ไม่พบผลการค้นหา
"ไม่กลัวค่ะ ตื่นเต้นมากกว่า จะได้รับวัคซีนแล้ว" 'นัททิยา' เล่าประสบการณ์เข้าถึงวัคซีนโควิดแคนาดาฟรี - สะท้อนรัฐบาลไทยหละหลวมรับมือระบาด

ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. ของปีที่ผ่านมา ทั่วโลกได้เริ่มกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มแรก โดยจนถึงขณะนี้ วัคซีนโควิดเข็มแรกได้ถูกฉีดให้กับพลเมืองในหลายประเทศทั่วโลกแล้วราว 25 ล้านคน จำนวนนี้ แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีประชากรเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิดแล้วมากกว่า 314,000 ราย หนึ่งในนั้นรวมถึงหญิงไทยที่แม้ยังไม่ใช่พลเมืองแคนาดา แต่ก็มีสิทธิได้รับวัคซีนป้องกันโควิดฟรีจากรัฐบาล

'นัททิยา ภูสง่า' วัย 28 ปี สาวไทยที่ทำงานด้านดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีโอกาสรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ฟรีตามนโยบายของรัฐบาลแคนาดา เมื่อ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้เล่าประสบการณ์ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกให้ 'วอยซ์' ฟังว่า ขณะนี้กำลังศึกษาในวุฒิประกาศนียบัตร (Diploma) ที่เมืองคาลการี รัฐอัลเบอร์ตา โดยย้ายมาพำนักที่แคนาดาตั้งแต่ปี 2558 กระทั่งขณะนี้ ได้สถานะผู้มีถิ่นพำนักถาวร (Permanent residency) แล้ว ซึ่งมีสิทธิต่างๆ คล้ายพลเมืองแคนาดา เว้นแต่ยังไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

IMG_1034.jpeg
  • ภาพจาก นัททิยา ภู่สง่า

"งานพาร์ทไทม์ที่ทำเป็นงานในสถานพยาบาลกึ่งบ้านพักของผู้สูงอายุและผู้พิการค่ะ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเยอะ และเป็นงานเสี่ยงที่ได้รับเชื้อ ทุกคนในสถานที่ทำงานตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ จนถึงพนักงานทำความสะอาด และพนักงานในครัว ล้วนมีสิทธิได้รับวัคซีนในเฟสแรกในรูปแบบสมัครใจ"

นัททิยาอธิบายว่า หน่วยงานท้องถิ่นรัฐอัลเบอร์ตาแบ่งการแจกจ่ายวัคซีนออกเป็น 5 เฟส โดยเฟส 1 เริ่มเมื่อ 1 ธ.ค แจกให้กับกลุ่มประชากรที่ทำงานเสี่ยงติดเชื้อสูงเฉพาะเขตเมืองเอ็ดมันตัน และนครคาลการี อาทิ แพทย์ในหน่วยฉุกเฉิน, นักบำบัดทางเดินหายใจ (Respiratory Therapists), พนักงานด้านดูแลผู้ป่วยระยะยาว ( long term care) และพนักงานในบ้านพักอื่นๆ ที่รัฐระบุไว้เนื่องจากมีการติดเชื้อสูง เธอจึงเข้าข่ายกลุ่มบุคคลในเฟสแรกที่มีสิทธิเข้าถึงวัคซีนดังกล่าว


วัคซีนโควิดฟรี

"ไม่ค่อยกลัวค่ะ ตื่นเต้นมากกว่าว่าจะได้รับวัคซีนแล้ว" เธอเผยความรู้สึก เมื่อรู้ว่ามีสิทธิเข้าถึงวัคซีนฟรีของรัฐ "ค่อนข้างมั่นใจในความปลอดภัยเพราะสาธารณสุขแห่งชาติแคนาดารับรองแล้ว แต่ก็แอบกังวลอยู่บ้างเพราะมีข้อมูลบ้างส่วนที่ยังไม่ได้รับรายละเอียดจากทางบริษัทที่ผลิตและวัคซีนใช้เวลาไม่นานนักในการพัฒนา"

เธอเล่าว่า ก่อนหน้าวันนัดฉีดหนึ่งวัน จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโทรมาสอบถามความสมัครใจก่อนว่าจะเข้าฉีดหรือไม่ เนื่องจากทำงานพื้นทีเสี่ยงโดยหากประสงค์ฉีด เจ้าหน้าที่จะให้เตรียมเฉพาะบัตรที่มีรูปเราซึ่งทางราชการออกให้ หรือบัตรประกันสุขภาพของรัฐอัลเบอรตาไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่

