ไม่พบผลการค้นหา
การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในภารกิจกู้ภัยเกิดขึ้นได้ระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุด ทีมนักวิจัยในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดเล็กขึ้น โดยหวังว่าจะใช้สำรวจซอกซอนไปตามพื้นที่ที่คับแคบ ซึ่งนักวิจัยระบุว่า หุ่นยนต์ตัวนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก 'แมลงสาบ'

คณะนักว���จัยจากห้องทดลอง 'หลี่เว่ย หลิน' สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในสหรัฐฯ เผยความคืบหน้าการพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ (prototype) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากแมลงสาบ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปใช้ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว เพราะหุ่นยนต์ดังกล่าวมีขนาดเล็กและบาง สามารถซอกซอนเข้าไปในโพรงหรือช่องขนาดเล็ก จึงคาดว่าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยค้นหาหรือตรวจสอบพื้นที่ประสบภัยต่างๆ เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น

จงจุนเหว่ย หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าว ระบุว่า แมลงสาบเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรากฎตัวอยู่ทุกซอกทุกมุมของบ้าน แม้จะดูน่ารังเกียจ แต่ขณะเดียวกันก็แข็งแรงและมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็ว สามารถนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาหุ่นยนต์ซึ่งถือว่ามีประโยชน์มาก โดยเฉพาะกรณีที่เราต้องการใช้หุ่นยนต์เหล่านี้ในการค้นหาอะไรบางอย่าง 

  • วิดีโอแนะนำหุ่นยนต์กู้ภัยที่ได้แรงบันดาลใจจาก 'แมลงสาบ' จากเว็บไซต์ UC Berkeley

หุ่นยนต์แมลงสาบนี้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร และหนักเพียง 0.07 กรัม ขับเคลื่อนด้วยซี่โลหะเล็กๆ ที่ติดอยู่ด้านหน้าและหลัง จึงเปรียบได้กับขาของแมลงสาบ ทั้งยังสามารถรับน้ำหนักวัตถุได้ประมาณ 60 กิโลกรัม

นักวิจัยทดสอบความทนทานด้วยการเหยียบหุ่นยนต์ซ้ำๆ กันหลายครั้ง โดยใช้น้ำหนักที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงการกระทืบอย่างรุนแรง พบว่าหุ่นยนต์ยังสามารถเคลื่อนไหวต่อไปได้ แม้ว่าความเร็วจะลดลงจากปกติประมาณครึ่งหนึ่ง แต่หุ่นยนต์จะพังถ้าหากถูกเหยียบและขยี้กับพื้น 

ทิม เฮลพ์ส นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสทอลของสหราชอาณาจักร หนึ่งในผู้เข้าร่วมทดสอบหุ่นยนต์ดังกล่าว เปิดเผยว่า ประเด็นที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม คือ ระบบควบคุมทิศทางของหุ่นยนต์ให้มีความแม่นยำกว่าเดิม โดยเขาระบุด้วยว่า นอกจากการค้นหาในพื้นที่ประสบภัยแล้ว หุ่นยนต์แมลงสาบอาจถูกนำไปใช้ในการตรวจสอบระบบท่อหรือสายส่งต่างๆ ในอุตสาหกรรมได้ด้วย

ruptly-หุ่นยนต์กู้ภัยที่ได้แรงบันดาลใจจากแมลงสาบ-Linwei Li-UCBerkeley

ที่มา: New Scientist/ Ruptly/ UC Berkeley