ไม่พบผลการค้นหา
นักดนตรีสัญจรวัย 58 ปี เล่าเรื่องราวชีวิตริมท้องถนนยามค่ำคืน สร้างมิตรภาพด้วยเสียงเพลงยุค 80s ผ่านช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู วิกฤตการเมือง และโควิด-19

ยามค่ำคืนที่หลายคนเลิกงาน เริ่มแวะหาข้าวเย็นหรือร้านนั่งดื่มก่อนกลับบ้าน เวลางานของ ‘วณิพก’ ผู้หอบหิ้วเครื่องดนตรีไปร้องเพลงสร้างสีสันริมถนนก็เริ่มต้นขึ้น เสียงกีตาร์โปร่งและฮาร์โมนิก้า ประกอบเพลงเย่เลี่ยงไต้เปี่ยว (พระจันทร์แทนใจ) ของเติ้งลี่จวิน ดังขึ้นริมถนนพหลโยธิน ย่านสนามเป้า

แพ็ท – พรพิมล อภิรัฐเมธีกุล วณิพก หรือนักดนตรีสัญจร วัย 58 ปี เล่าให้วอยซ์ ออนไลน์ฟังถึงชีวิตที่เริ่มต้นจากครอบครัวลูกคนจีนย่านนางลิ้นจี่ ทำอาชีพครูสอน Roller Skate เป็นเวลา 5 ปีจนวันหนึ่งโรงเรียนสอนปิดกิจการ ไม่มีที่ไหนเปิดสอน ไม่มีที่เล่น

ในวัย 22 ปี กับกีตาร์หนึ่งตัว เธอตัดสินใจหันมาเล่นกีต้าร์ในผับ บาร์ และโรงแรม แต่ก็มีเหตุการณ์ประหลาดๆ ให้ต้องตกงานอยู่หลายครั้ง เช่น ร้านโดนยกเค้า, เจ้าของร้านหนีไปโดยไม่จ่ายเงินพนักงานแต่เปิดร้านทิ้งไว้ ฯลฯ จนสุดท้ายต้องเลิกเล่นดนตรีหันมาขายของริมถนนสีลมอยู่เกือบปี

ต่อมาได้ไปเจอกับ ‘ไอ้ติงต๊อง’ นักดนตรีวณิพกคนหนึ่ง จำได้ว่าให้เงินไป 20 บาท แต่เขาเล่นไม่ได้เรื่อง เลยขอกีต้าร์มาเล่นเอง จนนักดนตรีคนนั้นชวนไปเล่นดนตรีสัญจรด้วยกัน สุดท้าย ‘ไอ้ติงต๊อง’ คนนั้นก็กลายมาเป็นแฟนกัน และทำอาชีพนี้มาจนถึงทุกวันนี้ รวมเวลากว่า 22 ปี

ป้าวณิพก


ทุกข์และสุขของนักดนตรีสัญจร

แพ็ทเล่าว่าเคยมีความคิดอยากเลิกเป็นวณิพกหลายครั้ง เพราะต้องเจอกับเหตุการณ์แปลกๆ หรือลูกค้าไร้มารยาท จนคิดว่าเวรกรรมอะไรที่ต้องมาทนรองรับอารมณ์ของคนอื่น เพราะความจริงแล้วเป็นคนไม่กินเหล้า แต่อาชีพนี้จำเป็นต้องอยู่กับคนเมาทั้งคืน

