ไม่พบผลการค้นหา
ทำความรู้จัก Femicide ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นปัญหาเช่นกันในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงหรือวางแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และแนวคิด วัฒนธรรม ที่ผู้หญิงยังคงไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ปลอดภัย

“แฟนสาวแจ้งความ เอาผิด ส.ส.ก้าวไกล ทำร้ายร่างกาย หลังคบกันแค่เดือนเศษ” (ไทยรัฐออนไลน์, 28 มิ.ย. 66)

 “‘จีจี้-สุพิชชา’ เน็ตไอดอล เสียชีวิต ถูกพบศพพร้อมลูกชายอดีตทหารยศสูง” (The MATTER, 19 เม.ย. 66)

 “รวบทันควันโจ๋ทมิฬ ฆ่าสาวสวยแทงพรุน 13 แผล ตร.คาด 3 ปมสังหารโหด” (ไทยรัฐออนไลน์, 16 มิ.ย. 66)

 “เฒ่าหึงโหด คว้าเหล็กทุบหัวเมียสาวดับ-จุดไฟเผาซ้ำ ระแวงปันใจชายอื่น” (ไทยรัฐออนไลน์, 14 มิ.ย. 66) 

“ผัวเมาหนักพลั้งมือซ้อมเมีย สลบไม่รู้ว่าตาย ตื่นแต่เช้าไปซื้อข้าวให้กิน” (ไทยรัฐออนไลน์, 29 มิ.ย. 66)

ฯลฯ

ข่าวการใช้ความรุนแรงและฆาตกรรมผู้หญิงที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์เป็นระยะ คงสร้างความวิตกกังวลไปจนถึงความหวาดกลัวให้กับผู้หญิงในสังคมจำนวนไม่น้อย และมันกำลังเป็นปัญหาระดับโลก


ทุกๆ ชั่วโมง ผู้หญิงมากกว่า 5 คนถูกฆ่าโดยคนในครอบครัว

UN WOMEN ระบุว่าปี 2564 ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงประมาณ 45,000 คนทั่วโลกถูกฆ่าโดยคู่ชีวิตหรือสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ, พี่ชาย, น้องชาย, ลุง หรือกระทั่งสามี หมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงมากกว่า 5 คนถูกฆ่าตายโดยคนในครอบครัวของตัวเองทุก ๆ ชั่วโมง คนรักทั้งปัจจุบันและอดีตมีแนวโน้มจะก่อเหตุฆ่าผู้หญิงเพราะเพศมากที่สุด โดยคิดเป็น 65% ของการสังหารคนรักและคนในครอบครัวทั้งหมด


ทำความรู้จักกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

ความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศ (Gender-based violence) คือนิยามกว้างๆ ถึงการกระทำความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ อันมีสาเหตุมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมอำนาจนิยม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกบริบทความสัมพันธ์และเกิดขึ้นได้ในทุกลักษณะ ส่วนมากแล้วความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศนั้นผิดกฎหมายและนับเป็นอาชญากรรม

ในการพิจารณาว่าความรุนแรงนั้นเป็นความรุนแรงจากเหตุแห่งเพศหรือไม่ สามารถสังเกตได้จากปัจจัยอื่นที่เพิ่มเข้ามาเมื่อเกิดความรุนแรง เช่น การใช้อำนาจเหนือ (Abuse) การควบคุมบงการหรือข่มขู่ให้กระทำการบางอย่างที่อีกฝ่ายไม่ได้ยินยอมพร้อมใจอย่างแท้จริง สาเหตุมาจากอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างชายกับหญิง

UN จำแนกประเภทความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ที่มักเกิดกับเพศหญิง ไว้ดังนี้

  • ความรุนแรงในครัวเรือน ส่วนใหญ่มักเกิดจากคนรักหรือสามี ที่มีพฤติกรรมควบคุมบงการ
  • การคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการลวนลาม ข่มขืน ไปจนถึงวัฒนธรรมการข่มขืนในสังคมชายเป็นใหญ่
  • ความรุนแรงอื่นๆ เช่น การค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศสภาพ แต่ผู้หญิงและเด็กหญิงคือกลุ่มเป้าหมายที่ตกเป็นเหยื่อมากที่สุด
  • Femicide การฆ่าเพราะว่าเป็นเพศหญิง

แม้ว่าความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ อาจเกิดขึ้นกับเพศใดก็ได้ แต่จากสถิติที่ผ่านมาผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเพราะ ‘ความเป็นหญิง’ มากกว่าเพศสภาพอื่นๆ


อิตถีฆาต (femicide) คืออะไร ?

