ไม่พบผลการค้นหา
���ารศึกษาพบว่าโครงการฝึกทักษะอาชีพส่วนใหญ่ไม่สามารถทำให้ชีวิตของคนจนดีขึ้นได้ เพราะทักษะอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาชีวิต แต่จะต้องช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และเงินทุนควบคู่กันไปด้วย

สำนวนที่ว่า ‘ให้ปลาจะทำให้คนมีปลากินเพียงหนึ่งวัน แต่ถ้าสอนให้เขาตกปลา เขาจะมีกินไปตลอดชีวิต’ เป็นหัวใจของนโยบายการพัฒนาสังคมและแก้ปัญหาความยากจนทั่วโลกมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ทำให้หลายโครงการจัดการอบรมฝึกฝนทักษะอาชีพแทนการนำเงินลงไปทุ่มให้กับคนจนเฉยๆ โดยช่วงปี 2002 - 2012 ธนาคารโลกทุ่มเงินลงไปกับโครงการฝึกทักษะอาชีพถึง 9,000 ดอลลาร์ (เกือบ 300,000 บาท)

โครงการฝึกทักษะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. โครงการที่มุ่งเน้นพัฒนาตัวบุคคล ซึ่งจะสอนทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องถิ่น 2. โครงการสำหรับเจ้าของธุรกิจและคนที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งจะสอนทักษะในการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นและขยายกิจการได้

สำนักข่าว Vox ระบุว่า แม้จุดประสงค์ของโครงการฝึกทักษะอาชีพจะดี แต่ส่วนใหญ่แล้ว โครงการเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จ อัตราการเข้าร่วมโครงการไม่สูงนัก คนที่สมัครเรียนก็มักเลิกเรียนกลางคัน หากโครงการใช้เวลาหลายวัน แต่การสอนทักษะต่างๆ ภายในเวลาสั้นๆ ก็เป็นเรื่องยาก และหลายคนอาจตัดสินใจถูกแล้วที่เลิกเรียนไป เนื่องจากงานวิจัยพบว่า โครงการเหล่านี้ไม่ทำให้พวกเขามีรายได้ที่สูงขึ้นได้เสมอไป

แม้งานวิจัยจะไม่ได้ระบุว่า โครงการฝึกทักษะอาชีพทุกโครงการไม่มีประสิทธิภาพ แต่แม้บางโครงการจะเห็นผลดีที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนอยู่บ้าง แต่กำไรก็ไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุนมากนัก โดยผลวิจัยของคริสโตเฟอร์ แบลตต์แมน จากคณะนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยชิคาโกและสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ ร่วมกับลอรา รัลสตันจากธนาคารโลก ซึ่งวิเคราะห์กำไร-ต้นทุนของโครงการฝึกทักษะอาชีพเหล่านี้พบว่า ความคุ้มค่าในการแก้ปัญหาความยากจนของโครงการฝึกทักษะอาชีพย่ำแย่กว่าการให้เงินคนจนไปบริหารจัดการเองเสียอีก

หลายโครงการที่พยายามช่วยเหลือคนจน แต่อาจไม่ยั่งยืนเลย โดย Poverty-Action พบว่า โครงการให้แพะและไก่กับคนจน พร้อมสอนวิธีการเลี้ยง ทำให้คนจนที่ได้รับแพะและไก่มีรายได้ต่อปีมากกว่าครอบครัวที่ไม่ได้รับประมาณ 80 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,600 บาทต่อปี หลังจากเวลาผ่านไป 3 ปี ซึ่งอาจฟังเหมือนจะดี

ปัญหาหลัก 2 ข้อก็คือ 1. โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 1,700 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5,600 บาทต่อผู้เข้าร่วมหนึ่งคน คำนวณแล้วพวกเขาจะต้องใช้เวลาถึง 20 ปีจึงจะคุ้มเงินลงทุน 2. การศึกษานี้เก็บข้อมูลเพียง 3 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าอีก 17 ปีต่อมา สัตว์เหล่านี้จะยังสร้างรายได้ให้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยของ BRAC องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานอยู่ในบังกลาเทศพบว่า โครงการ “จบการศึกษา” (graduation) ด้วยการผสมผสานทั้งการอบรมทักษะอาชีพและการให้เงิน รวมถึงให้ทุนสำหรับการทำมาหากิน เช่น สัตว์ (ไก่, แพะ, วัว) หรืออุปกรณ์ต่างๆ (จักรยาน จักรเย็บผ้า)


คนจนไม่ร่วมฝึกทักษะอาชีพเพราะไม่ทำให้หายจน

โครงการฝึกทักษะอาชีพมักได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล มูลนิธิ บริษัทเอกชน และผู้บริจาคทั่วไป แต่ธนาคารโลกถือเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของโครงการฝึกทักษะอาชีพทั่วโลก แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารโลกพบว่า “โครงการฝึกทักษะอาชีพไม่ถึง 1 ใน 3 ที่ได้ผลที่น่าพอใจ คือผู้เข้าอบรมมีรายได้สูงขึ้นและถูกจ้างงานมากขึ้น แต่โครงการที่ประสบความสำเร็จก็ใช้เงินจำนวนมหาศาล โดยที่ได้กำไรน้อยไม่คุ้มเงินลงทุน”

