ไม่พบผลการค้นหา
รมว.คมนาคม ระบุ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรม ถือเป็นสัญญาณที่ดี เตรียมสู้เต็มที่ หนีจ่ายค่าโง่โฮปเวล์ แต่ยังต้องรอดูคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มเพื่อวางแนวทางเดินหน้าต่อ พร้อมตั้งปลัดกระทรวงฯ นั่งหัวโต๊ะหาผู้กระทำผิดละเมิดชดใช้ค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งหมด

ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากวินิจฉัย มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันพุธ ที่ 27 พฤศจิกายน 2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดีปกครองเป็นการออกระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดวันนี้ (18 มี.ค. 2564) ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดี ส่วนจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ หรือจะสามารถพลิกไม่ต้องจ่ายค่าโฮปเวลล์หรือไม่ ขณะนี้กระทรวงคมนาคมต้องยังรอคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งตามกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญจะส่งมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะผู้ร้องโดยตรง ก่อนส่งต่อมายังกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังจากนั้น กระทรวงคมนาคมโดยคณะทำงานที่มีอยู่จึงจะทราบว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า จะดำเนินการทุกขั้นตอนตามกระบวนการทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาน ดังนั้นจึงจะต้องสู้ต่ออย่างเต็มที่

“อะไรที่เป็นหลักกฎหมายแล้วถูกต้องต้องดำเนินการ อะไรที่ไม่ถูกต้องจะไปทำให้ถูกไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราจะต่อสู้อย่างเต็มที่เพราะเป็นเงินงบประมาณของรัฐบาล เป็นภาษีของประชาชน การจะจ่ายจะต้องถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย ถ้าไม่ถูกต้องกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการตามขั้นตอนปกป้องประโยชน์ของประชาชน” ศักดิ์สยาม กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้ง ‘ชยธรรม์ พรหมศร’ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงานหาผู้กระทำผิดทางละเมิด เพื่อดำเนินการสืบหาผู้กระทำผิดทางละเมิด โดยจะดำเนินการตรวจสอบถึงตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประเมินมูลค่าความเสียหายต่อรัฐที่บุคคลต้องรับผิดชอบด้วย ก่อนจะรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หากยังไม่มีการจ่ายเงินค่าโง่ดังกล้าวก็ยังไม่ถือว่าละเมิด

ส่วนทางด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า อยู่ระหว่างการรอผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปดำเนินการขอคัดถ่ายคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญอยู่เช่นกัน เพื่อนำมาพิจารณาเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆ พร้อมกับประสานงานกับกระทรวงคมนาคมในการพิจารณาแนวทางเพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกรณีนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นคำร้องแทนกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่