ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยย้ำไวรัสโควิด-19 อาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ในอนาคต หลังพบการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างหลายประเทศ ขณะที่ประเทศไทยต้องจับตา "นิป้าไวรัส" เพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในอนาคต

เทคนิคการแพทย์หญิงสุภาภรณ์ วัชราพฤกษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า เส้นทางการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 มีต้นกำเนิดจากสัตว์ป่าอย่างค้างคาว และตัวลิ่นจากการตรวจรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่พบในคนตรงกับพันธุกรรมในค้างคาวสูงถึงร้อยละ 96 และพันธุกรรมในตัวลิ่นร้อยละ 90 คาดว่าจุดกำเนิดของไวรัสโควิด-19 อาจจะมีต้นกำเนิดมาจากค้างคาวเหมือนเชื้อไวรัสโคโรน่าชนิดอื่นๆ ที่มาจากค้างคาวเช่นกัน ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุรูปแบบการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนว่ามาในรูปแบบใด

เทคนิคการแพทย์หญิงสุภาภรณ์ กล่าวว่า ขณะที่การเทียบเคียงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความใกล้เคียงกับการระบาดของไข้หวัด 2009 ซึ่งการแพร่ระบาดในระยะแรกอาจจะส่งผลกระทบทำให้มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากเป็นไวรัสชนิดใหม่และมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอจึงทำให้ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ ซึ่งไวรัสชนิดดังกล่าวยังสามารถอยู่ได้นานในสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้เกิดการระบาดได้สูงในประเทศเขตเมืองหนาวมากกว่าเขตเมืองร้อน ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าไวรัสโควิด-19 อาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ในอนาคต เนื่องจากมีการแพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ หากพบตัวกำเนิดเชื้อไวรัสเป็นค้างคาวชนิดเดียวกันอาจต้องศึกษาการดำเนินชีวิตอย่างไรให้สามารถอยู่กับไวรัสชนิดนี้ได้อย่างปลอดภัยได้มากขึ้นในอนาคต

เทคนิคการแพทย์หญิงสุภาภรณ์ กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ไวรัสชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ที่นักวิจัยกำลังดำเนินการศึกษาต่อเนื่องในทุกๆ ปี ซึ่งแต่ละปีจะพบไวรัสชนิดใหม่ประมาณ 5 ชนิด โดยก่อนหน้านี้ได้สุ่มตรวจค้างคาว 23 ชนิดในไทยเมื่อปี 2555 พบมีประมาณ 20 ตัวที่มีเชื้อไวรัสโคโรน่า และกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม

ที่สำคัญประเทศไทยต้องจับตาและเฝ้าระวัง "นิป้าไวรัส" ที่เกิดจากค้างคาวแม่ไก่ และค้นพบเมื่อปี 2542 เคยมีการแพร่ระบาดในมาเลเซีย อินเดีย และบังคลาเทศ ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 70-100 แต่พบเชื้อที่มีในค้างคาวแม่ไก่ในไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำจึงยังไม่เป็นอันตรายมากนัก ที่สำคัญการติดต่อจากสัตว์สู่คนเกิดขึ้นจากการไปสัมผัสและบริโภคจึงไม่ได้แพร่ระบาดเหมือนโควิด-19 แต่จำเป็นต้องจับตาและเฝ้าระวังต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในอนาคตด้วย