โครงการฝึกทักษะอาชีพมักเปิดการฝึกอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และอบรมทักษะความรู้ด้านธุรกิจ ตั้งแต่การทำบัญชี การจัดการ การรู้เท่าทันด้านการเงิน และการเริ่มธุรกิจ แต่รายงานสรุปผลโครงการพัฒนาทักษะด้านธุรกิจเมื่อปี 2014 พบว่า มีหลักฐานโดยประจักษ์น้อยมากที่จะพิสูจน์ว่าโครงการเหล่านี้ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นกลุ่มคนจนที่สุดในโลกให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และยังพบว่า เกือบจะไม่มีผู้ประกอบการรายย่อยจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อขยายกิจการ และแม้จะมีการปรับปรุงกระบวนการทำธุรกิจหลังการอบรมแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมนัก

ในรายงานปี 2015 ของแบลตต์แมนและรัลสตันสรุปไว้ว่า โครงการฝึกทักษะแบบ “จูงมือ” ที่มีการติดตามผลเพื่อให้ความช่วยเป็นระยะก็ไม่คุ้มค่าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทักษะด้านเทคนิค อาชีพ หรือทักษะธุรกิจ โครงการเหล่านี้แทบไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยเฉพาะกับผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้ชาย คนจนส่วนใหญ่จึงไม่เข้าร่วมหรือเลิกเข้าฝึกอบรมกลางคัน


หายจนไม่ได้เพราะไม่มีต้นทุน

ปัญหาหลักของคนจนที่เข้าร่วมโครงการฝึกทักษะก็คือการขาดแคลนทุนทรัพย์ คนจนมักมีอุปสรรคจากการมีทรัพย์สินน้อยและไม่มีเครดิตกู้ยืมเงิน ดังนั้น โครงการที่ให้เงิน อุปกรณ์ หรือปศุสัตว์กับผู้ประกอบการรายย่อย เยาวชนว่างงาน หรือผู้หญิงยากจนสุดขีด มักจะได้ผลที่ใกล้เคียงกันคือ คนจนจะขยายจำนวนหรือขนาดของธุรกิจตัวเอง ซึ่งจะเพิ่มผลกำไรจากการทำงานไปด้วย

อีกปัญหาก็คือเราไม่อาจรู้ได้ว่าการสอนทักษะอาจมีประโยชน์กับธุรกิจขนาดเล็กจริงๆ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นและโอกาสในท้องถิ่นหรือไม่ โครงการฝึกทักษะมักไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้เข้าอบรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ทักษะที่จำเป็นหลายอย่างก็อาจจะสอนได้ยาก หรือใช้เวลานานในการอบรม

 

อบรมทักษะพร้อมให้ทุน ได้ผลกว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

รายงานสรุปผลโครงการ “จบการศึกษา” ที่ผสมผสานการอบรมทักษะกับการให้ทุนกับคนจนใน 6 ประเทศเมื่อปี 2015 พบว่า โครงการลักษณะนี้ช่วยปรับปรุงรายได้ เงินออม ความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตของคนจน ต่อมาในปี 2017 มีการศึกษาเรื่องนี้ต่อและพบว่า โครงการแบบผสมผสานช่วยคนจนได้ดีกว่าการให้ทุนอย่างเดียว โดยผลการศึกษาโครงการในเซาท์ซูดานพบว่า โครงการฝึกทักษะพร้อมให้ทุนทำให้คนจนพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืนกว่าการให้เงินตรงๆ ส่วนการศึกษาโครงการในยูกันดาของ Poverty-Action ก็พบว่าโครงการผสมผสานเช่นนี้ช่วยเพิ่มการบริโภคและรายได้ ขณะที่คนที่ได้รับเงินสดก็จะนำเงินที่ได้ไปใช้หนี้สิน

การฝึกทักษะ ให้คำปรึกษา พร้อมกับให้ทุนตอบโจทย์สำหรับคนจนมากขึ้น เพราะช่วยทั้งคนที่มีข้อจำกัดเรื่องการขาดต้นทุน และคนที่มีข้อจำกัดเรื่องการขาดทักษะ ซึ่งอาจสามารถดึงดูดให้คนหันมาสนใจเข้าร่วมโครงการกันมากขึ้น

หากจะย้อนกลับไปที่การเปรียบเทียบเรื่องการตกปลา เราต้องแน่ใจได้ว่า คนที่เราต้องการช่วยเหลือมีสุขภาพที่ดีพอจะตกปลา และสามารถเข้าถึงอุปกรณ์สำคัญสำหรับการตกปลา และพวกเขาได้รับความรู้และทักษะจากผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ โครงการฝึกทักษะจึงต้องให้เงินช่วยเหลือโดยไม่มีภาระผูกพันด้วย พร้อมกับให้คำปรึกษาและช่วยเหลือพวกเขา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ที่มา : Vox, SSRN, World Bank