"พอไปถึงก็ทำการสอบประวัติ เช็คอิน และต่อแถวรอฉีด พอฉีดเสร็จก็จะนัดวันฉีดเข็มที่สองที่นั่นเลย หลังฉีดก็นั่งรอ 10-15 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีอาการแพ้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายไม่มีการพูดถึงเลยค่ะ เพราะแคนาดามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เสียค่าใช้จ่าย ต่างจากที่อเมริกา"

แคนาดา-วัคซีนโควิด
  • ภาพจาก นัททิยา ภู่สง่า

ตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขแคนาดา (Health Canada) ระบุไว้ว่า วัคซีนโควิดของไฟเซอร์ ให้ใช้ในคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยคนที่คิดเชื้อแล้วไม่ควรฉีด รวมถึงคนที่แพ้สารประกอบอื่นๆในวัคซีน และกลุ่มคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ มีปัญหาเกี่ยวกับการหยุดไหลของเลือด คนตั้งครรภ์หรือมีแผนกำลังจะตั้งครรภ์ และคนที่อยู่ในระยะให้นมบุตร

"หลังฉีดประมาณ 10 นาที ก็รู้สึกมีอาการเหนื่อยล้าและง่วงนอนค่ะ ได้งีบสักพักก็หายแล้วค่ะ จากนั้นก็มีอาการปวดกล้ามเนื้อแขนข้างที่ฉีดประมาณ 2 วัน เพื่อนร่วมงานคนอื่นก็มีอาการคล้ายกัน บางคนอ่อนแรง บางคนปวดหัว บางคนแค่ปวดกล้ามเนื้อ" นัททิยาอธิบายถึงอาการที่ตามมาหลังฉีดเข็มแรก


สะท้อนไทยหละหลวมคุมระบาด

นัททิยาเปรียบเทียบสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างไทยกับแคนาดาให้วอยส์ฟังว่า มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เธอคิดว่าไทยหละหลวมในการป้องกันการแพร่ระบาด แต่มีการบอกรายละเอียดไทม์ไลน์การติดเชื้อแต่ละบุคคลชัดเจน ทำให้คนที่อยู่ในสถานที่นั้นๆ ระวังตัวและไปรับการตรวจทันที มีแผนการกักตัวบุคคลที่เดินทางจากต่างประเทศทำให้ลดการระบาดจากภายนอกได้ ต่างจากแคนาดาที่ให้กักตัวที่บ้าน ห้ามออกไปไหน หากฝ่าฝืนอาจถูกส่งตัวกลับไปสถานกักกันของรัฐ รวมถึงถูกปรับหรือจำคุกได้ ส่วนตัวเธอมองว่า คนแคนาดาบางส่วนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ และยังมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตัวเองและผู้อื่นจากไวรัสนี้ไม่มากพอเท่าคนไทยค่ะ

เธอเผยอีกว่า มีคนรอบตัวที่เธออยู่ไม่น้อยที่แม้เข้าถึงวัคซีนโควิดฟรีจากรัฐ แต่ก็ไม่ขอรับวัคซีนดังกล่าวเนื่องจากไม่มั่นใจถึงผลกระทบต่อร่างกาย "บางคนเห็นเราฉีดแล้วไม่เป็นอะไร เริ่มเปลี่ยนใจไปฉีดภายหลังก็มีค่ะ"

แคนาดา-วัคซีนโควิด
  • ภาพจาก นัททิยา ภู่สง่า

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรที่หลายๆชาติเริ่มทยอยฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ไทยยังไม่ได้รับวัคซีนในล็อตแรก เธอสะท้อนว่า "อาจเป็นผลดีต่อคนไทยก็ได้ค่ะ เพราะเราอาจได้เห็นผลข้างเคียงอื่นๆ ที่ทำให้วัคซีนมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ แต่อีกมุมก็มองได้ว่ารัฐทำงานล่าช้า เวลาเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติรัฐบาลควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและลงมือตั้งรับเหตุการณ์นั้นๆอย่างทันท่วงที"

นัททิยาทิ้งท้ายโดยฝากถึงรัฐบาลไทยว่า "หากไทยเข้มงวดมากกว่านี้ เช่นเรื่องบ่อนหรือปัญหาการลักลอบข้ามชายแดนอย่างผิดกฎหมาย ประเทศอาจจะไม่ต้องถูกล็อคดาวน์โดยไม่มีการสนับสนุนใดๆจากรัฐ มีแต่รัฐบาลเท่านั้นที่เป็นผู้ที่มีอำนาจที่จะสามารถทำให้คนไทยมีสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ช่วยดูแลประชาชนของประเทศด้วยนะคะ"

ทั้งนี้ เธอมีกำหนดรับวัคซีนโควิดของไฟเซอร์เข็มที่สอง วันที่ 28 ม.ค.