อิตถีฆาต (femicide/feminicide) คือ การฆ่าเพราะว่าเป็นเพศหญิง จัดเป็นอาชญากรรมทางเพศที่เลวร้ายที่สุด เพราะเหยื่อมักถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต เพียงเพราะว่าพวกเธอเป็นเพศหญิง เป็นการเจตนาฆ่าโดยมีแรงจูงใจเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ เช่น ฆาตกรรมผู้หญิงจากความรุนแรงของคู่รัก, การเกลียดผู้หญิงจนต้องฆ่า, การฆ่าผู้หญิงเพื่อ ‘เกียรติยศและศักดิศรี’ เช่น ฆ่าผู้หญิงที่เชื่อว่านำความเสื่อมเสียเข้ามาให้แก่วงศ์ตระกูล อาทิการแต่งงานกับคนต่างศาสนา รวมถึงการเสียชีวิตของผู้หญิงจากการขลิบอวัยวะเพศ

สาเหตุของอิตถีฆาต (femicide) อาจเกิดขึ้นจาก

  • บทบาททางเพศแบบเหมารวม (stereotyped gender roles) หมายถึงความคิดเหมารวมหรือการสรุปอย่างง่ายว่าคุณลักษณะ บุคลิก หรือบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งว่าควรเป็นของเพศใด เช่น ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า ผู้ชายทำงาน ผู้หญิงดูแลบ้าน ผู้หญิงต้องวางตัวเรียบร้อยอ่อนหวาน ฯลฯ
  • การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง 
  • ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง

แม้หลายทศวรรษที่ผ่านมาจะมีการเคลื่อนไหวจากองค์กรสิทธิสตรี ตลอดจนการตระหนักรู้และการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น แต่หลักฐานที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าความคืบหน้าในการหยุดความรุนแรงดังกล่าวยังไม่คงเพียงพอ


ตัวอย่างต่างประเทศ ฆาตกรรมผู้หญิงด้วยเหตุแห่งเพศ
  • ฝรั่งเศส

ช่วงเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ฝรั่งเศสปี 2565 มีการประท้วงเกี่ยวกับเรื่องฆาตกรรมผู้หญิงหลายครั้ง โดยกลุ่มผู้เรียกร้องปรากฏตัวบนพรมแดงเทศกาลหนังเมืองคานส์ เปิดเครื่องพ่นควันสีดำ และคลี่ม้วนกระดาษแผ่นยักษ์ที่มีรายชื่อของเหยื่อความรุนแรงจากคดีอิตถีฆาต 129 คน ก่อนหน้านั้นมีนักประท้วงหญิงเปลือยท่อนบนในพรมแดงรอบปฐมทัศน์หนังเรื่อง Three Thousand Years of Longing เพนต์บนตัวว่า “Stop raping us” เพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทางเพศในสงครามยูเครน จนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง(SERENE, 2022)

  • ลาตินอเมริกา

ในลาตินอเมริกาผู้คนจำนวนมากออกมาประท้วงตามเมืองหลวงต่างๆ เพื่อต่อต้านอิตถีฆาต การชุมนุม ปี 2020 ถือเป็นหนึ่งในการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในเม็กซิโก อาร์เจนตินาและชิลี ซึ่งถือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องให้ ‘Machista’ หรือผู้ยึดถือแนวคิดชายเป็นใหญ่ยุติความรุนแรงทางเพศต่อสตรี

UN ระบุว่า 14 จาก 25 ประเทศที่มีอัตรา femicide สูงที่สุดนั้นอยู่ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน เช่น เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส กัวเตมาลา และเม็กซิโก ในปี 2564 ผู้หญิงในภูมิภาคนี้จำนวนอย่างน้อย 4,473 คนตกเป็นเหยื่อของอิตถีฆาต ซึ่งหมายความว่าในแต่ละวันมีผู้หญิงอย่างน้อย 12 คนต้องจบชีวิตลงเพราะความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ

  • เม็กซิโก

คดีอิตถีฆาตเพิ่มขึ้นจนความอดทนของสตรีเม็กซิกันหมดลง มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อต่อต้านการยกเว้นโทษคดีอิตถีฆาต ทั้งยังติเตียนรัฐบาลที่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้หญิงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประธานาธิบดีของประเทศลาตินอเมริกาส่วนใหญ่ขาดมุมมองทางด้านเพศสภาพในการกำหนดนโยบาย และน้อยครั้งที่จะแสดงความสนใจต่อการร่างกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อนโยบายทางเพศสภาพด้วย