คนเมาบางคนก็มีความคิดหรือการกระทำแปลกๆ บ้างให้ร้องเป็น 10 เพลงไม่จ่ายเงินสักบาท บ้างให้ร้องเพลงให้ฟังจนหลับคาโต๊ะ ไม่ได้จ่ายเงินก็มี หนักไปกว่านั้น เคยเจอลูกค้าต่างชาติแก้ผ้าหันก้นให้ดู หรือคนเมามาขยี้หัว ตรงกันข้ามลูกค้าบางคน สนุกสนานมีอารมณ์ร่วมไปกับเราด้วย แต่มากเกินไปก็ไม่ดี เมื่อครั้งหนึ่งเคยร้องเพลง I Will Survive. ลูกค้าชอบมากจนขึ้นไปยืนเต้นแล้วร้องกรี๊ดๆ เจ้าของร้านมาบอกว่าต่อไปไม่ต้องมาเล่นแล้ว เพราะมาทีไรลูกค้าเอะอะเสียงดังมาก หรือบางครั้งก็มีชาวบ้านข้างๆ ร้านไปแจ้งความบอกว่า "นอนไม่หลับเพราะเสียงดัง" ขณะที่เจ้าของร้านบางคนก็พยายามยัดเยียดให้เรากินเหล้า เพราะเขาต้องการเงิน

เจ้าของร้านบางคนไม่เป็นมิตรอย่างรุนแรง เวลาเราเล่นดนตรี ลูกค้าอยากฟัง แต่เจ้าของไม่อยากให้เล่นก็เปิดเพลงเสียงดังใส่ลั่นร้าน เพราะคิดว่าไปรบกวนหรือขอเงินแขก ไม่มองเป็นการใช้ความสามารถ

“บางทีเขาคิดว่าเราไปรบกวนแขก ไปขอตังค์ บางคนเขาไม่ได้คิดว่าเราใช้ความสามารถที่แท้จริง บางทีเดินไป บางคนก็พูดเลยว่ากูเกลียดชิบหาย มาทำอาชีพนี้ แต่พอเขาได้ยินเสียงเราปุ๊บ เขารู้ว่านี่เป็นนักร้องที่มืออาชีพอยู่แล้ว เขาก็มาขอโทษ ขอโทษแล้วก็ให้เงินด้วย อย่างนี้ก็มี” แพ็ท เล่าแบบอมยิ้ม

อย่างไรก็ตามในความเลวร้ายยังมีความดีซ่อนอยู่ แทรกสลับกันไป เพราะการเล่นดนตรีสัญจร ทำให้เธอมีโอกาสได้พบเจอกับมิตรภาพที่ดีอยู่เสมอ

ป้าวณิพก


ถูกปฏิเสธจนชิน - อาชีพนี้ต้องเข้าใจคนฟัง

“คนมองเราแว็บแรกก็มองไม่ดี เจอบ่อย แต่ทำอาชีพนี้มา 22 ปีก็หน้าหนาแล้ว มันชินกับการโดนว่า โดนด่าประจำ บางคนเขาก็มาขอโทษเราทีหลัง บอกว่ารู้แล้วว่าเป็นนักร้องอาชีพจริงๆ”

แพ็ท บอกว่า เป็นธรรมดาที่โดนปฏิเสธ บางคนไม่มีกำลังใจจะฟัง ไร้อารมณ์ คืนนึงเราเจอคนหลายอารมณ์ เจออะไรแปลกๆ แต่ต้องปรับอารมณ์ให้ทัน บางทีลูกค้าโต๊ะหนึ่งทำให้โมโหสุดๆ แต่โต๊ะต่อไปหน้าตายิ้มแย้มสนุุกสนาน

เรื่องความถี่ก็สำคัญมาก ใครเจอเราบ่อยๆ จะรู้สึกซ้ำซาก ต้องใช้วิธีเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ไม่ซ้ำจำเจ เพราะส่วนใหญ่คนกินร้านไหน ก็มักจะไปกินร้านนั้นบ่อยๆ เป็นลูกค้าหน้าเดิม ดังนั้นถ้าเราไปทุกวันเขาก็เบื่อ ต้องเดือนละครั้ง เขาจะรู้สึกตื่นเต้น

แพ็ทมักจะเล่นเพลงยุค 80-90s ทั้งไทย จีน และสากล ลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้กันว่าเธอชอบเล่นเพลงเก่า แต่เธอบอกว่า ชอบเล่นเพลงโรแมนติก โดยนิสัยคนไทยชอบเพลงช้า และมักจะเป็นเพลงเศร้า อกหัก แต่ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีหลังวิกฤตการเมืองปี 2549 คนมักจะขอเพลงที่ให้กำลังใจหรือมิตรภาพ เช่น เก็บตะวัน ทะเลใจ หรือขอเพียงกำลังใจ โดยเพลงที่เล่นบ่อยที่สุดและคนไม่เบื่อ คือ เก็บตะวัน

