรือซื้อเวลา แต่ไม่ว่าใครจะมีวาระแฝงเร้น แต่ รปช. มองว่า ถ้าตั้ง ส.ส.ร. มา เหมือนการเซ็นเช็คเปล่า เป็นอันตรายที่รัฐธรรมนูญของดีที่มีอยู่อาจจะกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ หรือบางคนจะมองว่าถ้าร่างมาแล้วก็ต้องลงประชามติอยู่ดี แต่การลงประชามติก็ต้องใช้เงินเป็นหมื่นล้าน และในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้มันควรหรือไม่?

จากนี้พรรคจะแนวทางให้ ส.ส. ทุกคนไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาเป็นกบฎหรือทรยศหักหลัง สิ่งนี้ไม่ใช่นโยบายร่วมกันในการบริหารประเทศ แต่เป็นเรื่องปรัญชาการเมืองที่แต่ละพรรคควรมีอิสระในจุดยืนของตัวเอง พร้อมโหวตไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระ

รวมพลังประชาชาติไทย 20497257_3260449311739420689_n.jpg

เมื่อถามถึง ความเชื่อมโยงกับกลุ่มไทยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชวิกรม นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีความเชื่อมโยงอย่างเป็นทางการ นพ.วรงค์ ก็จะเคลื่อนไหวในภาคประชาชน แต่ก็น่าจะพ้องกันในจุดยืน 

ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อจะผ่อนคลายกระแสเรียกร้องทางการเมือง ตนเห็นว่าไม่ควรเอามาเป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนกัน เพราะการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรจะทำเพียงแค่ผ่อนคลายอุณหภูมิในการเรียกร้อง ถ้าคนที่เขาต้องการให้เคลื่อนไหวให้บ้านเมืองปั่นป่วนมีเรื่อง ถ้าไม่มีเรื่องนี้ก็จะมีประเด็นอื่นจนได้ 

ด้าน ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขาธิการพรรค กล่าวว่า พรรคเคารพประชาชนและมีความคิดเห็นอย่างเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์เพื่อขอพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับนี้

ดวงฤทธิ์ รวมพลังประชาชาติไทย 05383733_n.jpg


เขตรัฐ รวมพลังประชาชาติไทย 9161027707750976217_n.jpg

เขตรัฐ เหล่าธรรมทัตต์ โฆษกพรรค กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง เพื่อป้องกันการโกงและเข้าข้างประชาชนมากที่สุด พรรคเคารพความคิดเห็นของกลุ่มอื่น พร้อมจะฟังควาามเห็นเพื่อนำมาทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. ที่ผ่านมาพรรคติดตามความเห็นของแต่ละฝ่ายอย่างใกล้ชิด แม้จะยังไม่ได้ยินการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงรอบด้าน จึงเห็นร่วมกันว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่าร่างที่เสนอ และดีกว่าการยกเลิกแล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดยที่ไม่รู้ว่าร่างใหม่นี้จะเป็นอย่างไร และขออาสาทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชนไปพูดในสภาเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ทั้งนี้ดวงฤทธิ์ กล่าวว่า หากไม่ใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอุณหภูมิทางการเมือง รัฐบาลมีการเปิดเวทีเพื่อให้นักศึกษาเข้ามาพูดจากันดีๆ ส่วนกระทรวง อ.ว. ก็เป็นยุทธศาสตร์ของพรรคที่จะดูแลนักศึกษาด้วยเครื่องมือที่เอื้อต่อการแสดงออก และมีท่าทีรับฟังและให้เกียรติโดยการใช้เหตุใช้ผล เช่น โครงการผู้นำนักศึกษาเพื่อนวัตกรรมทางสังคม การส่งเสริมสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อหาแนวทางพัฒนาชุมชน เนื่องจากประเทศกำลังอยู่ในช่วงที่เพิ่งผ่านสถานการณ์โควิดมา คนส่วนใหญ่มุ่งไปที่การสร้างงานสร้างรายได้ และตนเชื่อว่าถ้าได้พูดคุยกันจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีขึ้น