  • ชิลี

ในวันสตรีสากลปี 2563 ผู้ประท้วงออกมาชุมนุมมากกว่า 2 ล้านคน (ข้อมูลของกลุ่มประสานงานวันสตรีสากล) และอีกกว่า 125,000 คนได้ออกมาชุมนุมในกรุงซานติอาโก (สถิติทางการของกรมตำรวจแห่งชาติ) ในปีก่อนหน้ากลุ่มผู้เรียกร้องเผยแพร่เพลง “A Rapist in Your Path” (Un violador en tu camino) ที่กล่าวถึงความรุนแรงทางเพศที่สตรีต้องทนทุกข์ทรมาน และทวงถามถึงความรับผิดชอบของบุคคลสาธารณะต่อแนวคิดชายเป็นใหญ่ สตรีชิลีได้กลายเป็นตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในประเทศต่าง ๆ ซึ่งในไทยเองก็มีการแปลเพลงดังกล่าวมาใช้ในการเคลื่อนไหวด้วยเช่นกันในชื่อ “สีดาลุยไฟ”

 “ไม่มีฆาตกรรมใดเกิด จากความหลงใหล หากแต่เกิดจากการอิตถีฆาต”

“ในรัฐที่มีอิตถีฆาต การที่ผู้หญิงจะมีชีวิตอยู่รอดได้นั่นคือต้องเป็นขบถ”

ข้อความส่วนหนึ่งจากผู้ประท้วง


สถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทย

“สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในไทย พบสถิติสูงขึ้น ติด 1 ใน 10 ของโลก”

  • ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบความรุนแรงเพิ่มขึ้นจาก 34.6% ในปี2560 กลายเป็น 42.2% ในปี พ.ศ.2563 ทั้งความรุนแรงต่อจิตใจ ร่างกายและทางเพศ สอดคล้องกับข้อมูลความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการปี 2564
  • มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ พบผู้หญิงไทยถูกกระทำความรุนแรงไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน
  • ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมพบว่าผู้หญิงไทยไม่ต่ำกว่า 75 % เคยถูกคุกคามทางเพศ
  • กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพม. รายงานว่าปี 2565 ในไตรมาสแรกของปี จำนวนความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 667 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยผู้ถูกกระทำเป็นเพศหญิง 81.9% ยังไม่นับข้อมูลที่ไม่อาจสำรวจได้ หรือกรณีที่ผู้หญิงไม่กล้าเปิดเผยการถูกกระทำความรุนแรง จนนำไปสู่การบาดเจ็บ การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย และการถูกฆ่าตายในที่สุด

ธนวดี ท่าจีน ผอ.มูลนิธิเพื่อนหญิง ระบุว่า สถานการณ์ในไทยความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในไทยปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น รูปแบบมีความซับซ้อนมากขึ้น ความรุนแรงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้หญิง แต่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวมากยิ่งขึ้น เช่น ทำร้ายเด็ก ทำร้ายผู้สูงอายุในครอบครัว อาจเป็นเพราะสื่อมีมากขึ้นทำให้รายงานมีการรายงานเรื่องเหล่านี้ได้มากขึ้น

“กรณีที่สามีภรรยาฆ่ากันส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความหึงหวง เป็นความคิดที่ว่าผู้หญิงเมื่อแต่งงานไปแล้วเป็นสมบัติของผู้ชาย แสดงให้เห็นว่ามีแนวคิดเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ ความรู้สึกของการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของนั้นเกิดขึ้นกับทั้งสองเพศ แต่ความรุนแรงของความรู้สึกดังกล่าวผู้ชายจะมีแนวโน้มมากกว่า อาจจะด้วยเรื่องศักดิ์ศรีของผู้ชาย หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผู้หญิงจะมีวิธีการรับมือที่แตกต่างออกไปนอกเหนือจากการใช้ความรุนแรง มีวิธีบริหารจัดการอารมณ์จากการสูญเสีย การถูกทำร้าย ส่วนผู้ชายก็อาจจะทำร้ายคู่รักหรือคนรักใหม่ของอีกฝ่าย”


การดำเนินการของภาครัฐ

มีการกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" มาเป็นระยะเวลากว่า 24 ปีแล้ว และมีการตั้งหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)

นอกจากนี้ยังมีการบัญญัติกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการหลายระดับ มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือสายด่วน 1300 ที่ทำให้เกิดระบบและกระบวนการช่วยเหลือและการป้องกันปัญหาที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น

“สังคมไทย ผู้หญิงและเด็กมักเผชิญความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนถึงความผิดปกติของสังคมคือ ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ดังนั้นการแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศให้ตรงจุดนั่นคือ แก้ที่โครงสร้างทางสังคม ด้วยการปรับเปลี่ยนค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมบางอย่างที่หนุนเสริมให้เกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศ ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ระบุ

ที่ผ่านมา กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผลักดันในระดับนโยบายให้เกิดการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การคุ้มครองสิทธิ และการขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ที่ไม่จำกัดเฉพาะเพศหญิงและชาย แต่รวมถึงกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อให้การคุ้มครองบุคคลจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ล่าสุด มีการประสานความร่วมมือในการพัฒนาร่างแนวปฏิบัติของอาเซียนในการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานระดับชาติสำหรับการตอบสนองร่วมกันต่อความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อขจัดความรุนแรงต่อสตรีของประเทศไทย พ.ศ. 2566–2570 เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี

ขณะที่ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนหญิงให้ความเห็นต่อการทำงานของภาครัฐในเรื่องดังกล่าวว่า “ตัวกฏหมายหากบังคับใช้จริงจังก็โอเค ตัวบ้านพักก็โอเค การมีเจ้าหน้าที่ก็โอเค แต่ข้ออ่อนคือพนักงานของรัฐมีไม่เพียงพอ มีจำนวนจำกัด ทำให้การคุ้มครองผู้หญิงล่าช้า การปฏิบัติจริงยังไม่ดีในบางพื้นที่ บางหน่วยงานก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย มองว่าเป็นเรื่องผัวเมีย ภายในครอบครัว เป็นทัศนคติของเจ้าหน้าที่ พี่ยังไม่พอใจกลไกรัฐยังคงทำงานช้า และไม่ทำงานเชิงรุกด้วย”

 “ควรลงไปสำรวจจริงจังในชุมชน แก้ปัญหาเลยทันทีไม่ต้องรอให้เกิดเหตุ รอสื่อมวลชน แล้วรัฐค่อยลงมือ ควรสำรวจแล้วแก้ไขเลย ก่อนจะนำไปสู่การสูญเสีย ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ คนในครอบครัวเพิ่ม” มุมจากตัวแทนมูลนิธิเพื่อนหญิง

====

โดยสรุป สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง รวมไปถึง Femicide (การฆ่าผู้หญิงเพราะเพศ) ในประเทศไทยต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน เพราะยังขาดองค์ประกอบหลายประการที่จะจัดการปัญหานี้ เช่น ระบบกฎหมายที่ไม่เพียงพอหรือไม่เข้มงวดพอในการป้องกันและลงโทษผู้กระทำ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเรื่องนี้ยังไม่สอดคล้องกับจำนวนเคสที่เกิดขึ้น ทำให้ดูแลจัดการได้ไม่รวดเร็ว การผลักภาระให้เหยื่อต้องกระตือรือร้นวิ่งเต้นเอง ซึ่งต้องใช้แรงกายแรงใจรวมถึงกำลังทรัพย์มาก เป็นต้น

อีกปัญหาสำคัญที่ลึกกว่านั้นคือ แนวคิดชายเป็นใหญ่ หากยังมีการส่งต่อความเชื่อหรือมายาคตินี้และนำมาใช้ระหว่างการดำเนินชีวิตคู่ ก็ยิ่งจะเป็นเชื้อมูลส่งเสริมความรุนแรง

ข่าวการฆาตกรรมผู้หญิงที่เราเห็นกันบ่อยครั้ง ไม่ใช่เพียงเรื่องผัวเมียหรือเรื่องภายในครอบครัว หากแต่มีมิติทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากทัศนคติของสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างคู่ มันจึงเป็นความรุนแรงที่มีความซับซ้อน รัฐบาลใหม่ที่มีแนวโน้มเข้าใจความซับซ้อนนี้ควรต้องเร่งมือในการจัดการปัญหาที่มีอยู่หลายระดับ  

 หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ เรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว

www.เพื่อนครอบครัว.com

@linefamily ของ สค.

@ESSHelpme กดแจ้งเหตุร้าย

ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300

มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร 02-513-2780, 02-513-1001

มูลนิธิผู้หญิง โทร 02-433-5149, 02-435-1246

มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี โทร 1134 หรือ 02-521-9231-2

 

อ้างอิง

https://www.unwomen.org/en/news-stories/feature-story/2022/11/five-essential-facts-to-know-about-femicide

https://eige.europa.eu/publications-resources/thesaurus/terms/1192

https://www.tcijthai.com/news/2022/3/current/12248

https://mirrorthailand.com/culture/100427

https://socadmin.tu.ac.th/uploads/socadmin/file_document/3.1%20ปัญหาความรุนแรงทางเพศ%20บทสะท้อนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ.pdf

https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/103076 

https://www.thairath.co.th/news/politic/2562168

https://www.cepal.org/en/pressreleases/eclac-least-4473-women-were-victims-femicide-latin-america-and-caribbean-2021#:~:text=Topics-,ECLAC%3A%20At%20Least%204%2C473%20Women%20Were%20Victims%20of%20Femicide%20in,and%20the%20Caribbean%20in%202021

https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=66261&filename=foreign_news

https://dvlearning.tijthailand.org/course/1/2/11

https://www.sherothailand.org/post/gender-based-violence-apologists-th


ฐิติรัตน์ พิสุราช : สัมภาษณ์/เรียบเรียง