ป้าวณิพก


วณิพกเคยเป็นที่นิยม แต่หากินยากเพราะพิษการเมือง

แพ็ท เล่าว่า ช่วงแรกที่ทำอาชีพนี้ได้รับการต้อนรับดี เพราะเป็นของแปลกใหม่ในสังคมไทย คนเป็นวณิพกยังน้อย ยิ่งเป็นผู้หญิงแทบจะไม่มี ยังไม่เฝือเหมือนในปัจจุบัน ตอนนี้คนตกงานเยอะ หันมาทำอาชีพนี้เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งนักดนตรีมืออาชีพก็ต้องมาทำงานนี้ แต่หลายคนจะไม่กล้าเดินร้องเพลงตามร้านเพราะต้องง้อคนฟัง เลยเลือกจะหาจุดเปิดหมวกแทน

แพ็ทเริ่มเป็นนักดนตรีสัญจรจริงๆ ตั้งแต่ปี 2541 ช่วง 5 ปีแรกจะได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะช่วงรัฐบาล ชวน หลีกภัย และ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เธอบอกว่าช่วงที่เศรษฐกิจดีเคยได้รับเงินจากลูกค้าครั้งละพัน แถมยังสนุกสนานอยากร้อง อยากเต้น อยากแสดงออก มีอารมณ์ร่วม คืนนึงเดินทางไปไม่ต่ำกว่า 5 ที่ ส่วนใหญ่จะเป็นร้านข้าวต้มย่านสนามเป้า โรงปูน ประชาชื่น ปดิพัทธ์ สุขุมวิท ยิ่งถ้าเป็นโซนลูกค้าต่างชาติก็จะสนุกสุดเหวี่ยง ทว่าพอช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 เศรษฐกิจซบเซาเรื่อยมา คนไม่มีเงินออกมากินเที่ยวเหมือนก่อน หรือถ้ามีม็อบลูกค้าก็จะไปม็อบกันหมดไม่ได้มานั่งกินอาหารตามร้าน

“ช่วงเศรษฐกิจดี ลูกค้าก็จะสนุกสนาน ร้องเพลงกรี๊ดกร๊าด แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยมีคน เศรษฐกิจก็ไม่ดี ลูกค้าจิตใจหดหู่ ไม่อยากเที่ยว”

ที่แย่สุดคือช่วงโควิด-19 บางร้านไม่มีลูกค้ากินแม้แต่คนเดียว เดินไป 3 ร้านไม่มีคนเลยสักร้าน เราเองก็รู้สึกใจหาย ปัจจุบันคืนนึงไปแค่ไม่กี่ร้าน เช่น ร้านเจ๊เลี๊ยบ สนามเป้า, ร้านสมพงษ์ ร้านเจ๊ไข่ ย่านประชาชื่น, ร้านอ้วนผอม เพราะหลายร้านปิดตั้งแต่ 4 ทุ่ม

เมื่อก่อนมีลูกค้าประจำเยอะมากทั้งคนไทยและต่างชาติ จนกระทั่งช่วงปิดประเทศ เธอต้องปรับตัวจากการหาเงินกลางคืน เป็นการตื่นแต่เช้า ออกไปเปิดหมวกหาเงิน 8-9 โมง ได้เงินจากกลุ่มคนออกกำลังกายอยู่บ้าง แต่น้อยหากเทียบกับคนเที่ยวกลางคืน

แพ็ท บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอได้ทำงานประจำเป็นนักร้องที่โรงแรม All Season แต่ทำไปได้เพียงแค่ 7 เดือนก็เจอโควิด-19 ระบาด "ตกงานทันที" และอยู่ระหว่างสู้ชีวิตเดินหน้าพาเสียงเพลงแลกเงินต่อไป